สภาพัฒนาการเมือง เผยผลการรับฟังความเห็น กม.ลูกรัฐธรรมนูญ ชี้คนส่วนใหญ่หนุนให้ชาวบ้านกับพรรคร่วม กกต.กำหนดเขตเลือกตั้ง ให้สมาชิกพรรคคัด ส.ส. เพิ่มวันโหวต ขยายเวลาลงคะแนน หนุนหาเสียงสื่อออนไลน์ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องโชว์วิสัยทัศน์ออกทีวี ให้ความผิดเลือกตั้งผิด กม.ปปง.ด้วย ให้สมาชิกพรรคชงขับ ส.ส.ได้ ตรวจสอบบัญชีเงินพรรคได้ โอเคเซตซีโร่ กกต.แต่ค้านมหาดไทยจัดแทน
วันนี้ (14 พ.ย.) นายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง (สพม.) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นและการรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สมาชิกวุฒิสภา, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จำนวน 2,502 คน และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยคณะทำงานเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดภาคต่างๆ รวมทั้งการสนทนากลุ่ม ผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มบุคคลสำคัญที่เกี่ยวข้อง สามารถสรุปผลเบื้องต้นดังต่อไปนี้
1. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางในการส่งเสริมภาคประชาสังคม ประชาชนและพรรคการเมืองให้มีส่วนร่วมในกระบวนการก่อนการเลือกตั้ง เช่น ให้ภาคประชาสังคม ประชาชนและพรรคการเมืองควรมีส่วนร่วมในการกำหนดเขตเลือกตั้งร่วมกับ กกต. ให้สมาชิกพรรคในแต่ละจังหวัดเป็นผู้คัดเลือกส.ส.(Primary Vote) การจัดทำฐานข้อมูลภูมิหลังประวัตินักการเมือง ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองเปิดบัญชีไว้ที่ธนาคารพาณิชย์ของรัฐเพื่อให้คณะกรรมการจากภาคประชาสังคม พรรคการเมือง กกต. ร่วมกันตรวจสอบ ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องผ่านหลักสูตรการอบรมของ กกต.หรือสถาบันที่มีกฎหมายรองรับ ต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ การแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบบัญชีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เพิ่มช่องทางให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งที่ง่ายขึ้น ลดค่าธรรมเนียมในการรับสมัครรับเลือกตั้งทำให้เกิดการเมืองต้นทุนต่ำเพื่อป้องกันการเมืองต่างตอบแทนหรือการทุจริตคอร์รัปชั่นหลังเข้าสู่อำนาจ
2. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางในการส่งเสริมให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพิ่มช่องทางและวิธีการลงคะแนน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งเพิ่มขึ้นและป้องกันคะแนนเสียงจัดตั้ง เช่น เพิ่มจำนวนวันเลือกตั้ง ขยายเวลาการลงคะแนนเสียง ลงคะแนนเลือกตั้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่ไม่เห็นด้วยกับการจูงใจให้ไปใช้สิทธิ เช่น ให้ส่วนลดในการจ่ายภาษี การให้รางวัลประชาชน การให้คูปองสำหรับใช้เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้า เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของพลเมืองที่ควรจะต้องมีส่วนร่วมอยู่แล้ว 3. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการประสานงานระหว่าง กกต.หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในการฝึกอบรมและสลับสับเปลี่ยนบุคลากรเข้ามาทำหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ภาคประชาสังคม พรรคการเมือง มีตัวแทนร่วมสังเกตการณ์การลงคะแนนและการนับคะแนนเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งตรวจสอบการเลือกตั้งในทางลับได้
5. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางในการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการลดต้นทุนการโฆษณาหาเสียง และกำหนดรูปแบบการโฆษณานโยบายของพรรค เช่น การสนับสนุนการหาเสียงทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การกำหนดให้ป้ายหาเสียงมีขนาดและสถานที่ติดตามที่ กกต.กำหนดเท่านั้น การกำหนดให้ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในลำดับที่ 1 ของพรรคการเมืองนั้นต้องอภิปรายนโยบาย 3 ครั้ง ผ่านสถานีโทรทัศน์ 6. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการกำหนดให้ความผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือพรรคการเมืองเป็นความผิดฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เช่น ให้ กกต.มีอำนาจส่งเรื่องให้ ปปง.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ได้ และลงโทษให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะและมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
7. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการลงโทษสมาชิกพรรคการเมืองที่เป็นผู้บกพร่องด้านคุณธรรม จริยธรรม หรือกระทำผิดวินัยของพรรคการเมือง เช่น สมาชิกพรรคการเมือง อาจเข้าชื่อร้องขอให้พรรคการเมืองมีมติให้สมาชิกภาพของผู้นั้นสิ้นสุดลง ส.ส.ที่ถูกมติพรรคให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลง ก็ให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้นั้นสิ้นสุดลงด้วย 8. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวทางในการสอบบัญชีของพรรคการเมือง รวมทั้งแนวทางในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตทุกประเภทของผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้ง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงิน ต้องแจ้งรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินตามที่กกต.ร้องขอ
9. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้พรรคการเมืองในปัจจุบันสิ้นสภาพไป (เซตซีโร่) เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับใหม่ แต่กลุ่มตัวอย่างอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า ปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นมิได้มีสาเหตุมาจากพรรคการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว รวมทั้งปัญหาของพรรคการเมืองก็ไม่สามารถจะแก้ไขได้ด้วยการเซตซีโร่เพียงเท่านั้น และการดำเนินการดังกล่าวจะยิ่งส่งผลให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ และ 10. กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ กกต.ชุดปัจจุบันสิ้นสุดลง (เซตซีโร่) เพื่อดำเนินการปรับปรุงโครงสร้าง กระบวนการทำงาน และสรรหา กกต.ชุดใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการให้กระทรวงมหาดไทยมีส่วนร่วมในการบริหารการจัดการเลือกตั้ง เพราะ กกต.มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย งบประมาณ บุคลากร มีประสบการณ์ในการบริหารจัดการเลือกตั้ง และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอต่อการดำเนินการอยู่แล้ว