xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมรัฐบาลล้มเหลวบ่อยครั้ง (4): ไร้ความยืดหยุ่นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

เงื่อนไขทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อการเกิดและนิยามปัญหานโยบายไม่เคยหยุดนิ่ง การเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้น บางครั้งการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ในการดำรงรักษาให้นโยบายบรรลุประสิทธิผล ผู้กำหนดนโยบายซึ่งปรารถนาหลีกเลี่ยงความผิดพลาดจำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป้าประสงค์ แนวทาง และกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงให้ได้

การดำเนินการปรับปรุงเป้าประสงค์และกลยุทธ์ถือว่าเป็นการ “ต่อต้านความเปราะบาง” ของนโยบาย เพราะว่านโยบายจำนวนมากถูกกำหนดขึ้นมาภายใต้สภาพแวดล้อมแบบหนึ่ง วัตถุประสงค์และกลยุทธ์ก็ถูกกำหนดขึ้นมาภายใต้สภาพแวดล้อมดังกล่าว เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปความเปราะบางของนโยบายก็เกิดขึ้น ทำให้เป้าประสงค์แบบเดิมไม่เหมาะสมอีกต่อไป และกลยุทธ์ที่คิดว่าเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการนำไปสู่เป้าประสงค์ก็อาจกลายเป็นเครื่องมือที่ไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง

การต่อต้านความเปราะบาง เป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษภายในระบบที่ซับซ้อนของนโยบาย มิฉะนั้นแล้วความล้มเหลวก็มีแนวโน้มมาเยือนในไม่ช้า ทว่า รัฐบาลทั้งระดับชาติและท้องถิ่นมีแนวโน้มไม่ได้ตระเตรียมความพร้อมทางความคิด แนวทางและกลไกในการรับมือกับความเปราะบางที่อาจเกิดขึ้น วิกฤติการณ์จึงมักปรากฏตามมาเสมอ

นโยบายสาธารณะจำนวนมากถูกขับเคลื่อนโดยความคาดหวังของสาธารณะ กลุ่มที่มีบทบาทสำคัญการในการสร้างและเสริมพลังนโยบายสาธารณะมักจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ กลุ่มผลประโยชน์ และกลุ่มประชาสังคม ความคาดหวังต่อนโยบายสาธารณะบางอย่างมีการสะสมมาอย่างยาวนานจนหยั่งลึกลงเป็นแบบแผนทางความคิดและการปฏิบัติ จนกระทั่งกลายเป็นข้อจำกัดการเกิดขึ้นของทางเลือกเชิงนโยบายแบบใหม่ๆ

ทางเลือกและแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบเดิมจึงมักจะถูกหยิบมาใช้ด้วยความเคยชิน ซึ่งเราสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ที่ตามมาได้ว่าจะเป็นแบบใด การรักษาสถานภาพแบบเดิมจึงมักจะเป็นทางเลือกที่ผู้กำหนดนโยบายและผู้นำนโยบายไปปฏิบัติชื่นชอบ เพราะพวกเขาไม่อยากจะเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง เรียกว่าหากของเก่ายังพอใช้ได้อยู่ แม้ว่าจะทราบดีว่าไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่ำ ก็ยังคงใช้ของเก่าต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดปัญหาอย่างรุนแรงขึ้นมาจึงค่อยคิดเปลี่ยนแปลง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ นโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุทุกคนที่ไม่อยู่ในระบบสวัสดิการที่เป็นทางการ ภายใต้แนวทางเช่นนี้ผู้สูงอายุทุกคนไม่ว่ายากจนหรือร่ำรวยเพียงใด ก็จะได้รับเงินเบี้ยยังชีพเท่ากัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ใช้งบประมาณอย่างไร้ประสิทธิภาพ ไม่คุ้มค่า และไม่บังเกิดประสิทธิผล เพราะว่าเม็ดเงินถูกกระจายไปจนกระทั่งคนชราที่ยากจนจริงๆได้รับไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ส่วนคนชราที่ร่ำรวย เงินที่ได้รับเป็นเพียงเศษเงินที่เกินความจำเป็น แต่หากรัฐบาลปรับปรับแนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพเสียใหม่เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ก็อาจจะได้รับการต่อต้านจากคนบางกลุ่มด้วยเหตุผลหลากหลายประการ การใช้แนวทางเดิมจึงดูเป็นเรื่องที่ปลอดภัยและไม่สร้างความยุ่งยากแก่รัฐบาล

อย่างไรก็ตามความคาดหวังของสาธารณะต่อประเด็นหนึ่งๆ ก็อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยผู้นำประเทศเสนอความคิดและแนวทางแบบใหม่ขึ้นมา และสาธารณะให้การยอมรับ แต่ทั้งนี้ ผู้นำประเทศจะต้องมีความเฉลียวฉลาด มีความกล้าหาญเพียงพอ มีทักษะในการปรับเปลี่ยนความคาดหวังของสาธารณะแบบเดิมที่ไม่สมเหตุสมผลให้กลายเป็นความคาดหวังที่สมเหตุสมผลมากขึ้น และมีสามารถจัดการกับเครือข่ายอำนาจและพวกพ้องของตนเองที่ยังมีแบบแผนความคิดเดิมซึ่งยึดติดกับผลประโยชน์เฉพาะตัวเฉพาะกลุ่ม ให้ยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อผลประโยชน์ของประเทศ

การปรับเปลี่ยนนโยบายมีความท้าทายสำคัญที่ทำให้เกิดขึ้นได้ยากในระบบการเมืองปกติ นั่นคือ การที่นักการเมืองผู้มาจากการเลือกตั้งมักจะมุ่งเน้นให้ความสนใจกับสถานการณ์ระยะสั้นเฉพาะหน้าที่พวกเขาเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการมุ่งแก้ปัญหาร้อนๆและทำท่าว่าจะกลายเป็นวิกฤติที่กระทบต่อความนิยมและเสถียรภาพรัฐบาล พวกเขามักจะเลือกดำเนินการกับปัญหาในลักษณะนั้น มากกว่าที่จะเน้นนโยบายระยะยาวในการจัดการกับปัญหา ด้วยเหตุนี้การบริหารงานของรัฐบาลจึงเต็มไปด้วยนโยบายที่ล้าสมัย ซึ่งแนวทางและกลยุทธ์ที่ใช้มักจะผิดยุคผิดสมัย แม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปมากมายเพียงใด แต่พวกเขาก็มักจะมีแนวโน้มที่จะยึดติด คิดและทำแบบเดิมๆอยู่ร่ำไป

ในสังคมไทยมีนโยบายที่ล้าสมัย ผิดยุคผิดสมัย ไม่ยืดหยุ่น ไม่เปลี่ยนแปลงอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้ปัญหาต่างๆที่นโยบายเหล่านั้นมุ่งหวังจะเข้าไปแก้ไขไม่สามารถบรรลุเป้าประสงค์ได้ นโยบายการศึกษาล้าสมัย นโยบายพลังงานผิดยุคผิดสมัย นโยบายเกษตรก็ล้าหลัง นโยบายสังคมก็ยังติดอยู่กับกรอบคิดแบบเดิม นโยบายการแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางบกก็เป็นแบบเต่าล้านปี เป็นอาทิ

การกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและหน่วยงานราชการไทยจำนวนมากยังหลงติดกับกรอบการวิเคราะห์สังคมไทยแบบเดิม ที่มองว่าสังคมไทยเป็นสังคมชนบทดังในอดีต ดังนั้นเมื่อคิดนโยบายและกลยุทธ์ก็จะคิดรากฐานของกรอบความคิดแบบนั้น หรือแม้ว่าบางหน่วยงานจะมีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถนำเอาสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปเชื่อมโยงกับเป้าประสงค์และกลยุทธ์ได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม

นโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล กระทรวง กรม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆจึงมีแนวโน้มอยู่ในลักษณะที่ว่า ในส่วนวิเคราะห์สถานการณ์พอจะเห็นถึงการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสังคมอยู่บ้าง แต่พอถึงคราวการกำหนดเป้าประสงค์และกลยุทธ์กลับคิดไม่ออกว่าจะต้องปรับอย่างไร จึงมีแนวโน้มหันกลับไปใช้นโยบายและกลยุทธ์แบบเดิมๆ ที่เคยใช้เมื่อครั้งสังคมไทยยังเป็นชนบทอยู่

อย่างเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หน่วยงานส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทราบดีว่า สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว จึงมีความพยายามในการกำหนดนโยบายและกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุอย่างขนานใหญ่ แต่ทว่ากรอบคิดของการกำหนดนโยบายกลับมีแนวโน้มไปจมอยู่ในกรอบคิดที่ว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในชนบท การจัดทำกลยุทธ์และแผนงานจึงเกิดขึ้นภายใต้กรอบของความเป็นชนบท ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้สูงอายุจำนวนมหาศาลอยู่ในเมือง กลุ่มผู้สูงอายุในเขตเมืองจึงมักจะเป็นกลุ่มที่ถูกลืม เราจึงมักได้ยินข่าวบ่อยๆว่า มีผู้สูงอายุในเมืองนอนเสียชีวิตในบ้านและคอนโดมิเนียมหลายวันกว่าจะมีคนทราบ

บางครั้งแม้ว่า หน่วยงานของรัฐจะรับรู้ว่าผู้สูงอายุอาศัยในเขตเมืองเป็นจำนวนมาก แต่ปัญหาคือหน่วยงานเหล่านั้นมีข้อจำกัดในการคิดนโยบายและกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อดำเนินการกับกลุ่มผู้สูงอายุในเขตเมืองได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพียงพอ เพราะว่าพวกเขายึดติดกับแบบแผนความคิดและกลยุทธ์แบบเดิมๆที่นำไปใช้ในชนบทนั่นเอง

นโยบายจราจรก็เช่นเดียวกัน คิดได้แต่การเพิ่มค่าปรับผู้ทำผิดกฎหมายจราจรและเพิ่มเครื่องมือในการตรวจจับและปรับผู้ทำผิดกฎจราจร ส่วนแนวทางและกลยุทธ์ในการสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหาอุบัติเหตุจราจรและทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างมีประสิทธิผลเหมือนกับประเทศอื่นๆกลับคิดกันไม่ค่อยได้ หรืออาจไม่อยากคิดก็เป็นไปได้

การความความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับเปลี่ยนนโยบายและกลยุทธ์ให้เหมาะสม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเทคโนโลยี และการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดการยอมรับและนำไปปฏิบัติให้เกิดประสิทธิผลเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้นโยบายประสบความสำเร็จ แต่หากนโยบายใดไม่สามารถกระทำได้ ก็เลี่ยงไม่พ้นความล้มเหลวที่จะตามมา


กำลังโหลดความคิดเห็น