ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “ขอเป็นเห็บหมา ดีกว่าเป็นขี้ข้าทักษิณ”เสียงเล็ดลอดจากปากขุนพล กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แก๊งนกหวีด ซึ่งเคยยิ่งใหญ่เกรียงไกร
วลีดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการตบเท้าเข้าหารือของคณะแกนนำ กปปส. ที่นำโดย ถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา กับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในห้องประชุมลับ ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา
ประโยคนี้ประโยคเดียว แทบจะบอกคำตอบชัดเจนทุกประการ บนสถานการณ์ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับ กปปส. ยามนี้
เมื่อวงมโหรีปี่กลอง เตรียมบรรเลงอีกครั้ง หลังสัญญาณการเลือกตั้งเริ่มพัดโชยว่าจะเกิดขึ้นในไม่นานนี้ ทุกองคาพยพของนักการเมืองจำเป็นต้องเริ่มเคลื่อนไหวจริงจัง พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นตัวแปรสมการการเมืองที่สำคัญในอนาคต ย่อมต้องถูกจับตาจากทุกคนทุกฝ่ายเป็นอย่างสูง
ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ถูกแบ่งแยกออกไปเป็น กปปส. ก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้ามาควบคุม บริหารประเทศ วันนี้ผ่านล่วงเลยมากว่า 3 ปีแล้ว จำเป็นต้องตัดสินอนาคตของตัวเองกันอีกครั้ง
แกนนำ กปปส. ที่เคยเป็นอดีต ส.ส. เคยเป็นแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ต้องชั่งใจใน 2-3 ทางเลือก ระหว่าง 1. การแยกตัวไปตั้งพรรคใหม่ หรือ 2. หวนกลับคืนสู่รังประชาธิปัตย์ หรือ 3. ยกโขยงไปร่วมกับพรรคการเมืองอื่น
การจะไปเริ่มนับหนึ่งบนกติกาการเมืองตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือแม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ดูเหมือนจะเป็นหนทางที่ดูมืดมน เลือนราง ที่จะก่อร่างสร้างตัวให้ยิ่งใหญ่บนสนามการเมือง เนื่องเพราะปัจจัยหลายอย่างไม่เอื้ออำนวย อีกทั้งฐานการเมืองยังคงผูกไว้อยู่กับพรรคประชาธิปัตย์เดิม
หากลงสนามเลือกตั้งจริงๆ อย่างเก่งก็ได้ส.ส.หลัก 10 จะถึง 30 หรือเปล่า ยังไม่รู้ อำนาจต่อรองในการเมืองครั้งหน้าแทบไม่มี !!
และหากเหลือบมองไปที่อีกทางเลือกหนึ่ง คือยกขบวนไปอยู่กับพรรคอื่นๆ นั่นก็ยิ่งลำบาก เพราะด้วยสภาพการ อุดมการณ์ คงไม่มีที่ไหนเหมาะสม จะไปก็ไปในฐานะขี้ข้าเท่านั้น
ดังนั้น การเลือกเดินทางกลับเข้าสู่อ้อมอกพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะเป็นหนทางที่ดูสดใสกว่าแนวทางอื่นใด กลับมาผนึกให้เป็นปึกแผ่น อย่างน้อยกลับมาเป็นประชาธิปัตย์ดังเดิม ขี้หมูขี้หมา เสียงมาหลัก 100-200 แน่
เงื่อนไขการกลับมาเบื้องต้นจึง วิน วิน ทั้ง 2 ฝ่าย อย่างที่เห็นภาพกัน ไม่มีท่าทีปฏิเสธแยกเขี้ยวใส่กันให้เสียน้ำใจกันตั้งแต่ต้น
แม้ก่อนหน้านี้จะมีการด่าทอกันให้สะดุ้งสะเทือน แต่สุดท้ายก็กากี่นั้ง ตบหัวแล้วลูบหลังอภัยกันได้
กระนั้นก็ดี แก้วที่มันร้าวย่อมยากที่จะผสานเป็นเนื้อเดียว ก่อนหน้านี้มีความพยายามอยู่เนืองๆ จากแกนนำ กปปส. ที่นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และอดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะเข้ามาเทกโอเวอร์ ยึดพรรคประชาธิปัตย์ไปเป็นนั่งร้านให้ คสช. หามเสลี่ยงเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับมาเบิ้ล นั่งเป็นนายกฯ อีกรอบให้ตูดด้าน
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนในพรรคประชาธิปัตย์เดิมยังแข็งแกร่ง ความเป็นสถาบันการเมืองยังมั่นคง ไม่ใช่พรรคกระจอกๆ ที่หมุนตามแรงโน้มถ่วง หรือหมุนตามอำนาจเงิน ดังเช่นพรรคอื่นๆ
ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และบรรดามือเก๋าๆ เขี้ยวลากดิน ยังคอยประคับประคองพรรคเอาไว้อยู่
แผนกลืนพรรคประชาธิปัตย์ของ กปปส. เป็นอันต้องล้มเหลว ยกเลิก เปลี่ยนเป็นยกทัพกลับมาเป็นส่วนร่วมก่อน แผนอื่นค่อยคิดการกันต่อไป
อย่างที่ว่าไป การกลับเข้ามาพรรคประชาธิปัตย์มันไม่สนิทแนบแน่น มีทั้งจุดร่วม จุดต่าง จุดสำคัญในการร่วมกัน นอกจากผนึกกำลังเพิ่มคะแนนเสียง เพิ่มจำนวนส.ส. เพิ่มอำนาจต่อรองแล้ว ยังเพิ่มพลังปัจจัยกองทุนสนับสนุน เพราะชั่วโมงนี้ต้องยอมรับว่า กปปส. มีน้ำหนักภาษีตรงนี้ดีกว่า พรรคประชาธิปัตย์ ที่ยามนี้แห้งเหือด เหี่ยวเฉา โอเอซิสแห่งเดียวอย่าง กทม. ก็โดนตัด โดนตอน อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ใช่ว่าจะเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถูกโปรโมตจากฝ่ายทหาร ก็ต้องไปเอาใจทหารมากหน่อย
แต่จุดขบเหลี่ยม ก็อย่างที่เห็นปัญหาระหองระแหงกันมาบ้าง เรื่องของการทับซ้อนพื้นที่เลือกตั้ง โดยเฉพาะการเมืองท้องถิ่น เล่นกันแรง หักกันหนักอย่างเช่นที่ นครศรีธรรมราช ชุมพร นั่นเป็นต้น ไหนจะเรื่องแย่งชิงการนำ การเสนอชื่อนายกฯ การปรับทิศทางนโยบาย เรื่องของการปฏิรูปพรรค ปฏิรูปประเทศ ที่คุยกันไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ อันจะนำมาสู่ปัญหาใหญ่ภายในอนาคตแน่
จับตาไปที่การเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ การเลือกหัวหน้าพรรค ที่จะเกิดขึ้นปลายปีนี้ให้ดีๆ จะเห็นทิศทางของพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างชัดเจน
ว่ากันด้วยเรื่องหัวหน้าพรรค ชั่วโมงนี้ยังคงต้องใช้บริการ “เดอะมาร์ค”อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปก่อน แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ ชื่อของนายอภิสิทธิ์ อาจไม่ใช่คนที่ถือธงนำพรรคประชาธิปัตย์
กปปส.ไม่เอาอภิสิทธิ์อยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีตัวเลือก คนที่จะลากถูเอามา อย่างเช่น ศุภชัย พานิชภักดิ์ ก็ไม่เอา อาจเพราะความเป็นลูกหม้อ กริ่งเกรงคนภายในอยู่ เข้ามานำทัพอาจทำให้พรรคแตกเป็นเสี่ยงๆ ด้วยสำนึกในข้าวแดงแกงร้อน จึงเลือกที่จะชิ่งออกตัวหนีไปดีกว่า
ดังนั้น กปปส. ก็เปรียบเสมือนเสือซุ่มที่รอจังหวะ ชูผู้นำแล้วชิงการนำ อยู่ตลอด พรรคประชาธิปัตย์เองก็รู้ดี และไม่ไว้วางใจ
อย่างไรก็ตาม คนในพรรคประชาธิปัตย์เองจำนวนไม่น้อย ใจจริงลึกๆ แล้วก็อยากจะทำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดมิติใหม่ๆ เช่นเดียวกัน มองว่า อภิสิทธิ์เป็นของเก่า เริ่มเสื่อมทรุด ถือธงนำแล้วมีแต่ทรงกับทรุด ไม่มีอะไรที่เป็นสินค้าใหม่ไปขายแล้ว เหมือนเป็นสินค้าที่มีตำหนิไปแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีใครที่เปล่งรัศมีออร่า ที่เอ่ยชื่อขึ้นมาแล้วถูกใจ ใช่เลย
สุดท้ายแล้วเมื่อ อภิสิทธิ์ ต้องโดนกระแทกกระทั้น ทั้งซ้าย ทั้งขวา อาจสะบักสะบอมจนไม่เหลือสภาพที่จะได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้นำ ก็คงต้องจำยอมลงจากที่สูง และชื่อที่ดูเหมือนจะต้องเข็นออกมายามที่พรรคเกิดวิกฤติ
หนีไม่พ้น ชวน หลีกภัย ที่วันนี้สุขภาพใจ สุขภาพกาย ยังแข็งแรงดูดีมีจุดขาย
ในช่วงเปลี่ยนผ่านพรรคประชาธิปัตย์ครั้งสำคัญอีกครั้ง จำเป็นต้องได้คนที่มีบารมีแก่กล้ามาประคับประคอง เพื่อสะสางปัญหาปัญหาภายใน และวางรากฐานอนาคตใหม่อีกครั้ง เชื่อว่าวัฒนธรรมการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่แข็งแรงจากภายใน ประสบการณ์ที่โชกโชน สร้างนักการเมืองชื่อดังคับประเทศมาแล้วนักต่อนัก น่าจะลงหลักปักหมุดหมายการเมืองครั้งใหม่ได้อีกครั้ง
แต่จะเป็นความหวังของคนไทยในอนาคตได้อย่างไร หรือไม่นั้น เวลาจะเป็นคำตอบ