xs
xsm
sm
md
lg

จุดเด่นจุดด้อยของการปกครอง 2 ระบอบ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“วโส อิสฺสริยํ โลเก อำนาจยิ่งใหญ่ในโลก” นี่คือพุทธพจน์ซึ่งมีพระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับอำนาจ อันเกิดจากอธิปไตย 3 ประการคือ

1. อัตตาธิปไตย หมายถึงความดีตนเป็นใหญ่ การถือตนเป็นใหญ่ หรือการกระทำด้วยการปรารภตนเป็นประมาณ คำว่า อัตตาหรือตนเป็นภาษามคธ ซึ่งตรงกับคำว่า อาตมันในภาษาสันสกฤต ซึ่งในศาสนาพราหมณ์หมายถึงสิ่งที่ปรมาตมันหรือพระพรหมสร้างขึ้น แต่อัตตาในศาสนาพุทธหมายถึงคนแต่ละคนซึ่งเกิดขึ้นจากการปรุงแต่งของปัจจัย 2 ประการคือ 1. ชายและหญิงซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์สมสู่กันจนฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ 2. มีจุติวิญญาณลงสู่ครรภ์ ด้วยเหตุนี้คนแต่ละคนจึงประกอบด้วย 2 ส่วนหรือ 2 ภาคคือ ส่วนร่างกายเกิดจากพ่อ แม่ เป็นผู้ให้กำเนิด 2. ส่วนจิตใจเกิดจากจุติวิญญาณมาเกิดในร่างใหม่

ในสองภาคนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่า ส่วนของจิตใจมีอำนาจเหนือส่วนร่างกาย ดังจะเห็นได้ในพุทธพจน์ที่ว่าใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธานทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ เป็นต้น ซึ่งเป็นที่มาของคำว่าใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว

ดังนั้น คำว่า อัตตา ในคำว่า อัตตาธิปไตยจึงหมายถึงส่วนใจ ซึ่งทำหน้าที่คิดแล้วสั่งให้ส่วนกายพูดและทำ ด้วยเหตุนี้จึงเปรียบได้กับเผด็จการซึ่งผู้นำในระบอบนี้ยึดถือความคิดของตนเองเป็นใหญ่ และมีกฎหมายรองรับการกระทำอันเกิดจากความคิดของตนเอง

2. โลกาธิปไตย ความมีโลกเป็นใหญ่ การถือโลกเป็นใหญ่ การกระทำด้วยการปรารภความนิยมของโลกเป็นประมาณ คำว่า โลกในทางพุทธศาสนามีความเป็น 2 นัยคือ 1. หมายถึงแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสรรพสัตว์ รวมทั้งคนด้วย และสรรพสิ่ง 2. หมายถึงหมู่สัตว์ซึ่งอาศัยอยู่บนโลกคือแผ่นดิน รวมถึงคนด้วย แต่โลกในคำว่า โลกาธิปไตยหมายถึงกระแสแห่งความนิยมของคน ดังนั้น จึงเปรียบได้กับประชาธิปไตยซึ่งยึดถือความนิยมของคนหมู่มากเป็นใหญ่

3. ธัมมาธิปไตย ความมีธรรมเป็นใหญ่ การถือธรรมเป็นใหญ่ การกระทำด้วยการปรารภความถูกต้องเป็นใหญ่

ส่วนอำนาจตามนัยแห่งวิชาการปกครองเกิดจากเหตุปัจจัย 3 ประการคือ 1. อำนาจเกิดจากเงิน (Money Power) 2. อำนาจเกิดจากตำแหน่งหน้าที่ (Authority Power) 3. อำนาจเกิดจากการอ้างอิงด้วยความเคารพนับถือ (Reference Power)

อำนาจการปกครองแบ่งออกเป็น 2 ระบอบคือ

1. ระบอบเผด็จการได้แก่ การปกครองที่ผู้นำมีอำนาจสั่งการแบบเบ็ดเสร็จแต่เพียงคนเดียว โดยมีกฎหมายรองรับการใช้อำนาจนั้น เช่น รัฐบาลเผด็จการในอดีตภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีมาตรา 17 และรัฐบาลในระบอบเผด็จการในปัจจุบัน ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมาตรา 44 เป็นต้น

ด้วยเหตุที่การปกครองในระบอบนี้ขึ้นอยู่กับการใช้อำนาจของคนเพียงคนเดียว ดังนั้น ความเด็ดขาดรวดเร็วและเป็นธรรมของผู้นำ จึงเป็นจุดเด่นของระบอบนี้

ส่วนจุดด้อยของระบอบนี้ก็คือ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการใช้อำนาจปกครองประเทศ จึงทำให้ไม่มีการถ่วงดุลในการใช้อำนาจ ดังนั้น ถ้าผู้นำเป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนดีแต่ไม่มีศักยภาพในการใช้อำนาจประเทศชาติก็เสียหาย และประชาชนก็ได้รับความเดือดร้อน

2. ระบอบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจและใช้อำนาจผ่านทางผู้แทนหรือ ส.ส.ซึ่งได้รับเลือกจากประชาชน ดังนั้น ถ้าผู้แทนฯ ส่วนใหญ่ที่ได้รับเลือกจากประชาชนเป็นคนมีคุณภาพ และเปี่ยมด้วยคุณธรรม ประชาชนก็ได้รับประโยชน์จากการใช้อำนาจ นี่คือจุดเด่นของการปกครองในระบอบนี้

แต่ถ้าผู้แทนฯ ที่ได้รับเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนฯ ด้อยคุณภาพและขาดคุณธรรม ประเทศชาติก็ได้รับความเสียหาย และประชาชนก็เดือดร้อน นี่คือจุดด้อยของระบอบนี้

ในระยะเวลา 80 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการปกครองเกิดขึ้นทั้งสองระบอบ ดังนั้น คนไทยทุกคนจึงมีประสบการณ์ทางการเมือง เนื่องจากได้เรียนรู้และเข้าใจเกี่ยวกับจุดเด่นและจุดด้อยของการปกครองทั้ง 2 ระบอบนี้ ทั้งนี้เนื่องจากว่ามีเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในปี พ.ศ. 2475 หรือประมาณ 85 ปีมาแล้ว ประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2. จากปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีการปกครองทั้งสองระบอบเกิดขึ้นสลับสับเปลี่ยนกันถึง 20 ครั้ง และครั้งล่าสุดได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และในขณะนี้ประเทศไทยก็ยังอยู่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการอยู่

ดังนั้น ถ้ามีใครสักคนถามการปกครองทั้ง 2 ระบอบอย่างไหนดีกว่ากัน คงจะตอบได้ว่าทั้งสองระบอบต่างก็มีข้อดีและข้อด้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบุคลากรทางการปกครองของแต่ละระบอบ และสภาวะแวดล้อมทางสังคมในแต่ละห้วงเวลามีการปกครองระบบนั้นๆ เกิดขึ้น และดำรงอยู่เป็นสำคัญ แต่ถ้าให้ยกตัวอย่างข้อดีและข้อด้อยของแต่ละระบอบโดยยึดความพึงพอใจ และไม่พึงพอใจของประชาชนก็พอจะอนุมานได้ดังนี้

1. รัฐบาลในระบอบเผด็จการที่ประชาชนยกย่องและกล่าวขวัญถึง เห็นจะได้แก่รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เนื่องจากว่าในยุคนั้นมีการปราบปรามอาชญากรรมอย่างจริงจัง สังคมสงบเรียบร้อย นักเลงหัวไม้อันธพาลกวนเมืองระดับหัวโจกหลายคนได้ถูกจับกุมคุมขังแทบจะไม่มีเหลือให้เห็น ทั้งในด้านการพัฒนาประเทศได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคมนาคม แต่ที่ทุกคนจำได้และประทับใจก็คือความเด็ดขาดในการใช้มาตรา 17 จัดการกับผู้กระทำผิดในคดีร้ายแรง เช่น วางเพลิง และค้ายาเสพติด เป็นต้น พร้อมกับการพูดแบบเสียงดังฟังชัดว่า “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้นำในระบอบเผด็จการทุกคนจะต้องมี”

ส่วนรัฐบาลในระบอบเผด็จการที่ประชาชนไม่พอใจ และขับไล่เห็นจะได้แก่รัฐบาลภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจร

2. รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนยกย่องและกล่าวขวัญถึงเห็นจะได้แก่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ทั้งนี้เนื่องจากมีความซื่อสัตย์สุจริต และแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างมีระบบ

ส่วนรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนไม่พอใจ และขับไล่เห็นจะได้แก่รัฐบาลในระบอบทักษิณ เริ่มตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาจนถึงรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เนื่องจากมีปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน และปล่อยปละละเลยให้มีการจาบจ้วงเบื้องสูง เป็นต้น

ส่วนรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีข้อดีและข้อด้อยใดบ้างนั้น เท่าที่สังเกตด้วยตนเอง และสดับรับฟังจากสื่อมวลชนก็พอจะอนุมานได้ว่า ข้อดียังมองเห็นไม่ชัด เมื่อเทียบกับรัฐบาลเผด็จการด้วยกัน โดยเฉพาะในด้านความเด็ดขาด และรวดเร็วในการแก้ปัญหา แต่ข้อด้อยพอจะมองเห็นจากการใช้มาตรา 44 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของพระธัมมชโยแห่งวัดพระธรรมกาย ซึ่งทำได้ในทำนองเดียวกันกับทำให้ผึ้งงานแตกรังและหนีไปพร้อมกับนางพญา และพร้อมที่จะสร้างรังใหม่เมื่อกลิ่นอายแห่งอำนาจจางหายไป

แต่ก็ยังไม่สงบเกินไปที่จะสร้างจุดเด่นอันเป็นข้อดีด้วยการปฏิรูปประเทศในด้านสำคัญๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น