xs
xsm
sm
md
lg

“เสรี” ย้ำห่วงพรรคใหญ่จับมือส่อเกิดเผด็จการรัฐสภา - ปชป.ยันเป็นเอกภาพกับ กปปส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กมธ.ขับเคลื่อนปฏิรูปการเมือง สปท. ห่วงให้พรรคการเมืองใหญ่จับมือกันอาจเกิดเผด็จการรัฐสภา ชูรัฐธรรมนูญให้ ส.ว.คานอำนาจ ด้านรองหัวหน้าประชาธิปัตย์ ยันพรรคกับ กปปส.เป็นเอกภาพ ขณะที่ “อรรถวิชช์” หนุนจับมือร่วมสู้ระบอบทักษิณ ส่วนตั้งรัฐบาลเป็นอีกเรื่อง

วันนี้ (5 มิ.ย.) นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวถึงแนวคิดของนายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปท.ด้านการเมือง ที่เสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ กปปส. และ คสช.ร่วมกันต้านระบอบทักษิณว่า ปัญหาความแตกแยกที่ผ่านมามาจากการยึดตัวบุคคลและแบ่งฝ่ายกัน แต่การแก้ปัญหาประเทศคือการปฏิรูปการเมือง ตั้งแต่การได้มาซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตลอดจนการใช้และการตรวจสอบอำนาจรัฐ ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นเรื่องสำคัญ โดยเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แต่การจะให้พรรคการเมืองใหญ่จับมือกันอาจจะเกิดผลเสียในทางที่ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจนนำมาซึ่งเผด็จการรัฐสภา

“ถือเป็นแนวคิดของแต่ละคน แต่ส่วนตัวไม่ได้คิดต่อต้านหรือขัดแย้งใคร เพราะพยายามแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองโดยตลอด สุดท้ายการเลือกตั้งประชาชนจะเป็นผู้กำหนด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งตลอดเวลา และไม่เป็นผลดีโดยรวม แต่ก็ย้ำด้วยว่าในรัฐธรรมนูญเอง ก็กำหนดให้ ส.ว.เป็นตัวคานอำนาจที่จะไม่ปล่อยให้ระบบที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดขับเคลื่อนไปด้วยตัวเองทั้งหมด”

ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แต่ละองค์กรพิจารณาดำเนินการ เพราะอาจมีความเห็นร่วมกันบางประเด็น และต่างกันบางประเด็นเช่นกัน ดังนั้น แต่ละองค์กรสามารถดำเนินการในจุดยืนของตนเองที่เป็นอิสระ อะไรที่เห็นพ้องร่วมกันก็ดำเนินการร่วมกัน แต่อะไรที่เห็นต่างกันก็ดำเนินการไปตามจุดยืนแต่ละองค์กร ส่วนระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับ กปปส.ก็มีความเป็นเอกภาพเช่นเดิม เพราะ กปปส.เองก็เป็นสมาชิกพรรคอยู่แล้ว และกลับมาทำงานทางการเมือง

ขณะที่นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ย้ำจุดยืนว่า ประชาธิปัตย์และ กปปส.ที่ต่อต้านระบอบทักษิณเหมือนกัน ส่วน คสช.คิดอย่างไรนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่สามารถตอบแทนได้ ส่วนตัวแล้วก็เห็นด้วยหากจะมีการรวมกันสู้กับระบอบทักษิณ ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะหลักการต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตนในฐานะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันตามหลักการประชาธิปไตยที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่สถานการณ์ในอนาคตหลังผลการเลือกตั้งออกแล้ว นอกจาก ส.ส.แล้วก็มีเงื่อนไขที่ให้ ส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่อาจรู้ได้ว่าเกมการเมืองในขณะนั้นจะมีการเสนอนายกรัฐมนตรีคนนอกมาหรือไม่ เมื่อถึงเวลานั้นพรรคก็ต้องมีการประชุมใหญ่อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น