xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อสังคมวิกฤตศรัทธาต่อสื่อ คือโอกาสของอำนาจที่ฉ้อฉล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ถ้าเราย้อนกลับไปที่ปี 2540 ที่เรากำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ข้อเสนอสำคัญสำหรับองค์กรวิชาชีพสื่อคือ มีองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับโดยมีเป้าหมายคือ กลั่นกรองคนในวิชาชีพที่มีพฤติกรรมนอกลู่นอกทาง แต่ถูกคนในวิชาชีพสื่อต่อต้านอย่างรุนแรงโดยอ้างว่าจะถูกรัฐเข้ามาแทรกแซง

วลีสำคัญที่สื่อหยิบยกขึ้นมาป้องกันตัวก็คือ “สื่อจะตรวจสอบกันเอง”

ผมพูดตั้งแต่วันนั้นแล้วว่า เป็นไปไม่ได้หรอกที่สื่อจะตรวจสอบกันเอง เพราะพิสูจน์มาแล้วในอดีตว่า “แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน” สุดท้ายแล้วองค์กรสื่อที่ไม่มีกฎหมายรองรับจะเป็นแค่ “เสือกระดาษ” และ 20 ปีมานี้ก็พิสูจน์แล้วว่า เราไม่ได้เป็นแค่ “เสือกระดาษ” แต่เราเป็น “เสือกระดาษทิชชู่”

วันนั้นอำนาจต่อรองของประชาชนมีสูง เพราะเรากำลังร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน ผมบอกว่า ถ้ากลัวว่ารัฐจะแทรกแซงเราสามารถกำหนดได้ว่าที่มาของกรรมการมาจากไหน เพียงแต่หลักการสำคัญของสภาวิชาชีพสื่อคือต้องมีสภาพกฎหมายบังคับ เพราะเมื่อมีเรื่องร้องเรียนคนในวิชาชีพสื่อ กรรมการที่สอบสวนก็จะมีอำนาจเรียกคนมาสอบสวนได้ โอเคล่ะไม่ต้องมีบทลงโทษหรอก เพราะโทษสำคัญถ้าคนนั้นทำผิดก็ขับออกจากวิชาชีพ ผู้เสียหายก็ดำเนินคดีกับสื่อที่ละเมิดด้วยกฎหมายอาญาและแพ่งไป

แต่วันนั้นเราปฏิเสธสภาวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ ถึงวันนี้เราก็พิสูจน์แล้วว่า การตรวจสอบกันเองทำไม่ได้จริง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบใครไม่ได้เลย ยกตัวอย่างเรื่องที่มีการกล่าวหาว่ารับเงินนักการเมือง แต่สภาการหนังสือพิมพ์สอบสวนได้ไหมครับ คำตอบไม่ได้ เพราะคนถูกสอบก็ประกาศลาออกไม่ให้ความร่วมมือ แถมใช้สื่อของตัวเองขุดคุ้ยโจมตีกรรมการที่สอบสวน จนกรรมการต้องไปพึ่งศาลฟ้องร้องเอาผิด สุดท้ายสื่อก็ต้องขอขมา

แล้วที่ตลกกว่านั้นคือ ไม่นานสภาการหนังสือพิมพ์ก็พากันไปเอาใจสมาชิกที่ลาออกเพื่อเว้าวอนขอให้เขากลับมาเป็นสมาชิก คล้ายกับเด็กเล่นขายของ หรือเป็นเรื่องของเด็กๆทะเลาะกัน แล้ววันหนึ่งบอกว่าเรามาคืนดีกันกลับมาเป็นเพื่อนกัน เรื่องเก่าถือว่าลืมๆไปก็แล้วกัน กลายเป็นเรื่องของการลูบหน้าปะจมูก

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวว่าสื่อใหญ่ๆ หลายคนรับเงินเดือนจากบริษัทเอกชน สภาการหนังสือพิมพ์ตั้งกรรมการสอบ แต่ไม่มีใครให้ความร่วมมือ แถมใช้พื้นที่สื่อของตัวเองด่าสภาการหนังสือพิมพ์ กูไม่ไปไม่ให้ความร่วมมือมีอำนาจอะไรมาเรียกสอบ สุดท้ายสภาการก็ต้องสรุปว่ายุติการสอบสวนเพราะผู้ถูกกล่าวหาไม่ให้ความร่วมมือ
นี่ไงครับที่สังคมเขาไว้วางใจสื่อไม่ได้ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้วองค์กรสื่อที่อ้างว่ามีจรรยาบรรณของวิชาชีพคอยกำกับนั้นไม่ได้มีระบบคัดกรองอะไรเลยที่จะป้องกันคนไม่ดีเข้ามา และเมื่อเข้ามาแล้วเมื่อเกิดคนไม่ดีก็ไม่สามารถตรวจสอบกันได้

ทีนี้ถามว่า เมื่อถามว่าคนทั่วไปที่เขาถูกสื่อกล่าวหาใส่ความที่เป็นเท็จเขาพึ่งพาองค์กรสื่อไม่ได้แล้วเขาจะพึ่งพาใคร โอเคล่ะสื่อก็อ้างว่า ก็มีกฎหมายอื่นบังคับใช้อยู่แล้ว ทั้งกฎหมายแพ่งและอาญา แถมด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่กว่าความยุติธรรมจะปรากฏความเสียหายของเขาก็เกิดขึ้นจนยากจะเยี่ยวยาแล้ว

จริงอยู่สังคมสื่อก็เหมือนกันสังคมในทุกวิชาชีพที่มีทั้งคนดีและคนเลว แน่นอนคนเลวนั้นเป็นคนส่วนน้อย แต่พอสังคมเขาถามถึงระบบที่จะตรวจสอบกัน เราบอกจะตรวจสอบกันเอง แต่เอาเข้าจริงๆ เรากลับอ้างว่ามีกฎหมายทั่วไปอยู่แล้วคุณก็ไปฟ้องศาลเอาสิ

พฤติกรรมเหล่านี้แหละครับที่มันสั่งสมกับสังคมเรื่อยๆ จนเขาเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อวิชาชีพสื่อ คนดีๆ คนส่วนมากในวิชาชีพสื่อก็พลอยเสียไปด้วย พูดกันตรงๆ เลยนะครับว่า วันนี้วิกฤตศรัทธาต่อสังคมระหว่างอาชีพนักการเมือง ตำรวจ และสื่อนั้นไม่รู้ใครมากน้อยกว่ากัน

ทุกวันนี้องค์กรวิชาชีพสื่อเต็มไปหมดตามแต่ใครจะตั้งขึ้นมา บางองค์กรพูดกันตรงๆ กลายเป็นแหล่งหาประโยชน์ บางคนใช้เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์จากการแจกรางวัลต่างๆ เรื่องเหล่านี้คนในวิชาชีพสื่อรู้กันไหม รู้กันมานานแล้วครับ แต่สื่อทำอะไรไหมไม่ทำ แต่อ้างตลอดเวลาว่าสื่อต้องคอยตรวจสอบความไม่ถูกต้องของสังคม ดังนั้นสื่อต้องมีเสรีภาพ ขณะเดียวกันการเอาเสรีภาพของสื่อไปหาประโยชน์กลับถูกละเลยจากคนในวิชาชีพสื่อ

พอวันนี้พฤติกรรมที่สื่อกระทำจนเกิดความสุกงอมมันก็เลยกลายเป็นเชื้อไฟให้อำนาจรัฐที่ต้องการปิดปากสื่ออยู่แล้วฉวยโอกาสนี้เข้ามาจัดการองค์กรสื่อ จนเลยไกลกลายเป็นจะจับสื่อตีทะเบียนใครจะเป็นสื่อต้องมีใบอนุญาตที่ออกให้โดยหน่วยงานที่มีอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้สื่อจะโวยวายว่า “เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน” แต่มีเสียงประชาชนมาหนุนช่วยไหม ก็อาจจะมีนะครับแต่น้อยมาก ผมเห็นการเปลี่ยนโปร์ไฟล์เพื่อต่อต้านการตีทะเบียนสื่อส่วนใหญ่แล้วเป็นคนในวิชาชีพสื่อเอง คนนอกน้อยมาก และเมื่อเทียบกับพลเมืองเฟซบุ๊คในไทย 26 ล้านคนก็เป็นเพียงแค่หยดน้ำในมหาสมุทรก็ ว่าได้

ก็เพราะอะไรละครับ เพราะเขาเห็นด้วยกับการตีตรวนสื่อไงครับ เขาไม่สนใจว่าถ้าไม่มีสื่อใครจะตรวจสอบนักการเมืองที่คอร์รัปชั่น ใครจะตรวจสอบข้าราชการที่ขี้โกง ใครจะตรวจสอบอำนาจรัฐที่ฉ้อฉล เพราะเขามุ่งเป้าไปที่ตรวจสอบการทำงานของสื่อมวลชนไงครับ

วันนี้สังคมเขาตั้งคำถามเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมจากสื่อครับ

เรารู้กันอยู่แล้วว่า ภูมิทัศน์ของสื่อเปลี่ยนไป วิชาชีพสื่อไม่ใช่อาชีพเฉพาะของคนกลุ่มหนึ่งที่สังคมเขาตั้งให้เป็น “ฐานันดรสี่” อีกต่อไป วันนี้ใครก็เป็นสื่อได้ เขามีเฟซบุ๊กเขาก็สามารถสร้างกระแสร้องทุกข์ต่อสังคมได้ ตรวจสอบนักการเมืองได้ ใครต่อใครตั้งตนเป็นองค์กรตรวจสอบสังคมขึ้นมาเต็มไปหมด จนเกิด “สื่อสมัครเล่น” ขึ้นมากมายเป็นฮีโร่ของสังคม บางเพจมีคนติดตามหลายแสนคนพอกับยอดคนติดตามของสำนักข่าวหลักหรือมากกว่าสำนักข่าวหลักหลายสำนัก แต่สื่ออาชีพก็ยังอหังการ์มมังการในอาชีพของตัวเองเป็นเขตหวงห้ามที่คนนอกเข้ามาแตะต้อง

โอเคละครับสื่ออาชีพอาจพูดว่า คอนเทนต์เป็นพระเจ้า อาจจะเชื่อว่าตัวเองมีความช่ำชองมากกว่า แต่พฤติกรรมเสพสื่อของคนในสังคมวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว เขาติดตามความเคลี่อนไหวในกระแสโซเชียลเป็นหลัก จับประเด็นง่ายๆ ไม่ได้เลือกแล้วว่า คุณเป็นสื่อสำนักไหนหรือแบรนด์อะไร

สิ่งสำคัญคือ วันนี้สังคมเขาถามว่าสื่อจะตรวจสอบกันเองอย่างไร ไม่ใช่สื่อเอาแต่สร้างเกราะป้องกันตัวไม่ให้มีการตรวจสอบตัวเองโดยอ้างเอาแต่ว่าเพราะตัวเองเป็นองค์กรที่ต้องตรวจสอบคนอื่นเป็นกระบอกเสียงของสังคมจึงต้องมีอิสระ ถามว่าสื่อมวลชนไปเอาอภิสิทธิ์พิเศษนี้มาจากไหน

ขณะเดียวสังคมเองก็ต้องยอมรับว่า วิกฤตสื่อในปัจจุบันไม่ได้เกิดจากพฤติการณ์ที่ไม่ดีของสื่อบางคนเพียงอย่างเดียว กระแสการเมืองที่เชี่ยวกรากและอารมณ์ของสังคมก็ทำให้สื่อกลายเป็นอาชีพที่ต้องรองรับอารมณ์ของสังคมด้วย ถ้าสื่อไหนตรวจสอบรัฐบาลที่เราชอบก็จะกลายเป็นสื่อที่ไม่ดี คนที่ชอบรัฐบาลทหารก็จะเกลียดสื่อที่ตรวจสอบรัฐบาลทหาร ผมคิดว่าคนในสังคมก็ต้องยอมรับว่ามันมีอคติต่อสื่อที่มีทัศนคติทางการเมืองไม่ตรงกับตัวเองเจือปนอยู่ด้วย

และทัศนคติที่เป็นลบต่อสื่อทำให้สังคมไม่ได้ใส่ใจว่า วันหนึ่งเมื่อรัฐบาลทรราชที่ไม่มีธรรมาภิบาลมามีอำนาจไม่ใช่รัฐบาลที่เราชื่นชอบ กฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือของทรราชที่จะกลับมาปิดปากตัวเอง

ที่พูดมานี้เพื่อบอกว่าผมไม่ได้เห็นด้วยกับรายละเอียดในร่างกฎหมายของสปท. ผมไม่เห็นด้วยแน่นอนกับการตีทะเบียนสื่อ ผมคิดว่า เพียงแต่องค์กรสื่อรับรองก็เพียงพอแล้ว ผมไม่เห็นด้วยที่อำนาจรัฐจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่กำกับองค์กรวิชาชีพของสื่อ เพราะผมเห็นว่าเพียงแต่เราสร้างกลไกให้ตรวจสอบสื่อที่ประพฤติมิชอบได้จริงก็เพียงพอแล้ว มีมาตรการที่จะขับคนไม่ดีออกจากวิชาชีพสื่อไม่ใช่เป็นเสือกระดาษอย่างที่เป็นอยู่

แน่นอนว่าถ้าสื่อกระแสหลักถูกมัดมือมัดเท้าการแสวงหาประโยชน์ของผู้มีอำนาจก็จะง่ายขึ้น เขาใช้โอกาสที่สังคมกำลังเกิดวิกฤตศรัทธาต่อสื่อมาเป็นประโยชน์ แต่เราจะทำอย่างไรให้สังคมเชื่อมั่นว่า สื่ออาชีพสื่อกระแสหลักยังมีความจำเป็น ยังเป็นองค์กรสำคัญที่จะต่อสู้กับความไม่ถูกต้องชอบธรรมในสังคม ทำอย่างไรให้ความไว้วางใจนั้นกลับคืนมา

ถึงตอนนี้ยังมีเวลาเพราะกฎหมายฉบับนี้ยังต้องเข้าสู่การพิจารณาของสนช. ยังมีอีกหลายขั้นตอน แทนที่สื่อจะตะโกนว่าอย่างละเมิดเสรีภาพสื่อแต่ไม่สนใจกระแสความรู้สึกของสังคม สื่อช่วยตอบสังคมให้ได้ว่าเราจะตรวจสอบดูแลกันเองได้จริงอย่างไร เราจะเอาคนไม่ดีออกไปจากวิชาชีพนี้ได้อย่างไร

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น