xs
xsm
sm
md
lg

“ธาริต” โดนอีก ศาลฎีการับฟ้อง “มาร์ค-เทพเทือก” สรุปสำนวนคดีสลายม็อบ นปช.ปี 53 โดยมิชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


MGR Online - ศาลฎีกามีคำสั่งให้ประทับรับฟ้อง คดี “-อภิสิทธิ์-สุเทพ” ฟ้อง “ธาริต เพ็งดิษฐ์” อดีตอธิบดีดีเอสไอ พ่วงลูกน้องรวม 4 คน ปฏิบัติหน้าที่มิชอบ สรุปสำนวนคดีสลายม็อบ นปช.ปี 53 เหตุพิรุธรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่ออายุให้อยู่ในตำแหน่งเดิมอีก 1 ปี เพื่อสนองนโยบาย

วันนี้ (9 มิ.ย.) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ห้องพิจารณาคดี 910 ศาลนัดฟังคำสั่งศาลฎีกา คดีหมายเลขดำที่ อ.310/2556 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ในฐานะอดีตหัวหน้าชุดคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 157, 200

กรณีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2555 ได้สรุปสำนวนนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ข้อหาก่อให้ผู้อื่นฆ่าและพยายามฆ่าโดยเจตนาและเล็งเห็นผล จากการที่ออกคำสั่ง ศอฉ.ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ซึ่งโจทก์เห็นว่าการแจ้งข้อหาบิดเบือนจากข้อเท็จจริง และดีเอสไอไม่มีอำนาจ ต้องเป็นการวินิจฉัยของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ยกฟ้อง ให้เหตุผลว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการดำเนินการไปตามพยานหลักฐาน กระทำไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย พยานหลักฐานที่นำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาบิดเบือนแจ้งข้อกล่าวหา หรือกลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ระบุว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองมีตำแหน่งทางการเมือง คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของ ป.ป.ช.ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขนั้น เห็นว่าคดีที่จำเลยได้ดำเนินการทำสำนวนและสั่งให้พนักงานอัยการนั้น เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ซึ่งอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องโจทก์ ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่ได้บิดเบือนหรือกลั่นแกล้ง จึงพิพากษายกฟ้อง

ต่อมาโจทก์ทั้งสองยื่นฎีกาคัดค้านศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว คดีต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คดีของโจทก์ทั้งสองมีความผิดตามข้อกล่าวหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ ม.66 วรรคแรกบัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีเหตุอันควรสงสัยหรือผู้กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวน” ดังนั้นจะเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริง และเมื่อเห็นว่าข้อกล่าวหามีมูลให้ส่งสำนวนและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุ นายอภิสิทธิ์ โจทก์ที่ 1 ตำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ โจทก์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เพื่อต่อต้านรัฐบาลบีบบังคับให้นายอภิสิทธิ์ โจทก์ที่ 1 ยุบสภาหรือลาออก การชุมนุมปิดกั้นกีดขวางการจราจรบนถนนทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน มีการใช้อาวุธและมีกองกำลังติดอาวุธเพื่อต่อสู้เจ้าหน้าที่ทหารที่จะเข้ามาใช้กำลังกระชับหรือขอคืนพื้นที่ชุมนุม ซึ่งในการปฏิบัติหน้าที่ โจทก์ที่ 2 ได้ออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการกระชับพื้นที่และขอคืนพื้นที่หลายฉบับ โดยอนุญาตให้มีการใช้อาวุธด้วยความระมัดระวังและเพื่อป้องกันชีวิตของตนหรือของผู้อื่น

เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์ที่ 2 ก็มีการปะทะกัน มีการใช้อาวุธยิงทำร้ายเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารและผู้ร่วมชุมนุมบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก การชุมนุมของคนจำนวนมากต่อต้านรัฐบาลมีกองกำลังติดอาวุธเข้าปะทะเจ้าหน้าที่ทหารหลายครั้ง คำสั่งของโจทก์ที่ 2 แต่ละฉบับเป็นการออกคำสั่งกำหนดแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารให้เป็นไปตามสถานการณ์ เช่น กำหนดให้เจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังอาวุธปืนยิงได้ในกรณีจำเป็นเพื่อป้องกันชีวิตตนและผู้อื่น การกระทำของโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความสงบ เรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของโจทก์ที่ 2 เมื่อมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ทหารและกองกำลังติดอาวุธของผู้ร่วมชุมนุมและมีผู้ร้องขอให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสอง จึงมีการส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งคณะกรรมการป.ป.ช.ก็มีมติรับดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 กับพวกในฐานะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษก็ทำการสืบสวนสอบสวนก่อนนั้นแล้ว ได้ความว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถือเป็นคดีก่อการร้าย ต่อมาได้สรุปความเห็นส่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 25 คน ในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย และเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2553 พนักงานอัยการได้ฟ้องนายวีระ มุสิกพงศ์ กับพวกรวม 19 คน ในข้อหาร่วมกันก่อการร้ายต่อศาลชั้นต้น หลังจากนั้นมีการเปลี่ยนรัฐบาล โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นรองนายกรัฐมนตรี และมีการแต่งตั้งแกนนำกลุ่ม นปช.ที่เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ โจทก์ที่ 1 และถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีร่วมกันก่อการร้ายเป็นรัฐมนตรีและตำแหน่งทางการเมืองหลายคน

จึงแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีกลุ่ม นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดง เป็นแนวร่วม ต่อมาวันที่ 17 ก.ค. 2555 ศาลอาญากรุงเทพใต้ทำการไต่สวนการตายของ นายพัน คำกอง แล้วมีคำสั่งว่า นายพัน คำกอง เสียชีวิตจากการถูกกระสุนของเจ้าหน้าที่ทหาร ขณะที่ทหารกำลังปฏิบัติหน้ารักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

และในวันที่ 19 เดือนเดียวกัน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ให้สัมภาษณ์ข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ว่า คำสั่งศาล เรื่องการตายของนายพัน คำกอง ศอฉ.ต้องรับผิดชอบ และกล่าวต่อไปว่า ได้สั่งการไปยังจำเลยที่ 1 แล้ว การที่จำเลยทั้งสี่ ได้เร่งทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช.และกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหารมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตขึ้นใหม่ และเรียกโจทก์ทั้งสองมารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2555 โดยกล่าวหาว่า นายสุเทพ โจทก์ที่ 2 กระทำละเว้นหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ในการบริหารราชการแผ่นดินหรือตามกฎหมาย เป็นการกระทำร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลนั้น ข้อเท็จจริงได้ความ การดำเนินคดีอาญาที่กล่าวหาโจทก์ทั้งสองดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ค. 2553 แล้ว เนื่องจากเห็นว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นการยอมรับมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า คดีอาญาดังกล่าวอยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช.

จึงเชื่อว่า จำเลยทั้งสี่ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ย่อมทราบและเข้าใจบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้ว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนดำเนินคดีแก่แกนนำและผู้ร่วมชุมนุม นปช.ในข้อหาก่อการร้าย โดยไม่ได้ดำเนินการสอบสวนโจทก์ทั้งสอง แต่ได้ส่งเรื่องไปให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการ และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ไม่ได้ส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสอง ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเล็งเห็นผลกลับมาให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำการสอบสวนแยกต่างหากแต่อย่างใด การที่หลังจากเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็นรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพวกเดียวกับกลุ่ม นปช.ผู้ร่วมชุมนุมและ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ สั่งการให้ดำเนินการแก่โจทก์ทั้งสอง โดยอ้างคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่วินิจฉัยการตายของนายพัน คำกอง เกิดจากกระสุนปืนของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของ ศอฉ. จำเลยทั้งสี่ก็ได้สอบสวนและเรียกโจทก์ทั้งสองมารับทราบข้อเท็จจริงและข้อหา โดยบันทึกการแจ้งข้อเท็จจริงและข้อหาได้ว่า ข้อเท็จจริงในการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เป็นการชุมนุมโดยสงบ และไม่มีการใช้อาวุธ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการสอบสวนให้ปรากฏข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนเพื่อให้เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารเพียงฝ่ายเดียวมีอาวุธ กระทำต่อผู้ร่วมชุมนุม

แม้จำเลยทั้งสี่จะสอบสวนและแจ้งข้อหาแก่โจทก์ทั้งสองโดยจำเลยทั้งสี่ เชื่อว่ามีอำนาจทำได้ตามกฎหมาย แต่ก็ต้องเป็นเชื่อ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสุจริต และการที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ต่อไปอีก 1 ปี หลังจากหมดวาระที่จะต้องย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น แสดงให้เห็นว่าการทำหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งเดิมสามารถตอบสนองความต้องการของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

จึงมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า จำเลยทั้งสี่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตหรือไม่แม้การสอบสวนของจำเลยทั้งสี่ จะมีพนักงานอัยการเข้าร่วมสอบสวนและต่อมาอัยการยื่นฟ้องโจทก์ทั้งสองต่อศาล แต่ศาลจะต้องตรวจสอบว่ากระบวนการสอบสวนของจำเลยทั้งสี่ได้กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการสอบสวนดังกล่าวกระทำโดยไม่ชอบกฎหมาย ย่อมมีผลให้พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจฟ้องโจทก์ทั้งสองก็ได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่หลักฐานที่บ่งชี้ว่าการสอบสวนและแจ้งข้อหาของจำเลยทั้งสี่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมาย

การกระทำของจำเลยทั้งสี่ที่ได้สอบสวนและแจ้งข้อหาโจทก์ทั้งสอง ตามที่โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนมามีเหตุผลให้เชื่อว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และระเบียบแบบแผนของทางราชการ อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องตามศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย จึงให้ประทับรับฟ้องคดี พร้อมนัดประชุมคดี ตรวจหลักฐานและสอบคำให้การจำเลยทั้งสี่ ในวันที่ 21 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ด้านนายบัณฑิต ศิริพันธุ์ กล่าวภายหลังศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องคดีที่นายอภิสิทธิ์ เเละนายสุเทพยื่นฟ้องนายธาริต กับพวกปฎิบัติหน้าที่มิชอบว่า ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นนัดสอบคำให้การจำเลยวันที่ 21 สิงหาคมนี้

ส่วนคดีที่ศาลอุทธรณ์เเละศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษายกฟ้อง นายอภิสิทธิ์เเละนายสุเทพ ที่อัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในความผิดฐาน ร่วมกันก่อใช้ให้ผู้อื่นฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา288เเละ84 จากการสลายการชุมนุม ทั้งสองศาลเห็นไปในทางเดียวกันว่า คดีไม่ได้อยู่ในอำนาจสอบสวน แต่เป็นเรื่อง ป.ป.ช.โดยคดีนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณาฎีกาที่อัยการได้ยื่นฎีกาไว้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีที่อัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพนั้น ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ส.ค.57 และมีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 17 ก.พ.59 โดยทั้งสองศาลเห็นว่า การกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เป็นการกระทำที่ ป.ป.ช.มีอำนาจไต่สวน การยื่นฟ้องโดยอาศัยสำนวนการสอบสวนของดีเอสไอซึ่งไม่มีอำนาจในการสอบสวน การฟ้องของโจทก์จึงไม่มีอำนาจ ศาลอาญาจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจรับคดีไว้พิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น