ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ยังมีเหตุผลและสาเหตุความล้มเหลวของรัฐบาลมีมากมายหลายประเด็น ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อน แต่ผมคิดว่าคงจะเหมาะสมแก่เวลาและเนื้อหาที่จะจบบทความชุดนี้ลงด้วยการเขียนถึงปัจจัยสำคัญอีกสองประการที่ส่งผลต่อความล้มเหลวของรัฐบาลคือความไม่น่าเชื่อถือและการบริหารผิดพลาด
ความน่าเชื่อถือเป็นพลังเชิงบวกที่เกิดจากประชาชนไว้วางใจในรัฐบาล หากรัฐบาลใดประชาชนมีความไว้วางใจสูง รัฐบาลนั้นก็จะมีความน่าเชื่อถือสูง ซึ่งจะนำไปสู่การได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆของสังคมในการขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จ
ความน่าเชื่อถือมีทั้งในระดับภาพรวมของรัฐบาลทั้งชุด และระดับตัวนโยบาย มีความเป็นไปได้ว่าในภาพรวมรัฐบาลมีความน่าเชื่อถือสูง แต่ในการดำเนินการนโยบายบางอย่างของบางกระทรวงกลับไม่ได้รับความเชื่อถือหรือไว้วางใจจากประชาชน
ความไม่น่าเชื่อถือของหน่วยงานที่ดำเนินการนโยบายบางอย่างมีหลายเหตุผล เหตุผลแรกคือหน่วยงานนั้นไม่เคยแสดงความสามารถในการแก้ปัญหาให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ เหตุผลที่สองคือหน่วยงานนั้นเคยบริหารผิดพลาดและสร้างความเสียหายแก่สังคมมาแล้วในอดีต เหตุผลที่สามคือหน่วยงานนั้นมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับพฤติกรรมของข้าราชการภายใต้สังกัดอย่างต่อเนื่อง และเหตุผลที่สี่คือหน่วยงานนั้นไม่มีประสบการณ์หรือขาดความรู้ในเรื่องที่ได้รับมอบหมาย
อย่างนโยบายการปฏิรูปตำรวจของประเทศไทย หากรัฐบาลมอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปดำเนินการก็จะทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือสูง และสามารถทำนายได้ว่านโยบายปฏิรูปจะล้มเหลวอย่างแน่นอน เพราะว่าการปฏิรูปต้องมีการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง วัฒนธรรม และแบบแผนพฤติกรรมในการปฏิบัติงาน ทว่า เท่าที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติหาได้แสดงให้สาธารณะเห็นอย่างประจักษ์แจ้งถึงความพร้อมและความสามารถในการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับยึดติดสิ่งเดิมที่ไร้ประสิทธิผลและเป็นปัญหาเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
ในสังคมไทยมีความแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งกล่าวคือ มีทางเลือกเชิงนโยบายบางอย่างที่สร้างความเสียหายแก่สังคมและได้รับการคัดค้านจากประชาชนอย่างต่อเนื่อง แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้กลับไม่เคยสรุปบทเรียน และยังมีความพยายามผลักดันทางเลือกเชิงนโยบายดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ กล่าวได้ว่าพวกเขา กระทำ แทบทุกครั้งที่คิดว่ามีโอกาสอำนวย
อย่างการสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่ประชาชนและสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แทนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตและกระทรวงด้านพลังงานซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบด้านการจัดหาพลังงานจะตระหนักและสำนึกถึงความเสียหาย และยุติทางเลือกนี้อย่างถาวร กลับมีความพยายามผลักดันให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้นมาอีกครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยข้ออ้างว่าในปัจจุบันมีเทคโนโลยีแก้ไขความเสียหายได้แล้วและเป็นทางเลือกการผลิตพลังงานราคาถูก
แต่ประชาชนไม่มีความไว้วางใจและไม่เชื่อถือข้อมูล ตลอดจนการอ้างของหน่วยงานเหล่านั้นอีกต่อไป นโยบายการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงได้รับการคัดค้านจากประชาชนเสมอมา และหากรัฐบาลไม่ดำเนินการหยุดยั้งนโยบายดังกล่าวเสีย ก็มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้ ซึ่งยิ่งสร้างความเสียหายแก่ประเทศอย่างใหญ่หลวง
การบริหารจัดการที่ดี และพฤติกรรมของข้าราชการที่นำนโยบายไปปฏิบัติก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นโยบายเกิดความน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบาย หากนโยบายใดมีการกำหนดแนวทางการจัดการเอาไว้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็มีสูง แต่หากมีการจัดการผิดพลาดและไร้ประสิทธิภาพ ความล้มเหลวก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
นโยบายจำนำข้าวเป็นตัวอย่างที่ดีของการจัดการที่ผิดพลาด อันที่จริงผิดพลาดตั้งแต่วิธีคิดของผู้กำหนดนโยบาย การออกแบบระบบการจัดการ และพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติ ผู้กำหนดนโยบายก็คิดแต่จะสร้างคะแนนนิยมให้แก่พรรคของตนเอง จนทำให้เกิดจินตนาการเฟ้อฝันไปว่าตนเองสามารถควบคุมราคาข้าวของตลาดโลกได้
การออกแบบระบบการบริหารจัดการโดยเฉพาะการจัดซื้อข้าวที่จะซื้อทุกเมล็ด ก็ก่อให้เกิดการสวมสิทธิ์เอาข้าวของประเทศเพื่อนบ้านมาขายบ้าง เอาข้าวค้างปีมาขายบ้าง ทั้งยังมีการสร้างตัวเลขปลอมๆ เกี่ยวกับพื้นที่การผลิตข้าวบ้าง และอีกสารพัดเรื่องของการมารยาสาไถที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดการ ส่วนพฤติกรรมของผู้ปฏิบัติทั้งที่เป็นข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้าข้าว เจ้าของโรงสี ชาวนา ต่างก็พยายามคิดกลวิธีต่างๆนาๆสารพัดเพื่อให้ตนเองได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์จากนโยบายให้มากที่สุด
ในบางกรณีนโยบายขาดความน่าเชื่อถือก็เพราะว่ารัฐบาลมอบหมายนโยบายให้หน่วยงานหรือบุคคลที่ขาดความรู้ ไม่มีความสามารถ และไร้ประสบการณ์ไปดำเนินการ ในสังคมไทยจะมีปรากฏการณ์แบบนี้บ่อย เพราะการทำงานบริหารราชการแผ่นดินถูกหุ้มห่อด้วยอวิชชาแห่งการเห็นแก่พวกพ้อง เครือญาติ เพื่อนฝูง และผลประโยชน์ต่างตอบแทนทางการเมือง มากกว่าปัญญาและกุศลจิตที่มีต่อประชาชนโดยรวม
นอกเหนือไปจากเหตุผลภายในรัฐบาลแล้ว ความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมก็ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของนโยบายได้เช่นเดียวกัน บางนโยบายเมื่อมีการกำหนดและนำไปปฏิบัติแล้ว แต่ต่อมาเกิดความไม่แน่นอนขึ้นมาก็อาจทำให้นโยบายนั้นไม่ประสบความสำเร็จได้ อย่างเช่นนโยบายการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงร่วมกับประเทศจีน ซึ่งระยะแรกทำท่าว่าจะประสบความสำเร็จ แต่ต่อมาต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากประเทศจีนที่ต้องการผลประโยชน์มากจนทำให้ราคาการก่อสร้างสูงเกินกว่าที่รัฐบาลไทยจะรับได้ ท้ายที่สุดโครงการนี้ก็ต้องเลื่อนออกไป และไม่มีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จโดยง่าย
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นตัวอย่างที่ดีของความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ แม้ว่าบางประเทศอาจมีความเป็นไปได้ที่ว่า ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติจะเกิดขึ้นได้ควบคู่กันไป แต่ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยด้วย
กลับกลายเป็นว่า เมื่อมีการมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจมากเกินไป กลับทำให้สิ่งแวดล้อมแย่ลง เกิดภาวะน้ำเสีย อากาศเสีย และขยะมากขึ้น ประชาชนมีความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางกายและจิตเพิ่มตามไปด้วย และทรัพยากรธรรมชาติก็ถูกทำลายล้างอย่างรุนแรง การบุกรุกทำลายป่าไม้และที่ดินสาธารณะเพื่อทำการเกษตรและธุรกิจท่องเที่ยวขยายออกไปจนยากที่จะควบคุมได้
การกำหนดและการนำนโยบายต่างๆไปปฏิบัติจึงต้องใช้พลังความคิดและจินตนาการที่กว้างขวาง เพื่อให้มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างนโยบายต่างๆว่าจะส่งผลกระทบต่อกันอย่างไร การคิดเอาแต่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนสร้างปัญหาและทำให้นโยบายอื่นๆขาดความน่าเชื่อถือย่อมไม่ใช่ทางเลือกที่ดีต่อการพัฒนาประเทศอย่างแน่นอน
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของรัฐบาลในอดีตซึ่งนำไปสู่ความล้มเหลว สมควรถูกใช้เป็นบทเรียน เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการกำหนด และการนำนโยบายไปปฏิบัติเสียใหม่ สำหรับรัฐบาลในปัจจุบันแม้ว่าบางนโยบายพอจะเห็นร่องรอยของการเปลี่ยนแปลงอยู่บ้าง ทว่ายังเป็นเพียงส่วนน้อยนิดเท่านั้น มีนโยบายอีกมากมายที่ยังคงยึดติดการคิดและการปฏิบัติแบบเก่าๆที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว ลองนั่งนิ่งๆและใช้ปัญญาไตร่ตรองอย่างไม่มีอคติดูเถิด แล้วความจริงก็จะปรากฏออกมา