ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - น่าจะเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ..
กับประเด็น 4 คำถามร้อน ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝากให้ประชาชนร่วมตอบแสดงความคิดเห็นผ่านศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ
โดยคำถามซึ่งน่าจะผ่านการกลั่นกรองจาก “ทีม เสธ.ตึกไทยคู่ฟ้า” มาอย่างดีพอสมควร สังเกตได้จากการร้อยเรียงเป็นชุดคำถามที่ต่อเนื่องกัน กล่าวคือ
1.เลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่
2.หากไม่ได้จะทำอย่างไร
3.การเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตประเทศและเรื่องอื่นๆ นั้น ถูกต้องหรือไม่
และ 4. ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ควรมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่
ฟีดแบคการร่วมตอบคำถามของประชาชนร่วมส่งคำตอบจะเป็นเช่นไรยังไม่ทราบ แต่ก็เป็นชุดคำถามที่ทำให้ “นักการเมือง-นักเลือกตั้ง” อยู่เฉยไม่ได้ ต้องดาหน้าออกถล่มแหลก เช่นเดียวกับสื่อมวลชนที่ต้องการแง้มใจ “นายกฯ ลุงตู่” ถึงเป้าประสงค์ในการยิงคำถามออกมา
โดย “นายกฯประยุทธ์” ก็ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของคำถามในระหว่างไปปาฐกถาพิเศษในหัวข้อการค้าข้าวไทยและทิศทางในอนาคต ที่โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ว่า “...ที่ถามคือต้องการให้ประชาชนได้คิดในสิ่งที่ผมได้ถาม เพราะวันนี้มีการพูดในระดับ ท้องถิ่น ชุมชน และหมู่บ้าน เดินสายพูดอยู่ข้างล่าง บิดเบือนทุกอย่าง โจมตีผมทางสื่อ … เป็นการเดินสายเพื่อดิสเครดิตรัฐบาลทุกเรื่อง เพราะไม่ต้องการให้สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น แต่ต้องการกลับไปที่เดิม มีรัฐธรรมนูญและกฎหมายแบบเดิม แล้วถ้าเกิดปัญหาจะทำอย่างไร จึงขอถามคนไทยว่าต้องการความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากต้องการก็ต้องคิดในสิ่งที่ถามไป ไม่ได้ถามเพื่อตัวเอง...”
จากนั้น “บิ๊กตู่” ก็เลือกเล่นเกม “ตีหัวเข้าบ้าน” งดให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน หลังจากที่ได้เปรยว่า จะเลิกพูดเรื่องการเมืองสัก 2-3 สัปดาห์ ซึ่งก็เป็นไม่กี่ครั้งที่ “พูดจริง-ทำจริง” เพราะหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถัดมาอีกวันเดียว ก็ไม่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างที่เคยปฏิบัติ มีเพียงการเขียนตอบคำถามที่ส่งขึ้นไปด้วยลายมือตัวเองกลับมาเท่านั้น
เหตุที่ทุกฝ่ายต้องการรู้เป้าประสงค์ของ 4 คำถามที่ส่งออกมา ก็เพราะเมื่อถอดรหัสในทางการเมือง ต่างก็ตีความได้ว่า เป็นชุดคำถามที่มุ่งโจมตีไปที่ “นักการเมือง-นักเลือกตั้ง” พร้อมส่งนัยยะกลายๆว่า อาจจะยังไม่ถึงเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง หรือหากเลือกตั้งไปแล้วก็ไม่สมควรให้นักการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ
หรือเหมือนพูดตรงๆ ว่า ให้อำนาจอยู่ในมือ “รัฐบาล คสช.” ดีกว่าไปอยู่กับนักการเมืองที่ไร้ธรรมาภิบาล
ซึ่งแทนที่จะเป็นฝ่ายนักการเมืองที่มาไล่เบี้ยถามหา วัน ว. เวลา น. ของการเลือกตั้ง แต่กลับเป็นฝ่ายรัฐบาล คสช.ที่ชิงจังหวะ โยน “ระเบิดเวลา” ทิ้งไว้ก่อนที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่าง “บิ๊กตู่” จะเลือกที่หลบเข้าหลังฉาก
หรือกระทั่ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ “พี่ใหญ่ คสช.” ก็ป่วยกระเสาะกระแสะอยู่ในสภาพไม่พร้อมที่จะเผชิญเรื่องหนัก
ขณะที่ พี่รอง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็มักไม่ไหวติงกับประเด็นทางการเมือง สมฉายา “เสือเงียบ ฟาดเรียบ” อย่างเสมอต้นเสมอปลาย
น่าสนใจกับจังหวะจะโคนของ “คีย์แมน คสช.” ที่ต่างก็เลือกที่จะไม่ต่อล้อต่อเถียงประเด็นทางการเมืองราวกับนัดแนะกันมา ซึ่งก็ผสมโรงไปกับเหตุการณ์ระเบิดป่วนเมือง ทั้งที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า หรืออีก 2 แห่งก่อนหน้านั้นที่หน้าโรงละครแห่งชาติ และบริเวณกองสลากเก่า ถ.ราชดำเนิน
เจอคำถามที่ตอบไม่ได้ โดยเฉพาะความคืบหน้าของเหตุระเบิด ที่นับวันก็ยิ่งไร้แสงสว่างในการคลี่คลาย สอดคล้องกับกระแสข่าวที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้การนำของ “บิ๊กปู” พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนสอบสวน ต้องเจอ “ตอสีเขียว” กับคิวที่มีฝ่ายทหารปาดหน้าอุ้มหายเทปจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ “ห้องวงษ์สุวรรณ” โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ไปตรวจสอบก่อนที่จะส่งคืนให้ฝ่ายตำรวจ
เป็นพิรุธที่เพิ่มน้ำหนักเรื่อง “คนกันเอง” จัดให้ สร้างสถานการณ์ให้เกิดความไม่สงบขึ้นมา ขณะเดียวกันก็หักล้างน้ำหนักที่เคยเทไปทางกลุ่มการเมืองหัวรุนแรง หรือ “ฮาร์ดคอร์การเมือง” ที่เป็น “จำเลยหมายเลขหนึ่ง” ไปไม่น้อย เพราะหากมีหลักฐานที่เชื่อมโยงกับขั้วตรงข้ามว่าเป็นผู้ก่อเหตุวางระเบิดจริง ฝ่ายรัฐคงไม่ปล่อยให้เรื่องทำท่าจะเงียบไปเช่นนี้
ยิ่งหากมีความเกี่ยวโยงไปถึง “โกตี๋” วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ แกนนำเสื้อแดงปทุมฯ ผู้ต้องหาหลายคดีและกำลังลี้ภัยในต่างประเทศจริง คงเป็นเหตุผลที่น่าจะมีน้ำหนักเพียงพอในการไล่ล่าตัว “โกตี๋” หรือขอความร่วมมือกับประเทศที่เชื่อว่า “โกตี๋” ซุกหัวอยู่ให้จริงจังกว่านี้ แต่ในความเป็นจริงดูทางเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะไม่กระเหี้ยนกระหือรืออยากจะคลี่คลายคดีที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับคนไทยซักเท่าไร
เช่นเดียวกับกรณีที่เกี่ยวกับ “ศัตรูหมายเลขหนึ่ง” อย่าง ทักษิณ ซึ่งมีเดิมพันสำคัญใน “คดีกรุงไทย” ที่มี “โอ๊คอ๊าค” บุตรชายหัวแก้วหัวแหวน เป็นจำเลยสำคัญ ที่มีข่าวหนาหูว่าใกล้ถูกจับคอพาดเขียงอยู่รอมร่อ อาจมีส่วนรู้เห็นกับการวางระเบิดหลายจุดในช่วงนี้
แม้จะเกินเอื้อมในการไล่ล่าตัว “ทักษิณ” กลับมาดำเนินคดี แต่ก็น่าจะไม่เหลือบ่ากว่าแรงในการติดตาม “ลิ่วล้อ” ในระดับปฏิบัติการ ที่เป็นผู้ก่อเหตุ มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จริงอยู่ประจักษ์พยานหรือร่องรอยต่างๆอาจจะมีอยู่น้อย จนสาวไปไม่ถึงผู้ลงมือ แต่ในส่วนของ “วัตถุตั้งต้น” ประกอบระเบิดที่น่าสืบค้นไปถึงต้นตอที่เป็น “ตลาดเฉพาะกลุ่ม” ได้ไม่ยาก กลับนิ่งแบบไม่ไหวติง แม้ฝ่ายตำรวจจะระดมนักสืบ-มือปราบชั้นดีกว่า 200 ชีวิตมาทำคดีนี้ก็ตาม
การปล่อยให้สังคมคาใจ โดยที่ฝ่ายรัฐเหมือนจะไม่พยายามเต็มที่เช่นนี้ ก็ยิ่งทำให้คลายความสงสัยที่มีต่อฝ่ายตรงข้าม ทั้งรายของ “โกตี๋” หรือกระทั่ง “ทักษิณ” เอง ซึ่งก็คงไม่ผิดหากจะเทน้ำหนักความเชื่อมไปที่ “คนกันเองของ คสช.”
เพราะหลังจากเกิดเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นต้นมา ดูเหมือนทุกอย่างจะเข้าทาง “รัฐบาล คสช.” ไปเสียหมด
และกลายเป็นห้วงเวลาเหมาะเจาะ ในการการโยนคำถาม “ระเบิดเวลา” ทิ้งไว้ แล้วการเบี่ยงตัวเข้ามุมหลบกระแสร้อนต่างๆ เพราะเอาเข้าจริงแต่ละเรื่องที่สังคมคาดหวังอยากรู้ รัฐบาล คสช.น่าจะตอบไม่ได้เลย ทั้งเรื่องระเบิดวินาศกรรมหลายจุด เรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ตลอดจนเรื่องการเมือง ที่ท้ายที่สุดก็ต้องวกกลับไปที่คำถามเดิมๆว่า จะมีเลือกตั้งเมื่อไร
จนมีกระแสวิพาษ์วิจารณ์ในทำนอง ใครเป็นคนทำไม่รู้ แต่คนได้ประโยชน์เห็นๆคือ “รัฐบาล คสช.” แม้จะเสียลุคส์ในเรื่องงานด้านความมั่นคง เสียเครดิต “ป๋าป้อม” ในฐานะรองนายกฯฝ่ายความมั่นคงไปบ้าง แต่สิ่งที่ได้มาคือ “สังคมแห่งความหวาดกลัว” ซึ่งต้องมี “ฮีโร่” ผู้พิทักษ์ปกป้อง ซึ่งก็ไม่ใช่ “บิ๊กป้อม” แต่เป็น “ลุงตู่” ผู้เป็นขวัญใจชาวไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งตัว “นายกฯลุงตู่” ก็รับรู้ได้ถึงกระแสนิยมในฐานะ “ฮีโร่” ที่มีให้ตัวเองตั้งแต่เมื่อ 22 พ.ค.57 ซึ่งช่วงหลังอาจจะเรตติ้งตก เสื่อมความนิยมไปบ้าง แต่ก็ยังมี “ติ่งลุงตู่” ที่พร้อมจะสนับสนุนรับบาล คสช.แบบไม่ลืมหูลืมตา สะท้อนจากคำถามของ “บิ๊กตู่” ที่ว่า “...วันหน้าถ้าเกิดปัญหาขึ้นอีกจะเรียกใคร ประยุทธ์ไม่อยู่แล้วจะเรียกใคร แล้วบอกทหารไม่ต้องรัฐประหาร ไม่มีใครอยากจะทำอยู่แล้ว ถ้าพวกคุณไม่สร้างความเสียหายไว้...”
เป็นประโยคเชิงคำถามที่ตอกย้ำความมืดมนของบ้านเมือง ในยามที่พบวิกฤตปัญหา ทางออกที่ดีที่สุดคือ “รัฐประหาร-ยึดอำนาจ” เท่านั้น หรือคำตอบสุดท้ายคือ “รัฐบาลทหาร” นั่นเอง
ถือเป็นน้ำเสียงที่แปร่งออกไปจากเดิมไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้ดูเหมือน “รัฐบาล คสช.” จะมีไฟต์บังคับในการจัดการเลือกตั้งเพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ถึงขนาดเคยเปรียบตัวเป็น “สะพาน” เพื่อส่งต่อให้ประเทศชาติก้าวข้ามผ่านไป มาวันนี้กลับพูดไปในทำนอง “ทอดสะพาน” เพื่อสืบทอดอำนาจมากกว่า
จับสังเกตได้จากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ประกาศใช้มากว่า 2 เดือนแล้ว แต่แนวโน้มการเลือกตั้งดูจะห่างไกลออกไปเรื่อยๆ กฎหมายลูกต่างๆที่เกี่ยวพันกับการเลือกตั้ง ซึ่ง คณะกรรมการร่างรับธรรมนูญ (กรธ.) ผู้รับผิดชอบหลัก เคยคุยฟุ้งว่า มีการร่างคู่ขนานมาอย่างต่อเนื่องก็ยังไม่สามารถตกผลึกหรือประกาศใช้ได้แม้แต่ฉบับเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ยังมาแสดงความไม่มั่นใจในกฎหมาย-กติกาสูงสุดที่ร่างขึ้นมากับมือ แล้วให้น้ำหนักว่า 4 คำถามของ “นายกฯประยุทธ์” น่าจะตอบโจทย์ของประเทศมากกว่า
ขณะเดียวกันก็ยังมีความเคลื่อนไหวของ “8 แกนนำ กปปส.” ภายใต้เงา สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส. ได้ต่อสายหาทางกลับสู่เหย้า คืนรัง “พรรคประชาธิปัตย์” ทั้งที่ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในช่วงการทำประชามติรัฐธรรมนูญใหม่ มีแนวทางที่สวนทางกันอย่างชัดเจน
เหมือนมีความพยายามปัดฝุ่นแผนการยึดพรรค และแปรรูปพรรคประชาธิปัตย์ให้กลายเป็น “พรรคทหาร” อย่างที่เคยถูกจับได้ไล่ทันมาก่อนหน้านี้ หรืออย่างน้อยก็อาจจะหาฐานให้ “นายกฯคนนอก” ที่มาจากการจัดวางของรัฐบาล คสช.ภายหลังการเลือกตั้ง ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องไว้
ดูได้จากอาการไม่ยี่หระในเรื่องตำแหน่งหัวหน้าพรรคที่พร้อมจะสนับสนุน “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เช่นเดิม ซึ่งอ่านได้ว่ากลุ่มก้อน กปปส.ไม่ได้ต้องการกลับพรรค เพื่อมาปั้นให้หัวหน้าพรรคของตัวเองให้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามวิสัยปกติของพรรคการเมือง
เพราะรู้อยู่แล้วว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ก็มีคนตีตราจองไว้อยู่แล้วนั่นเอง
แต่อาจจะกลายเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับ “รัฐบาล คสช.” ที่ขนาดยังไม่ปลดล็อกให้มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่ทำไปทำมา การสร้างความปรองดองของฝ่ายการเมืองอาจจะสำเร็จขึ้นมาเฉยๆ ทั้งการรีเทิร์นคืนถ้ำของ กปปส.ก็ดี หรือท่าทีของ “ลุงกำนันสุเทพ” ที่ไม่เพียงแสดงการสนับสนุนรัฐบาล คสช. ตลอดจน “นายกฯลุงตู่” อย่างออกนอกหน้าแล้ว ก็ยังแอบทอดสะพานไปถึงพรรคเพื่อไทยด้วยว่า อาจมีโอกาสร่วมมือกันได้ หากไม่มีคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร อยู่เบื้องหลัง ทั้งๆที่รู้ว่า “ทักษิณ- เพื่อไทย” นั้นเป็นเนื้อเดียวกันอย่างตัดกันไม่ขาด อาจจะรวมไปถึงหมากการเทกโอเวอร์พรรคชาติไทยพัฒนาของ “ทักษิณ”
ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า วันนี้ฝ่ายการเมืองไม่ว่าจะสายพันธุ์ไหน พร้อมที่จะเกาะกลุ่มรวมตัวกันแล้ว เป็นสูตรเข้าทำนอง “ฝนตกขี้หมูไหล..” หรือเป็นการเมืองแบบ “ขี้ผสมข้าว” ที่กลายเป็นเข้าทาง “รัฐบาลคนดี” อย่าง คสช. ที่พยายามทำให้คนไทยตั้งท่ารังเกียจ “นักการเมือง - นักเลือกตั้ง” มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
ซึ่งก็เท่ากับเพิ่มความสง่างามในการอยู่โยงในอำนาจของ “รัฐบาล คสช.” รวมทั้งการครองตำแหน่งผู้นำประเทศของ “ลูงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบยาวไปๆ ไม่ว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่ก็ตาม.