xs
xsm
sm
md
lg

ภาพสะท้อนการใช้อำนาจรัฐของการยุบสามองค์การ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในสังคมการเมืองไทย ที่น่าจะเปลี่ยนแปลงตามกาลสมัย แต่กลับกลายเป็นว่ายังเป็นเหมือนเดิม นั่นคือเมื่อกลุ่มบุคคลที่มาจากระบบราชการเข้ามามีอำนาจทางการเมือง พวกเขามีแนวโน้มที่จะสืบทอดอำนาจในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสมอ มีความต้องการควบคุม กำกับและจัดการนักการเมืองให้อยู่ในกรอบ และยังมีแนวโน้มอย่างเด่นชัดในการควบคุมและกีดกันภาคประชาสังคมออกจากการมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐด้วย

แม้กลุ่มข้าราชการระดับสูงที่ควบคุมอำนาจรัฐจะมีทัศนคติเชิงลบกับนักการเมืองบางคน แต่พวกเขาส่วนใหญ่มักมีทัศนคติในเชิงบวกต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ พวกเขาชื่นชอบนักธุรกิจผู้ร่ำรวย และต้องการให้นักธุรกิจที่ไม่เป็นนักการเมืองเข้ามาทำงานร่วมกับพวกเขา จะว่าไปแล้วข้าราชการระดับสูงกับนักธุรกิจต่างพึ่งพากันมาอย่างยาวนาน เพราะสองฝ่ายต่างก็หวังในสิ่งที่ตนเองขาดจากอีกฝ่ายหนึ่ง ความสัมพันธ์แบบต่างตอบแทนจึงเป็นกาวเชื่อมสองฝ่ายเข้าด้วยกัน

แต่สำหรับภาคประชาชนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะภาคประชาชนที่เป็นองค์การพัฒนาเอกชนและองค์การชาวบ้านที่มีความคิดเป็นอิสระ ซึ่งไม่ตกอยู่ภายใต้การชี้นำและกำกับของฝ่ายราชการ กลุ่มข้าราชการระดับสูงที่คุมอำนาจรัฐมักจะมีทัศนคติไม่ดีนักกับกลุ่มเหล่านี้ พวกเขามักจะมองว่ากลุ่มเหล่านี้ชอบคัดค้านหรือขัดขวางการพัฒนาประเทศ

ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติที่กลุ่มครองอำนาจรัฐ ไม่ว่ามาจากระบบราชการหรือนักการเมืองก็ตามมักชอบผลักดันและขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น การมีความเชื่อในแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยม ที่เน้นการสร้างและขยายความเจริญขึ้นไปเรื่อยๆอย่างปราศจากความพอเพียง หรืออาจเป็นเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่ได้รับจากกลุ่มทุนที่รับเหมาก่อสร้างโครงการเหล่านั้นหรืออาจเป็นเหตุผลอื่นๆที่นอกเหนือจากนี้ก็ได้

เท่าที่ผ่านมาภาคประชาชนมักจะเข้าไปตรวจสอบการทำงานหน่วยงานภาครัฐและฝ่ายการเมืองอย่างเข้มข้น มีการนำเสนอข้อมูลหลักฐาน ตลอดจนเหตุผลที่ชี้ให้เห็นถึงผลเสียและผลกระทบทางลบที่เกิดจากการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ และกลุ่มทุนขนาดใหญ่ จนทำให้ต้องมีการทบทวน ชะลอ หรือยุติโครงการที่สร้างความเสียหายแก่สังคมลงไปหลายโครงการ ด้วยรากฐานประวัติของสังคมเป็นมาอย่างนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดแต่อย่างใดที่กลุ่มข้าราชการระดับสูงและกลุ่มนายทุนขนาดใหญ่จะไม่ค่อยพึงพอใจกับบทบาทภาคประชาชนนัก

ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมา คณะผู้ร่างมักจะสร้างองค์การของรัฐที่มีองค์ประกอบจากภาคประชาชนอยู่หลายองค์การ แม้ว่าองค์การเหล่านั้นมีอำนาจและบทบาทไม่มากนัก แต่การดำรงอยู่ขององค์การเหล่านั้น ก็เป็นเรื่องที่ออกจะน่ารำคาญในความรู้สึกของกลุ่มข้าราชการระดับสูงและนักธุรกิจที่ครองอำนาจรัฐ ผมประเมินว่าคนเหล่านั้นคงรู้สึกว่าการไม่มีองค์การของรัฐที่มีองค์ประกอบจากภาคประชาชนได้ก็จะดี

เมื่อโอกาสจังหวะเวลาเหมาะสมเกิดขึ้น องค์การภาครัฐที่มีองค์ประกอบจากภาคประชาชนก็ถูกยุบลงไปตามความคาดหมาย โดยในเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๙ หัวหน้าคสช.ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา ๔๔ ยุบ “สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง และคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย” องค์การแรกจัดตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปี ๒๕๔๐ ส่วนสององค์การหลังจัดตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐

เหตุผลหลักของการยุบองค์การทั้งสามตามที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีแถลงคือคณะกรรมการขององค์การทั้งสามครบวาระแล้ว อีกทั้งในอนาคตจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปด้านต่างๆ ซึ่งหากมีองค์การทั้งสามอยู่จะเป็นการซ้ำซ้อน เพื่อป้องกันการซ้อซ้อนจึงยุบองค์การทั้งสามทิ้งไปเสีย แต่ ในส่วนสำนักงานให้คงอยู่ต่อ โดยให้ข้าราชการทำงานต่อไปหรือเลือกย้ายไปอยู่ในหน่วยงานอื่นตามความเหมาะสม

หลักคิดในการจัดตั้งองค์การทั้งสามมีความคล้ายคลึงกันประการหนึ่งคือ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ประสานองค์อำนาจจากภาคประชาชนและผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่ฝ่ายราชการ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐและงบประมาณแผ่นดิน แต่ก็เป็นองค์การที่มีอำนาจน้อยมาก เป็นเพียงแค่การให้คำปรึกษาเท่านั้น ส่วนการใช้งบประมาณก็น้อยเช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับกรมและกระทรวงต่างๆ ของรัฐบาล

สององค์แรกมีรูปแบบเป็น”สภา” ที่สมาชิกมาจากการเลือกสรรจากองค์การภาคประชาชนและองค์การวิชาชีพต่างๆ กล่าวไปแล้วเป็นเหมือนเวทีที่ให้ฝ่ายอื่นๆที่ไม่ใช่ข้าราชการและนักการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมแบ่งใช้อำนาจรัฐและใช้งบประมาณแผ่นดินบ้าง ซึ่งเป็นความพยายามของผู้ร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละยุคที่ต้องการขยายการมีส่วนร่วมทางการเมืองไปสู่ภาคประชาชน

สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติก่อนพิจารณาประกาศใช้

งานหลักของสภาที่ปรึกษาฯ เท่าที่จับความได้คือ การจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การศึกษาวิจัย การทำข้อเสนอแนะส่งให้รัฐบาล และการทำรายงานประจำปี เท่าที่ผ่านมาสิบกว่าปี สภาที่ปรึกษาฯไม่มีงานใดที่โดดเด่นจนทำให้สังคมเกิดการจำได้ขึ้นมาว่าเป็นผลงานของหน่วยงานนี้ ข้อเสนอที่ส่งให้รัฐบาลก็ไม่ได้รับความสนใจจากนักการเมืองผู้ครองอำนาจรัฐ ส่วนการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนก็เป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในความทรงจำของผู้คนแม้แต่น้อย

ทั้งๆ ที่เป็นสภาที่ปรึกษาฯที่มีอำนาจไม่มาก แต่ก็กลายเป็นเวทีให้กลุ่มองค์การที่จัดตั้งตามวิชาชีพต่างๆ แย่งชิงกันเข้ามาเป็นสมาชิกจนมีเรื่องฟ้องร้องกันมากมาย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ที่ใดในสังคมไทยที่โอกาสเปิดให้แก่กลุ่มในสังคมเข้าไปมีส่วนแบ่งอำนาจและผลประโยชน์ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ที่นั่นก็จะเต็มไปด้วยการแข่งขันเพื่อเข้าถึงและใช้อภิสิทธิ์ดังกล่าว

เรียกว่ายิ่งเวลาผ่านไป การทำงานของสภาที่ปรึกษาฯก็ยิ่งห่างไกลจากเป้าประสงค์เดิมที่จัดตั้งขึ้นมา และไม่สามารถสร้างความยอมรับจากสังคมได้ ความชอบธรรมในการดำรงอยู่ขององค์การยิ่งนับวันก็ยิ่งถดถอย จึงทำให้เกิดความเปราะบางในการดำรงอยู่ค่อนข้างสูง

สำหรับ “สภาพัฒนาการเมือง” ซึ่งตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ โดยมีวัตถุประสงค์สามประการ คือ ๑) เพื่อพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ๒) เพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ๓) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้มแข็งในทางการเมือง

สมาชิกสภาพัฒนาการเมืองมีที่มาหลายแหล่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนจากองค์การชุมชนในแต่ละจังหวัด มีองค์การภาคประชาสังคมอื่นบ้างบางส่วน และมีผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย เรียกว่าสภาพัฒนาการเมืองเป็นเวทีของนักวิชาการ องค์การพัฒนาเอกชน และองค์การชาวบ้าน งานหลักคือการจัดประชุมสัมมนา ระดมความคิดเห็นไปตามเรื่องตามราว และเป็นแหล่งที่ให้สนับสนุนทุนวิจัยและโครงการส่งเสริมประชาธิปไตยแก่ภาคประชาชน จนถูกฝ่ายราชการและการเมืองที่ใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจยุคนี้วิจารณ์ว่าเป็นแหล่งทุนใหม่ของเอ็นจีโอและเสนอให้ยุบมานานแล้ว

สำหรับการสร้างคุณธรรมแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดูเหมือนจะเป็นความฝันที่ยากในการบรรลุได้ และการสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้กับประชาชนก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและเป็นที่ยากเย็นอยู่ไม่น้อย งานทั้งสองเรื่องนี้ของสภาพัฒนาการเมืองจึงไม่ปรากฏออกมาสู่สังคมแต่อย่างใด เรียกได้ว่าหากไม่ใช่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง ประชาชนก็ไม่ทราบว่ามีองค์การแบบนี้ดำรงอยู่ด้วยซ้ำไป ดังนั้นการยุบทิ้งไปเสียจึงทำได้โดยง่าย

ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายถูกจัดตั้งมาเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย องค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นนักวิชาการและนักกฎหมายที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน งานหลักคือการวิจัยและจัดระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมาย และเสนอแก้ไขกฎหมาย แต่ก็ไม่มีอำนาจการบังคับหน่วยงานใดของรัฐ และมีแนวโน้มเสนอการแก้ไขกฎหมายที่สนับสนุนสิทธิประชาชนมากขึ้น ดังนั้นจึงอาจไม่ต้องรสนิยมของหน่วยงานราชการเท่าไรนัก ข้อเสนอต่างๆจึงมักถูกละเลยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเหมือนกับสององค์การแรก

เรียกว่าการทำงานของทั้งสามองค์การ ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกับค่านิยมและความเชื่อของผู้มีอำนาจรัฐที่มาจากระบบราชการและการเมือง ตลอดจนกลุ่มนักธุรกิจ ด้วยเหตุนี้ผมคิดว่าเบื้องลึกลงไปในจิตใจของผู้มีอำนาจรัฐต้องการขจัดองค์การแบบนี้อยู่แล้ว ประกอบกับการทำงานขององค์การเหล่านี้เองก็ไม่ค่อยดีนัก และไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ดั้งนั้นเมื่อโอกาสและจังหวะเวลามาถึง ผู้มีอำนาจจึงตัดสินใจยุบองค์การทั้งสามคราวเดียวกันไปเลย

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าการจะให้ภาคประชาชนและกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่นักการเมือง ข้าราชการประจำ และกลุ่มนักธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมในองค์การภาครัฐอย่างเป็นทางการนั้นเป็นเรื่องที่มีความยากลำบาก และมีความอ่อนไหวต่อการถูกขจัดและกีดกันออกไปได้ง่าย สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับองค์การภาคประชาชนต่อไป ในอนาคตหากมีองค์การลักษณะนี้อีกสมาชิกจะต้องทำงานหนัก และเผยแพร่ผลงานออกสู่สาธารณะให้มาก เพื่อให้ประชาชนรู้จักและยอมรับ มิฉะนั้นก็จะประสบชะตากรรมแบบเดียวกับองค์การทั้งสามอีก

แต่สิ่งหนึ่งที่อยากเตือนกลุ่มผู้มีอำนาจเอาไว้คือ การมีความคิดคับแคบและมององค์การภาคประชาชนในเชิงลบเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง และทำเสถียรภาพของสังคมมีปัญหาได้ การกดทับและกีดกันไม่ใช่วิธีที่ดี เพราะทำให้เกิดภาพความสงบชั่วคราวเท่านั้น ขณะที่การเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่มในสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมในการแบ่งปันความคิด อำนาจ และผลประโยชน์ของรัฐอย่างเป็นธรรมเป็นวิธีการที่จะสร้างความเจริญแก่ประเทศอย่างสงบ สันติ และยั่งยืนได้มากกว่า



กำลังโหลดความคิดเห็น