ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
นอกจากแรงจูงใจและการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด ซึ่งบิดเบือนการกำหนดและการนำนโยบายไปปฏิบัติ อันนำไปสู่ความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลแล้ว ประเด็นความยากไร้และด้อยคุณภาพของข้อมูลข่าวสาร ความแข็งตัวที่สถานการณ์ที่ต้องการความยืดหยุ่น การขาดความน่าเชื่อถือเพื่อสร้างความร่วมมือกับกลุ่มอื่นๆ และการบริหารที่ผิดพลาด โดยเฉพาะในรูปแบบของความหลอกลวง การทุจริต และการสิ้นเปลือง ต่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ความล้มเหลวของรัฐบาลเกิดขึ้นบ่อยครั้งทีเดียว
แม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจะตระหนักว่าข้อมูลข่าวสารมีความจำเป็นในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ แต่โดยที่การจัดทำข้อมูลข่าวสารให้มีความสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งที่มีราคาแพง ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเก็บรวบรวม การตรวจสอบความถูกต้อง การประมวล การวิเคราะห์ การประเมิน การนำไปใช้ และการทำให้ทันสมัยอยู่เสมอ จึงทำให้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจำนวนมากเป็นข้อมูลที่ด้อยคุณภาพ และบางหน่วยงานหนักยิ่งกว่าคือการไม่มีข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ในการตัดสินใจและการประเมินในเรื่องที่สำคัญ
ปัญหาด้านข้อมูลข่าวสารของนโยบายมีหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือการขาดความครบถ้วนและโปร่งใสในมิติปัญหาและทางเลือกของนโยบาย การสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะที่ดีนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลข่าวสารให้ครบถ้วนในสามมิติหลัก มิติแรกคือ มิติตัวปัญหา ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำรงอยู่ ลักษณะธรรมชาติ และสาเหตุของปัญหา ซึ่งจะต้องมีการสำรวจ จัดเก็บ รวบรวมอย่างเป็นระบบ และใช้ความรู้อย่างลึกซึ้งในการวิเคราะห์อย่างบูรณาการ มิติที่สองคือ มิติทางเลือกในการแก้ปัญหา อันได้แก่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ กลยุทธ์ มาตรการ และโครงการที่ใช้ในการแก้ปัญหา สิ่งที่รัฐบาลควรรู้ในเรื่องนี้คือ ด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ด้านผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของแต่ละทางเลือก และด้านผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของทางเลือกเหล่านั้น และมิติที่สามคือประสิทธิผลของนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีการประเมินผลทั้งในส่วนปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
แต่ในความเป็นจริงที่พบบ่อยคือ การกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายมักจะมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาแบบเสี่ยงเสี้ยว จัดเก็บอย่างไม่เป็นระบบ และมีความผิดพลาดในการวิเคราะห์ การเลือกกลยุทธ์ มาตรการ และโครงการมักจะทำตามความเคยชินแบบเดิมๆ โดยไม่ได้ประเมินเรื่องต้นทุน ผลประโยชน์ และประสิทธิภาพของสิ่งเหล่านี้แต่อย่างใด ส่วนการประเมินผลก็มักจะเลือกข้อมูลข่าวสารที่ตอบสนองความพึงพอใจของหน่วยงานและผู้บริหารเสียมากกว่า
เรื่องที่สองคือข้อมูลข่าวสารมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการนิยาม ทั้งในแง่วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางในการปฏิบัติ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติก็ไม่ชัดอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้แต่ละหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติตีความและปฏิบัติแตกต่างกัน ส่วนการกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจนจะทำให้แต่ละหน่วยงาน ใช้อำนาจไปอย่างสับสน บางหน่วยอาจใช้อำนาจแบบเกินพอดี ขณะที่บางหน่วยอาจใช้อำนาจหน้าที่แบบอ่อนแอ หรือละเลยไม่ใช้เลยก็มี แต่ที่ร้ายก็คือการใช้แบบเลือกปฏิบัติ กล่าวคือใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดจัดการกับคนบางกลุ่มที่ไม่ใช่พวกพ้องญาติพี่น้องของตนเอง แต่ใช้อำนาจอย่างอ่อนนิ่มหรือจงใจไม่ใช้กับคนที่เป็นญาติหรือพวกพ้องตนเอง
นโยบายบายที่มีความคลุมเครือในลักษณะนี้มักจะกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันบ่อยครั้งทั้งในเรื่องวิธีการปฏิบัติ นัยทางการเมือง และนัยทางศีลธรรม บางเรื่องถึงแม้จะมีการพยายามให้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเข้าไปโดยคาดหวังว่าจะสร้างความกระจ่างแก่สาธารณะและยุติข้อถกเถียง แต่กลับพบว่ายิ่งเพิ่มเติมข้อมูลข่าวสารเข้าไป กลับจะยิ่งสร้างความสงสัย ความไม่ไว้วางใจ และความขัดแย้งหนักขึ้นไปอีก เพราะว่าข้อมูลข่าวสารที่มีการให้นั้นเป็นการให้แบบเลือกสรร ซึ่งทำให้คนตีความได้ว่าเจตนาของผู้ให้ข้อมูลมีอคติและขาดความเป็นธรรม
เรื่องที่สามคือ การกระจายข้อมูลข่าวสารไม่เท่าเทียมกันในสังคม กลุ่มคนที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายใดนโยบายหนึ่งเป็นการเฉพาะมักจะมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายนั้นมาก แต่ประชาชนทั่วไปและกลุ่มอื่นๆในสังคมจะได้รับข้อมูลข่าวสารน้อยกว่า และหากเรื่องใดที่ประชาชนไม่สนใจติดตาม พวกเขาก็ยิ่งได้รับน้อยลงไปอีก ซึ่งจะทำให้ความเข้าใจต่อนโยบายของกลุ่มต่างๆในสังคมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังที่เกิดขึ้นในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทยในปี 2559 กลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเนื้อหาและผลดีผลเสียของรัฐธรรมนูญมากที่สุด แต่ประชาชนทั่วไปรับรู้และเข้าใจเพียงน้อยนิด ซึ่งทำให้การตัดสินใจลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญเบี่ยงเบนไปจากหลักการลงประชามติ ที่ควรมุ่งไปที่ผลดีและผลเสียเนื้อหา กลับกลายเป็นว่าประชาชนนำหลักเกณฑ์อื่นมาแทน เพื่อใช้ในการตัดสินลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่สี่ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาสังคมจำนวนมากมักจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับอาการของปัญหามากกว่าสาเหตุของปัญหา ดังนั้นการกำหนดนโยบายจึงมีแนวโน้มไปแก้ที่ตัวอาการของปัญหามากกว่าจะแก้ที่ตัวสาเหตุของปัญหา เช่น อาการของปัญหาความยากจนของเกษตรกรคือการมีรายได้น้อย วิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลบางประเทศมักจะมุ่งไปยังการเพิ่มรายได้แก่ประชาชน โดยการประกันและจำนำสินค้าเกษตรบ้าง หรือการแจกเงินให้เปล่าบ้าง ส่วนสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงอย่างเรื่องการผูกขาดปัจจัยการผลิตของกลุ่มทุนที่ทำให้ต้นทุนการทำเกษตรเพิ่มขึ้น การมีผลิตภาพการผลิตต่ำ การผูกขาดและไร้ประสิทธิภาพของระบบตลาด และสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุอย่างแท้จริงกลับไม่ได้รับการแก้ไข ด้วยเหตุนี้เมื่อใช้นโยบายบางอย่างสะกดอาการเอาไว้ ก็จะช่วยบรรเทาได้ชั่วคราว ครั้นเมื่อนโยบายยุติลง ปัญหาก็ยังดำรงอยู่ เพราะว่าเหตุแห่งปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขนั่นเอง
เรื่องที่ห้า ระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีอยู่ล้มเหลว บางเรื่องไม่ได้จัดเก็บ บางเรื่องจัดเก็บแบบไร้คุณภาพและขาดการตรวจสอบ บางเรื่องมีการเก็บข้อมูลแบบเลือกสรร โดยข้อมูลใดส่งผลด้านบวกต่องรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐก็มักจะเก็บเอาไว้ ส่วนข้อมูลใดที่ผู้บริหารหน่วยงานประเมินว่าส่งผลด้านลบต่อตนเองก็มักจะไม่มีการจัดเก็บ หรือจัดเก็บแต่ซ่อนเอาไว้ การทำแบบนี้ทำให้ไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงของปัญหาได้ และไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ เช่น ข้อมูลการเสียชีวิตจากอาชญากรรม ข้อมูลการสูญเสียจากการทุจริต และข้อมูลด้านทรัพยากรพลังงาน
ในบางกรณีหรือบางเรื่องมีการจัดเก็บข้อมูลโดยหลายหน่วยงาน และพบว่าข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์ในสังคมไทย การจัดเก็บข้อมูลล้มเหลวส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากความกลัวของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติในการรายงานความจริง เพราะความจริงจะประจานความไร้ประสิทธิภาพ และความล้มเหลวของหน่วยงานออกมาให้สาธารณะได้ทราบ และในบางกรณีความจริงยังทำให้สังคมได้ทราบถึงความฉ้อฉลที่คนในหน่วยงานพยายามปกปิดซ่อนเร้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใดที่หน่วยงานราชการของไทยจำนวนมาก พยายามถ่วงรั้งและไม่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณะ
ความยากไร้ของข้อมูลข่าวสารดังที่กล่าวมาจึงเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การบริหารงานและการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลประสบความล้มเหลวอย่างซ้ำซาก (ยังมีต่อ)
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
นอกจากแรงจูงใจและการใช้เหตุผลที่ผิดพลาด ซึ่งบิดเบือนการกำหนดและการนำนโยบายไปปฏิบัติ อันนำไปสู่ความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลแล้ว ประเด็นความยากไร้และด้อยคุณภาพของข้อมูลข่าวสาร ความแข็งตัวที่สถานการณ์ที่ต้องการความยืดหยุ่น การขาดความน่าเชื่อถือเพื่อสร้างความร่วมมือกับกลุ่มอื่นๆ และการบริหารที่ผิดพลาด โดยเฉพาะในรูปแบบของความหลอกลวง การทุจริต และการสิ้นเปลือง ต่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ความล้มเหลวของรัฐบาลเกิดขึ้นบ่อยครั้งทีเดียว
แม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจะตระหนักว่าข้อมูลข่าวสารมีความจำเป็นในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ แต่โดยที่การจัดทำข้อมูลข่าวสารให้มีความสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งที่มีราคาแพง ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเก็บรวบรวม การตรวจสอบความถูกต้อง การประมวล การวิเคราะห์ การประเมิน การนำไปใช้ และการทำให้ทันสมัยอยู่เสมอ จึงทำให้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐจำนวนมากเป็นข้อมูลที่ด้อยคุณภาพ และบางหน่วยงานหนักยิ่งกว่าคือการไม่มีข้อมูลข่าวสารเพื่อใช้ในการตัดสินใจและการประเมินในเรื่องที่สำคัญ
ปัญหาด้านข้อมูลข่าวสารของนโยบายมีหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องแรกคือการขาดความครบถ้วนและโปร่งใสในมิติปัญหาและทางเลือกของนโยบาย การสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะที่ดีนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลข่าวสารให้ครบถ้วนในสามมิติหลัก มิติแรกคือ มิติตัวปัญหา ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำรงอยู่ ลักษณะธรรมชาติ และสาเหตุของปัญหา ซึ่งจะต้องมีการสำรวจ จัดเก็บ รวบรวมอย่างเป็นระบบ และใช้ความรู้อย่างลึกซึ้งในการวิเคราะห์อย่างบูรณาการ มิติที่สองคือ มิติทางเลือกในการแก้ปัญหา อันได้แก่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ กลยุทธ์ มาตรการ และโครงการที่ใช้ในการแก้ปัญหา สิ่งที่รัฐบาลควรรู้ในเรื่องนี้คือ ด้านต้นทุนทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ด้านผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับของแต่ละทางเลือก และด้านผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นของทางเลือกเหล่านั้น และมิติที่สามคือประสิทธิผลของนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีการประเมินผลทั้งในส่วนปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
แต่ในความเป็นจริงที่พบบ่อยคือ การกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายมักจะมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาแบบเสี่ยงเสี้ยว จัดเก็บอย่างไม่เป็นระบบ และมีความผิดพลาดในการวิเคราะห์ การเลือกกลยุทธ์ มาตรการ และโครงการมักจะทำตามความเคยชินแบบเดิมๆ โดยไม่ได้ประเมินเรื่องต้นทุน ผลประโยชน์ และประสิทธิภาพของสิ่งเหล่านี้แต่อย่างใด ส่วนการประเมินผลก็มักจะเลือกข้อมูลข่าวสารที่ตอบสนองความพึงพอใจของหน่วยงานและผู้บริหารเสียมากกว่า
เรื่องที่สองคือข้อมูลข่าวสารมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการนิยาม ทั้งในแง่วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และแนวทางในการปฏิบัติ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติก็ไม่ชัดอีกด้วย ซึ่งส่งผลให้แต่ละหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติตีความและปฏิบัติแตกต่างกัน ส่วนการกำหนดอำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจนจะทำให้แต่ละหน่วยงาน ใช้อำนาจไปอย่างสับสน บางหน่วยอาจใช้อำนาจแบบเกินพอดี ขณะที่บางหน่วยอาจใช้อำนาจหน้าที่แบบอ่อนแอ หรือละเลยไม่ใช้เลยก็มี แต่ที่ร้ายก็คือการใช้แบบเลือกปฏิบัติ กล่าวคือใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดจัดการกับคนบางกลุ่มที่ไม่ใช่พวกพ้องญาติพี่น้องของตนเอง แต่ใช้อำนาจอย่างอ่อนนิ่มหรือจงใจไม่ใช้กับคนที่เป็นญาติหรือพวกพ้องตนเอง
นโยบายบายที่มีความคลุมเครือในลักษณะนี้มักจะกลายเป็นประเด็นถกเถียงกันบ่อยครั้งทั้งในเรื่องวิธีการปฏิบัติ นัยทางการเมือง และนัยทางศีลธรรม บางเรื่องถึงแม้จะมีการพยายามให้ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเข้าไปโดยคาดหวังว่าจะสร้างความกระจ่างแก่สาธารณะและยุติข้อถกเถียง แต่กลับพบว่ายิ่งเพิ่มเติมข้อมูลข่าวสารเข้าไป กลับจะยิ่งสร้างความสงสัย ความไม่ไว้วางใจ และความขัดแย้งหนักขึ้นไปอีก เพราะว่าข้อมูลข่าวสารที่มีการให้นั้นเป็นการให้แบบเลือกสรร ซึ่งทำให้คนตีความได้ว่าเจตนาของผู้ให้ข้อมูลมีอคติและขาดความเป็นธรรม
เรื่องที่สามคือ การกระจายข้อมูลข่าวสารไม่เท่าเทียมกันในสังคม กลุ่มคนที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายใดนโยบายหนึ่งเป็นการเฉพาะมักจะมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายนั้นมาก แต่ประชาชนทั่วไปและกลุ่มอื่นๆในสังคมจะได้รับข้อมูลข่าวสารน้อยกว่า และหากเรื่องใดที่ประชาชนไม่สนใจติดตาม พวกเขาก็ยิ่งได้รับน้อยลงไปอีก ซึ่งจะทำให้ความเข้าใจต่อนโยบายของกลุ่มต่างๆในสังคมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ดังที่เกิดขึ้นในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญไทยในปี 2559 กลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเนื้อหาและผลดีผลเสียของรัฐธรรมนูญมากที่สุด แต่ประชาชนทั่วไปรับรู้และเข้าใจเพียงน้อยนิด ซึ่งทำให้การตัดสินใจลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญเบี่ยงเบนไปจากหลักการลงประชามติ ที่ควรมุ่งไปที่ผลดีและผลเสียเนื้อหา กลับกลายเป็นว่าประชาชนนำหลักเกณฑ์อื่นมาแทน เพื่อใช้ในการตัดสินลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ
เรื่องที่สี่ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาสังคมจำนวนมากมักจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับอาการของปัญหามากกว่าสาเหตุของปัญหา ดังนั้นการกำหนดนโยบายจึงมีแนวโน้มไปแก้ที่ตัวอาการของปัญหามากกว่าจะแก้ที่ตัวสาเหตุของปัญหา เช่น อาการของปัญหาความยากจนของเกษตรกรคือการมีรายได้น้อย วิธีการแก้ไขปัญหาความยากจนของรัฐบาลบางประเทศมักจะมุ่งไปยังการเพิ่มรายได้แก่ประชาชน โดยการประกันและจำนำสินค้าเกษตรบ้าง หรือการแจกเงินให้เปล่าบ้าง ส่วนสาเหตุของปัญหาที่แท้จริงอย่างเรื่องการผูกขาดปัจจัยการผลิตของกลุ่มทุนที่ทำให้ต้นทุนการทำเกษตรเพิ่มขึ้น การมีผลิตภาพการผลิตต่ำ การผูกขาดและไร้ประสิทธิภาพของระบบตลาด และสาเหตุอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุอย่างแท้จริงกลับไม่ได้รับการแก้ไข ด้วยเหตุนี้เมื่อใช้นโยบายบางอย่างสะกดอาการเอาไว้ ก็จะช่วยบรรเทาได้ชั่วคราว ครั้นเมื่อนโยบายยุติลง ปัญหาก็ยังดำรงอยู่ เพราะว่าเหตุแห่งปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขนั่นเอง
เรื่องที่ห้า ระบบจัดเก็บข้อมูลที่มีอยู่ล้มเหลว บางเรื่องไม่ได้จัดเก็บ บางเรื่องจัดเก็บแบบไร้คุณภาพและขาดการตรวจสอบ บางเรื่องมีการเก็บข้อมูลแบบเลือกสรร โดยข้อมูลใดส่งผลด้านบวกต่องรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐก็มักจะเก็บเอาไว้ ส่วนข้อมูลใดที่ผู้บริหารหน่วยงานประเมินว่าส่งผลด้านลบต่อตนเองก็มักจะไม่มีการจัดเก็บ หรือจัดเก็บแต่ซ่อนเอาไว้ การทำแบบนี้ทำให้ไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงของปัญหาได้ และไม่อาจแก้ไขปัญหาได้ เช่น ข้อมูลการเสียชีวิตจากอาชญากรรม ข้อมูลการสูญเสียจากการทุจริต และข้อมูลด้านทรัพยากรพลังงาน
ในบางกรณีหรือบางเรื่องมีการจัดเก็บข้อมูลโดยหลายหน่วยงาน และพบว่าข้อมูลของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตในอุบัติเหตุทางรถยนต์ในสังคมไทย การจัดเก็บข้อมูลล้มเหลวส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากความกลัวของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติในการรายงานความจริง เพราะความจริงจะประจานความไร้ประสิทธิภาพ และความล้มเหลวของหน่วยงานออกมาให้สาธารณะได้ทราบ และในบางกรณีความจริงยังทำให้สังคมได้ทราบถึงความฉ้อฉลที่คนในหน่วยงานพยายามปกปิดซ่อนเร้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใดที่หน่วยงานราชการของไทยจำนวนมาก พยายามถ่วงรั้งและไม่ยินยอมเปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณะ
ความยากไร้ของข้อมูลข่าวสารดังที่กล่าวมาจึงเป็นสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้การบริหารงานและการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลประสบความล้มเหลวอย่างซ้ำซาก (ยังมีต่อ)