xs
xsm
sm
md
lg

ขอหมายจับ “วีระ สมความคิด” อย่าใช้อำนาจจนขาดความยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

กรณีศาลออกหมายจับ นายวีระ สมความคิด และนายวีระได้เข้ามอบตัวแล้วนั้นมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ผมคิดว่าเรามาลองพิจารณาเรื่องนี้โดยตัดความชอบหรือไม่ชอบนายวีระออกไป เพื่อหาบรรทัดฐานของกฎหมาย

อย่าลืมว่าบรรทัดฐานของกฎหมายนี่แหละที่ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในประเด็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย จนกลายเป็นประเด็นหนึ่งในวงหารือของ ป.ย.ป.ที่เรียกตัวแทนพรรคการเมืองและกลุ่มต่างเข้าหารือ

นายวีระถูกออกหมายจับในข้อหานำเข้าข้อมูลสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอม ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

พนักงานสอบสวนอ้างว่าเฟซบุ๊ก ชื่อ “วีระ สมความคิด” ได้โพสต์ทำโพลล์ 8 ข้อที่อ้างว่าเป็นการทำโพลล์เพื่อวัดว่าประชาชนเชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีหรือไม่ ก่อนจะสรุปผลโพลล์จากจำนวนผู้เข้ามาตอบในเฟซบุ๊กดังกล่าว ทำนองว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี จากนั้นนำไปโพสต์แสดงผลโพลล์ที่หน้าเฟซบุ๊กเพจ ชื่อ “Veera Somkwamkid” โดยจากการตรวจสอบทั้ง 2 เฟซบุ๊กเป็นของนายวีระ โดยนายวีระนั้นถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) จึงทำให้เป็นที่รู้จัก จึงอาจทำให้ผู้ที่เห็นข้อความเหล่านั้นหลงเชื่อได้ จนสร้างความสับสน เกิดความเสียหายต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้ ประกอบกับการจัดทำโพลล์ดังกล่าวนั้นก็เป็นเพียงการจัดทำความเห็นกับกลุ่มคนเพียงกลุ่มเดียว ดังนั้น ผลจึงอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง

ทางพนักงานสอบสวนจึงรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดก่อนขอศาลออกหมายจับในที่สุด

ผมเข้าไปดูข้อความในโพลล์ของนายวีระแล้ว โพล 8 ข้อที่นายวีระเลือกนั้น ข้อ1-7 ถ้าคนเข้ามาแสดงว่าเห็นเลือก 7 ข้อนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลทั้งสิ้น

นายวีระได้โพสต์ข้อความว่า ข้อใดถูกต้อง 1.ทำตามสัญญา 2.ขอเวลาอีกไม่นาน 3.แผ่นดินงดงามจะกลับคืนมา 4.เราจะทำอย่างซื่อตรง 5.ขอแค่เธอจงไว้ใจและศรัทธา 6.แผ่นดินจะดีในไม่ช้า 7.จะคืนความสุขให้เธอประชาชน 8.ผิดทุกข้อ

จะเห็นได้ว่า มันเป็นมุกตลกที่นายวีระหยิบมาเล่น แต่ถ้านี่เป็นโพลล์ก็ต้องถือว่าโพลล์ของนายวีระไม่เป็นกลางเลย เพราะมี 7 ข้อที่เอนเอียงไปข้างรัฐบาล มีเพียงข้อ 8 ข้อเดียวเท่านั้นที่ถ้ามีคนตอบแล้วรัฐบาลจะไม่ได้ประโยชน์ แต่เมื่อเข้าไปอ่านแล้วมีความเข้ามาแสดงความเห็น 100 กว่าความเห็นส่วนใหญ่เลือกข้อ 8 แล้วนายวีระมาสรุปว่า คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ถามว่า “คนส่วนใหญ่” คือใคร คำตอบก็คือคนส่วนใหญ่ที่เข้าไปแสดงความเห็นในเฟซบุ๊กของนายวีระนั่นเอง

แล้วถามว่าความเห็นนั้นเป็นความเห็นของคนกลุ่มเดียวได้ไหม คำตอบก็คงได้ครับ แต่ความเห็นของคนกลุ่มเดียวมีความผิดหรือ ก็ยังไม่เห็นนะว่าจะผิดอย่างไร ถามว่าโพลล์ที่ทำกันโดยทั่วไปของสำนัดโพลล์ต่างๆ นั้นเป็นเสียงส่วนน้อยไหม คำตอบก็คือทุกโพลล์ที่ทำในประเทศนี้ก็เป็นเสียงส่วนน้อยทั้งนั้นแหละนอกจากการทำประชามติหรือสำรวจสำมะโนประชากร ถามว่าข้อมูลที่นายวีระเอาไปโพสต์หรือนำสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นเป็นความเท็จหรือ คำตอบก็ไม่น่าจะใช่อีก เพราะใครเข้าไปอ่านก็ปรากฏผลตามนั้นจริง นายวีระเพียงแต่เอาผลนั้นมาสรุปให้ทราบ

ทั้งนี้ ไม่ได้ฟันธงหรือไปตัดสินว่าสิ่งที่นายวีระทำนั้นไม่ผิด แต่เห็นว่ามันเป็นเรื่องเล็กนี่ไม่น่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่เลย

ทีนี้มาดูการที่ศาลออกหมายจับนายวีระ
มาตรา 66 เหตุที่จะออกหมายจับได้มี ดังต่อไปนี้

(1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ

(2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

แน่นอน พนักงานสอบสวนของ ปอท.ก็ไปคงรวบรวมหลักฐานไปยื่นขอออกหมายจับ ทั้งๆที่ความผิดแค่นี้และรู้ว่านายวีระเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงตำรวจน่าจะออกหมายเรียกก่อนก็พอ ถ้านายวีระไม่มาตามหมายเรียกจึงออกอนุมัติหมายจับ แต่ถามว่า ตำรวจไปขอหมายจับเลยได้ไหม ตามกฎหมายก็ได้นั่นแหละ แต่คนที่พิจารณาก็คือศาล

ในมาตรา 66 หลักที่ศาลจะใช้พิจารณามี 2 หลักคือ เหตุหลักและเหตุรอง โดยวงเล็บ 2 นั้นถือเป็นเหตุหลัก และวงเล็บ1ของมาตรา 66 ถือเป็นเหตุรอง หมายความว่า ไม่จำเป็นต้องมีโทษสูงเกิน 3 ปีถ้าเข้าตามวงเล็บ 2 ก็ขอศาลออกหมายจับได้

แต่ลองดูบทบัญญัติในวงเล็บ 2 สิครับเชื่อว่าจะเป็นตามนั้นไหม นายวีระจะหลบหนี ไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานหรือก่ออันตรายประการอื่น แม้ว่าเราไม่รู้หรอกว่าส่วนตัวนายวีระคิดอย่างไรแต่ถ้ามองจากพฤติกรรมของนายวีระในอดีตผมว่าเป็นไปได้ยากมาก เพราะเหตุที่อ้างว่านายวีระเป็นคนที่มีคนรู้จักในสังคมและผมเองก็รู้จักนายวีระเป็นส่วนตัว ทำให้เราสามารถประเมินได้ค่อนข้างมั่นใจว่านายวีระไม่หลบหนีเพราะเหตุแบบนี้แน่

คุกเขมรยังไม่คณนาเลยนายวีระจะหลบหนีเพราะข้อกล่าวหาแค่นี้หรือลองช่วยกันพิจารณาดู

ถามว่า โดยทั่วไปแล้วศาลต้องอนุมัติหมายจับตามคำขอขอพนักงานสอบสวนเสมอไปหรือไม่ คำตอบคือไม่ต้อง ศาลอาจสั่งให้พนักงานสอบสวนกลับไปออกหมายเรียกได้ แต่กรณีนายวีระก็ทราบผลแล้วว่า ศาลอนุมัติหมายจับเลย ซึ่งศาลก็ดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้อำนาจไว้นั่นแหละ

แต่สิ่งที่ควรจะพิจารณาก็คือ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคําสั่งหรือหมายอาญา พ.ศ. 2548 ข้อ 25 เจ้าพนักงานซึ่งจะทําการจับหรือคนนอกเขตศาลอาญาจะร้องขอให้ออกหมายจับหรือหมายค้นต่อศาลอาญาได้ต่อเมื่อเป็นกรณีจําเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งและการร้องขอต่อศาลที่มีเขตอํานาจจะเกิดความล่าช้าเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ผู้จะถูกออกหมายจับกําลังจะหลบหนีหรือสิ่งของที่ต้องการจะหาหรือยึดกําลังจะถูกโยกย้ายหรือถูกทําลาย

เมื่อพนักงานสอบสวนยื่นขอพิจารณาหมายจับมา ศาลย่อมจะต้องใช้ดุลพินิจไม่ได้ทำไปโดยอนุมัติ อย่างที่บอกคือมีทั้งอนุมัติหมายจับและไม่อนุมัติ ต้องไม่ลืมว่าพยานหลักฐานของศาลที่พนักงานสอบสวนยื่นมาพร้อมกันเพื่อขออนุมัติหมายจับนั้นเป็นเพียงพยานหลักฐานเบื้องต้น นั่นแปลว่าศาลต้องใช้การพิจารณาอย่างรอบคอบว่ามีเหตุควรเชื่อมากกว่าหลักฐานที่พนักงานสอบสวนยื่นมาแม้ว่าไม่ถึงขั้นต้องมีน้ำหนักขนาดปราศจากข้อสงสัยก็ตาม

เพราะหลักสำคัญที่จะต้องพิจารณาด้วยก็คือ สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาต้องได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

แต่บทสรุปของกรณีนี้คือศาลท่านมีดุลพินิจให้ออกหมายจับตามคำขอของตำรวจก็ต้องน้อมรับในดุลพินิจของท่าน

ประเด็นที่ต้องพิจารณาก็คือ พนักงานสอบสวนทำไมต้องทำเรื่องแค่นี้ให้เป็นเรื่องยุ่งยากใหญ่โต ต่อไปนี้การทำโพลล์ในเฟซบุ๊กลักษณะเข้าไปขอความเห็นของคนจะเป็นความผิดเช่นนั้นหรือ หรือจะเป็นความผิดเฉพาะที่มีผลของโพลล์กระทบกับผู้มีอำนาจหรืออำนาจรัฐ ต่อไปนี้ใครที่ทำโพลล์แล้วมาแถลงผลโพลล์ของตัวเองถ้าไม่ตรงกับความต้องการของรัฐจะมีความผิดไหม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่ตามมา

แต่ว่าไปแล้วจะโทษพนักงานสอบสวนก็คงไม่ได้ เพราะไม่มีใครเชื่อหรอกว่าพนักงานสอบสวนกระทำไปโดยพลการ

เอาเถอะแม้เราพิจารณาแล้วไม่เข้าใจว่ากรณีของนายวีระจะเข้าข่ายความผิดไปได้อย่างไรถ้าดูตามหลักฐานที่เราเห็นอยู่ แต่พนักงานสอบสวนเขาอาจมีข้อมูลและหลักฐานที่มากกว่านี้ แต่คำถามว่า เรื่องแค่นี้ทำไมถึงไม่ออกหมายเรียกเสียก่อนทำไมต้องไปขอหมายจับเลย

แน่นอนรัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปไตยอยู่แล้ว อาจจะอ่อนไหวกับเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือถูกกล่าวหามากกว่าปกติ แต่ถ้ามันถูกนำส่งเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม สิ่งที่คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมต้องยึดมั่นก็คือ ความยุติธรรมนั่นเอง

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น