xs
xsm
sm
md
lg

“อุเทน” ฉะ "ลิ่วล้อ คสช." วางกับดัก-ผูกปมเตะถ่วง กม.ลูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกระบวนการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองหลายฉบับที่อยู่ในชั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า เท่าที่ได้ติดตามความคืบหน้าตั้งแต่เมื่อครั้ง กรธ.เข้ามาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ ต่อเนื่องถึงการทำประชามติ จนรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ เห็นได้ว่ามีความพยายามของผู้ที่เกี่ยวข้องพยายามทำให้กระบวนการล่าช้า มีข้อติดขัดอยู่ตลอด ทั้งรัฐธรรมนูญใหม่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯพระราชทานตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 เม.ย.60 ผ่านมากว่า 60 วันหรือ 2 เดือน ก็ยังไม่มีร่าง พ.ร.ป.ฉบับใดใกล้เคียงที่จะสามารถประกาศใช้ได้เลย ทั้งที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ผู้รับผิดชอบหลักก็อ้างมาตลอดว่าได้มีการจัดทำร่าง พ.ร.ป.คู่ขนานมาโดยตลอด อย่างตอนนี้ก็กลับมาเถียงกันเรื่องร่าง พ.ร.ป.เกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในประเด็นที่ว่าจะเซตซีโร่กรรมการ กกต.ชุดเดิมหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดถึงและมีผู้เสนอมานาน แต่ทาง กรธ.ก็ปฏิเสธมาโดยตลอด ที่สุดก็ใช้ช่องทางใน สนช.เสนอขึ้นมาอีก เหมือนพยายามทำให้เกิดความเห็นที่ไม่ตรงกัน ส่งผลให้การทำงานล่าช้าออกไป ซึ่งก็เป็นผลมาจากการวางกับดักและผูกปมปัญหาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการสืบทอดอำนาจนั่นเอง
“เชื่อว่ากฎหมายลูกทุกฉบับหลังจากนี้ก็จะมีปัญหาความเห็นต่าง และโยนหินถามทางออกมาในลักษณะเดียวกันนี้โดยตลอด เพื่อให้เกิดความขัดแย้ง เพื่อยื้อเวลาและทอดกระบวนการออกมาจนถึงที่สุด ทั้งที่หลายกระบวนการก็ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาจนครบตามที่กำหนดไว้ จึงอยากเตือนผู้ที่เกี่ยวข้องว่า อย่าเห็นประเทศเป็นของเล่น หรือหนูทดลอง ควรเอาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง อย่างที่ เที่ยวโพนทะนาเอาไว้บ้าง” นายอุเทน กล่าว
นายอุเทน กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวแล้วไม่ได้ห่วงว่าจะมีการเซตซีโร่ กกต. องค์กรอิสระ ตลอดจนการเซตซีโร่พรรคการเมืองอย่างที่มีการคาดกันว่าจะถูกบรรจุใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง หากแต่ห่วงว่าหลังการเซตซีโร่ภาคส่วนต่างๆแล้ว กระบวนการสรรหาภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ก็เอื้อให้มีการครอบงำองค์กรอิสระต่างๆได้อย่างง่ายดาย โดยเฉพาะ กกต. หรือศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นกลไกชี้เป็นชี้ตายพรรคการเมืองและนักการเมืองในการเลือกตั้ง ซึ่งหากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยากตีกรอบและกำหนดเกมการเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการและควบคุมได้ ก็ควรใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่อยู่ในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญใหม่ มีคำสั่งออกแบบหน้าตาของการเมืองไทยอย่างที่ต้องการ หรือหากไม่ต้องการให้บุคคล กลุ่มบุคคลใดลงเลือกตั้ง ก็สามารถประกาศยุบพรรค หรือห้ามให้คนไหนเลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไปได้เลย ไม่ต้องมาเสียเวลาโยนหินถามทาง ตั้ง 4 คำถามให้ประชาชนตอบ ทั้งที่ตัวเองมีคำตอบที่ถูกใจอยู่แล้วเช่นนี้ เพราะสังคมก็มองออกว่าเป็นการซื้อเวลา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ทั้งที่ประชาชนเองก็ต้องการให้ประเทศเข้าสู่การเลือกตั้ง หรือมีรัฐบาลที่มาจากกลไกปกติ แม้ว่าจะมีคนใน คสช.เข้ามาร่วมรัฐบาล หรือเป็นนายกฯคนนอกหรือไม่ก็ตาม
นายอุเทน กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาก็ได้เสนอแนะ พร่ำบอก ให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ในหลายๆประเด็น เพราะเชื่อในความมุ่งมั่นตั้งใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการทำเพื่อประเทศชาติ หากแต่การเลือกใช้คนทำงานของ คสช. ที่เป็นคนหน้าเก่าๆชื่อเดิมๆ ที่มีส่วนในการก่อวิกฤตทางการเมืองไทยที่ผ่านมาแทบทั้งสิ้น หลายคนมือไม่ถึง คิดไม่เป็น ทำไม่ได้ และอยากให้นายกฯเข้าไปสอดส่องหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่มีคนในเครือข่าย คสช.เข้าไปบริหารว่าได้มีปัญหาอุปสรรค หรือมีผู้ไปแสวงหาผลประโยชน์อย่างไรหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่า ขณะนี้รัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ประสบปัญหามีผู้ไปเรียกรับผลประโยชน์มากเหลือเกิน ซึ่งหากรัฐบาล คสช.ที่มีอำนาจล้นมือ มีโอกาสและเวลามากกว่าคณะรัฐประหารในอดีต ไม่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริตแสวงหาผลประโยชน์ได้ ก็ย่อมทำให้สังคมแคลงใจในตัว พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่สามารถสร้างชอบธรรมให้เกิดขึ้นได้ ทั้งที่ทุกคนก็เชื่อมั่นในความตั้งใจดีของนายกฯมาโดยตลอดเช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้นายกฯได้แสดงความกล้าหาญในการต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ถูกต้องให้มากกว่าที่ผ่านมา จนทำให้ภารกิจที่ คสช.ได้ประกาศไว้ในเบื้องแรกไม่บรรลุเป้าหมาย ก่อนที่จะถูกตราหน้าว่าเป็นรัฐประหารที่เสียของอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น