ฉะเชิงเทรา - บทเรียนจากวิถีชุมชนเก่าแก่ ชาวบ้านบางกะไห ข้องใจ ผอ.โรงเรียน ทำพิลึกแอบรื้อถอนอาคารเรียนยุคโบราณรุ่นคุณปู่ ที่สร้างมานานถึงกว่า 80 ปี อ้างชำรุดหวั่นไม่ปลอดภัย ทำศิษย์เก่าแก่หลากรุ่นรุมค้าน รวมตัวทวงคืนอนุสรณ์สถานอันทรงคุณค่าทางจิตใจของคนในชุมชน หวิดถูกขับพ้นพื้นที่ ก่อนยอมสารภาพผิดที่แอบกระทำการไปโดยพลการ ไม่ผ่านคณะกรรมการสถานศึกษา และมติจากชุมชน
วานนี้ (20 พ.ย.) ที่บริเวณอาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนวัดบ้านนาประชาชนรังสฤษฎิ์ ตั้งอยู่เลขที่ 2/1 ม.5 ต.บางกะไห อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ชาวบ้านจำนวนกว่า 500 คน ได้รวมตัวกันเข้ามาทวงถามหาเหตุผลจาก นายกฤติพงษ์ ทองฉาย ผอ.โรงเรียน ที่เพิ่งย้ายเข้ามาดำรงตำแหน่งได้เพียง 5 ปีเศษ ก่อนที่จะได้กระทำการให้ผู้รับเหมาเข้ามาทำการรื้อถอนอาคารเรียนเก่าแก่ยุคโบราณ ทรงปั้นหยา ที่ก่อสร้างผสมผสานกับแบบอาคารเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ (ป.๑) ขนาด 6 ห้องเรียน ที่ก่อสร้างมานานถึงกว่า 80 ปี จนได้รับความเสียหายอย่างน่าสะเทือนใจคนในชุมชน
โดยเฉพาะบรรดาศิษย์เก่าของโรงเรียนที่มีมาตั้งแต่ยุครุ่นคุณปู่ เมื่อปี พ.ศ.2468 จนถึงยุคหลานเหลนในปัจจุบัน ที่ต่างพากันมาเฝ้ารอคอยรับฟังการชี้แจงถึงเหตุผลในการเข้ามารื้อถอนทำลายอนุสรณ์สถานสิ่งปลูกสร้างที่มีคุณค่าทางจิตใจของชุมชน ซึ่งเป็นแหล่งปลูกฝังทางปัญญาด้านการเรียนรู้ของชาวบ้านมาอย่างช้านาน จนเต็มล้นห้องประชุมถึงกว่า 500 คน
โดย นายกฤติพงษ์ ได้ชี้แจงในที่ประชุมว่า สาเหตุที่ต้องรื้อถอนอาคารเรียนเก่าแก่หลังนี้เนื่องจากมีสภาพชำรุดทรุดโทรม เสาตอม่อคอนกรีตทางด้านทิศตะวันออกผุกร่อน ตลอดจนคานไม้ของโรงเรียนบางชิ้นนั้นชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา จึงหวั่นเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่บุตรหลานของชาวบ้านเอง หากตัวอาคารพังถล่มลงมา เนื่องจากเป็นอาคารไม้ยกพื้นสูง จึงได้มีการนำเสนอเรื่องไปตามขั้นตอนเพื่อของบประมาณในการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้นมาทดแทน
ผ่านไปทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเขต 1 ฉะเชิงเทรา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตามขั้นตอนจนได้รับการอนุมัติ และเห็นชอบให้ดำเนินการได้ จึงได้ให้ผู้รับเหมาเข้ามาทำการรื้อถอน ด้วยการตีราคาขายเศษซากวัสดุที่ได้จากการรื้อออกไปตามราคาไม้หลาหมดสภาพการใช้งานแล้ว เป็นค่าต่างตอบแทนในการรื้อถอนให้แก่ทางผู้รับเหมา โดยที่ทางโรงเรียนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการรื้อถอนอาคารออกไป เพื่อที่จะปรับพื้นที่ในการเตรียมการเพื่อก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ขึ้นมาทดแทน
ซึ่งการดำเนินการนั้นได้ให้ทางสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง เข้ามาตรวจสอบสภาพของอาคารเดิมแล้วว่า เป็นอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม และเห็นสมควรให้ทำการรื้อถอนเพื่อทำการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาทดแทนได้ แต่ก็ยอมรับว่ากระทำผิดขั้นตอนไป โดยที่ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นจากคนในชุมชน และคณะกรรมการสถานศึกษา ก่อนที่จะตัดสินใจกระทำการไปในครั้งนี้
หลังการชี้แจงของ นายกฤติพงษ์ จบลง ได้มีชาวบ้านจำนวนมาก ตลอดจนผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ท้องถิ่น และศิษย์เก่าของโรงเรียนแห่งนี้จำนวนมากต่างพากันตั้งกระทู้ซักถามในข้อข้องใจสงสัยต่างๆ มากมาย จาก นายกฤติพงษ์ เนื่องจากสถานศึกษาแห่งนี้เคยเป็นสถานศึกษาของผู้คนหลากหลายระดับ ที่มีศิษย์เก่าทั้งอดีตข้าราชการระดับสูง ไปจนถึงชาวบ้านทั่วไป จนทำให้ นายกฤติพงษ์ ไม่สามารถที่จะตอบข้อซักถามได้อย่างกระจ่างชัดแก่ชาวบ้านได้ในหลายประเด็น
โดย นายสุขันธ์ โลหิตกุล อายุ 88 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.บางเตย พื้นที่ติดกัน ซึ่งเป็นผู้ที่เคยบริจาคเงินในการทำนุบำรุงการศึกษาของโรงเรียน และมีพี่น้องคนในครอบครัวเรียนจบจากสถานศึกษาแห่งนี้ไป จนเติบโตในตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นข้าราชการในระดับสูงถึง 5 คน กล่าวว่า โรงเรียนแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นมาเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2468 หรือเมื่อกว่า 91 ปีก่อน ด้วยเงินบริจาคร่วมกันของทางวัด และชาวบ้าน จึงใช้ชื่อว่า “โรงเรียนวัดบ้านนาประชาชนรังสฤษฎิ์” เดิมเปิดสอนในระดับ ป.1-ป.4 และได้ทำการก่อสร้างอาคารเรียนหลังนี้ขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2480 ก่อนที่จะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากทางราชการในภายหลัง
โรงเรียนแห่งนี้จึงเป็นโรงเรียนของคนในชุมชน ไม่ใช่โรงเรียนของ ผอ.โรงเรียน ที่เพิ่งย้ายเข้ามาบริหารได้เพียงแค่ 5 ปี โดยหากคิดจะกระทำการอะไรจึงควรปรึกษาคนในชุมชน หรือขอมติจากคณะกรรมการสถานศึกษาก่อน แต่ทาง ผอ.กลับติดสินใจโดยพลการแต่เพียงลำพัง จนทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งที่เป็นสมบัติของชุมชนอย่างร้ายแรงในครั้งนี้ และสร้างความสะเทือนใจให้แก่ชาวบ้านโดยเฉพาะศิษย์เก่าที่ได้ผ่านมาพบเห็น
ด้าน นายเตี้ย ม่วงพา อดีต ส.อบจ.เขตพื้นที่ อ.เมืองฉะเชิงเทรา 3 สมัย และนักจัดรายการวิทยุชุมชนชื่อดังในท้องถิ่น และเคยเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนแห่งนี้ กล่าวว่า ผอ.โรงเรียนควรที่จะสอบถามความเห็นจากคนในชุมชนก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป จนเกิดความเสียหายขึ้นในครั้งนี้ เนื่องจากอาคารเรียนแห่งนี้เป็นอาคารเก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ในเขตพื้นที่แห่งนี้ ที่อยู่คู่กับชุมชนมานาน และมีคุณค่าทางจิตใจ โดยทั้งอำเภอเมืองฉะเชิงเทรากว่า 20 ตำบล มีเหลืออยู่แค่เพียง 3 หลังเท่านั้น จึงไม่ควรที่จะเข้าไปแตะต้อง เนื่องจากอาคารเรียนของโรงเรียนในปัจจุบันนี้ก็มีห้องเรียนมากเพียงพอต่อจำนวนนักเรียนที่มีอยู่ 149 คน
อาคารแห่งนี้จึงควรที่จะถูกอนุรักษ์ไว้ โดยการนำมาปรับปรุงซ่อมแซม ใช้เป็นหอสมุดประจำชุมชน และเป็นหอจดหมายเหตุแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอดจนแบ่งพื้นที่ใช้เป็นสถานที่รับรองแขกเหรื่อที่จะเข้ามายังในชุมชน และควรใช้ประโยชน์จากคณะกรรมการสถานศึกษาที่มีอยู่แล้ว จำนวน 9 คน ซึ่งถือเป็นตัวแทนของคนในชุมชน เพื่อขอมติความเห็นชอบในการที่จะกระทำการใดๆ ที่อาจส่งผลกระทบ เสียหายต่อชุมชนเช่นนี้
ขณะที่ นายสุย นาคเจริญ ชาวบ้านที่มีบ้านเรือนพักอาศัยอยู่ใกล้กับโรงเรียน กล่าวว่า ผอ.โรงเรียนมีพฤติกรรมในการรื้อถอนอาคารเรียนที่ผิดปกติ โดยที่ได้ให้ทางผู้รับเหมานั้นแอบเข้ามาทำการรื้อถอนอาคารเรียนหลังเก่าในเวลากลางคืน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา จนอาคารเก่าแก่ และมีคุณค่าของชุมชนได้รับความเสียหายลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะกระเบื้องมุงหลังคาที่ยังอยู่ในสภาพดีอยู่ทั้งหลังนั้น แตกละเอียดไปจนหมดเกลี้ยงไม่มีเหลือเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
ขณะที่ไม้เก่าที่ใช้ในการสร้างประกอบเป็นตัวอาคาร ซึ่งเป็นไม้เนื้อดีหายาก และมีราคาแพงในยุคปัจจุบันนั้น ยังเป็นไม้ที่อยู่ในสภาพดีเกือบทั้งหมด จนแทบจะไม่มีแผ่นไหนผุกร่อนเลย โดยอาคารเรียนหลังนี้ชำรุดแต่เพียงเสาตอม่อ และคานไม้บางส่วนเท่านั้น
หลัง นายกฤติพงษ์ ไม่สามารถตอบข้อซักถามของชาวบ้านได้ในทุกประเด็น จึงยอมรับในความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และยินยอมที่จะยกเลิกการรื้อถอนอาคารเรียนไม้โบราณหลังเก่านี้ โดยจะต้องทำการซ่อมแซมบูรณะให้กลับคืนมาสู่สภาพเดิม ตามมติของชาวบ้านในการขอออกเสียงในที่ประชุมเป็นส่วนใหญ่ หรือทั้งหมดที่มาร่วมประชุมในวันนี้
โดยที่ไม่มีใครยกมือขึ้นคัดค้าน พร้อมทั้งยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชน ในการติดตามตรวจสอบการดำเนินการซ่อมแซมอาคารไม้เก่าแก่ ให้กลับคืนมาสู่สภาพเดิม จนชาวบ้านพึงพอใจ จึงยอมสลายตัว และพากันเดินทางกลับบ้านไปในที่สุด