ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำสั่ง กทม.ที่ให้อดีต รมว.มหาดไทยชดใช้ค่าเสียหายในโครงจัดซื้อรถเรือดับเพลิง กทม. 1,434 ล้าน เหตุไม่พบจงใจประมาทเลินเล่อตามที่ ป.ป.ช.ชี้มูล
วันนี้ (27 ก.ย.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานครที่เรียกให้นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,434,463,937.07 บาท จากกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลว่าเป็นผู้กระทำทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย เกี่ยวกับการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร ในราคาที่สูงเกินความเป็นจริงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ
โดยศาลปกครองเห็นว่า บันทึกข้อตกลงความเข้าใจ ( A.O.U.)เรื่องการจัดหารถและเรือดับเพลิง ฯระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐออสเตรีย ลงวันที่ 30 ก.ค. 2547 เป็นเพียงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่การทำสัญญาซื้อขายกันอีกครั้งหนึ่ง โดยคู่สัญญาจะต้องไปปรับปรุงรายละเอียดของสินค้าให้เป็นไปตามที่ครม.กำหนดภายในกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติ และเป็นเพียงกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ จึงมิได้ก่อให้เกิดพันธะผูกพันทางกฎหมายอันจะทำให้เป็นสนธิสัญญาตามคำนิยามของอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ซึ่งแม้นายโภคินได้ลงนามใน A.O.U.โดยไม่มีอำนาจ แต่ปรากฏต่อมาภายหลังว่ากระทรวงมหาดไทมีหนังสือลงวันที่ 16 ส.ค. 2547 ขออนุมัติ ครม.เพื่อก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พร้อมแจ้งว่านายโภคินได้ลงนาม A.O.U.ในเรื่องการจัดการรถและเรือดับเพลิงฯ ให้กับ กทม. กับเอกอัครราชทูตออสเตรียประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2547 แล้ว และในวันที่ 17 ส.ค. 2547 มีการนำ A.O.U. ที่ รมว.มหาดไทยลงนามให้ ครม.ดูไม่มีใครคัดค้าน รวมทั้งวันที่ 24 ส.ค. 2547 ครม.ยังอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการก่อนหนี้ผูกพันข้ามปีในโครงการดังกล่าวจึงเชื่อได้ว่า ครม.เห็นชอบในตัวบุคคลที่ลงนามใน A.O.U.แล้วตั้งแต่วันที่อนุมัติโครงการและถือว่านายโภคินลงนามโดย ครม.ได้ให้สัตยาบันแก่การลงนามนั้นแล้ว
ส่วนการลงนามใน A.O.U. โดยไม่ได้ระบุเรื่องการค้าต่างตอบแทนก็ไม่เห็นว่าเป็นการขัดต่อมติครม.วันที่ 22 มิ.ย. 2547 เพราะข้อความที่ระบุใน A.O.U.เป้นเพียงหลักการ ส่วนรายละเอียดการซื้อขายสินค้า จำนวน ราคา การส่งมอบจะกำหนดในสัญญาซื้อขายอีกฉบับนึ่ง ขณะที่การค้าต่างตอบแทนกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพานิชย์ต้องดำเนินการภายใต้หลักปฏิบัติตามประกาศกระทรวงพานิชย์ เรื่องแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินการค้าต่างตอบแทนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องระบุเรื่องการค้าต่างตอบแทนใน A.O.U นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเอกสาร Offer No. 870/04/03/58-1 ฉบับที่ Mr.Mario Minar อดีตรองประธานบริหารบริษัทสไตเออร์ ส่งมาซึ่งเป็นเอกสารที่ส่งถึงนายสมัคร สุนทรเวช ผูู้ว่าฯกทมขณะนั้น เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2547 โดยตรงพร้อมกับคำเบิกความของ พ.ต.ท.รักศิลป์ รัตนวราหะผู้รับผิดชอบในการรวบรวมเอกสารและดำเนินโครงการ มีความสอดคล้องกันว่า ก่อนลงนาม A.O.U. นายโภคินไม่เคยได้รับเอกสาร Offer No. 870/04/03/58-1 จาก บริษัท สไตเออร์ฯ
และที่อ้างว่าผู้ว่าฯ กทม.มีหนังสือขอให้นายโภคินทบทวนการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงตามโครงการดังกล่าวแต่นายโภคินกับไม่ปฏิบัติหน้าที่ใตนการควบคุมดูแลให้ กทม.ปฏิบัติตามภารกิจที่กฎหมายกำหนดนั้น เห็นว่าแม้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร มาตรา 123 จะให้ รมว.มหาดไทยมีอำนาจหน้าที่ควบคุม ดูแลการปฏิบัติงานของกทม.และสั่งยับยั้งการปฏิบัติราชการของผู้ว่าฯ กทม.กรณีพบมีการทำขัดกฎหมาย มติครม. หรืออาจทำให้ราชการเสียประโยชน์ แต่โดยข้อเท็จจริงอำนาจหน้าที่การบริหารจัดการเงินงบประมาณในโครงการดังกล่าวทั้งหมดเป็นของ กทม. โดยผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่เป็นอำนาจของรมว.มท. ซึ่งนายโภคินได้มีหนังสือลงวันที่ 22 ต.ค. 2547 แจ้ง รมว.พาณิชย์ว่า ผู้ว่าฯ กทม.ขอให้ทบทวนความถูกต้องในการจัดซื้อโดยเฉพาะกรณีสัญญาการค้าต่างตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน แต่ได้รับแจ้งกลับว่า ตามประกาศกระทรวงพานิชย์ เรื่องแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการค้าต่างตอบแทน 2547 ข้อ 6 มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันการบิดพลิ้วเกี่ยวกับสัญญาการค้าต่างตอบแทน เมื่อได้มีการทำสัญญาการค้าต่างตอบแทนแล้วจึงไม่นำความข้อ 6 ของประกาศดังกล่าวมาบังคับการจัดซื้อครั้งนี้ ซึ่งนายโภคินก็ได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่ากทม. ว่าการจัดซื้อดังกล่าวดำเนินการระหว่างรัฐต่อรัฐ มีการลงนามใน A.O.U ที่ผ่านขั้นตอนการพิจาณาความถูกต้องตามหลักเกณฑ์แล้วและได้มีการลงนามสัญญาแล้ว การที่มีผู้ยื่นร้อง ป.ป.ช.จึงเป็นเรื่องที่ ป.ป.ช.ต้องดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ของตน
“จึงเห็นได้ว่า นายโภคินได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้กำกับดูแลในระบบความสัมพันธ์ระหว่างราชการบริหารส่วนกลางและท้องถิ่นตามหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่นในการบริหารจัดการเท่าที่จำเป็น เพื่อคุ้มครองประโยชน์ประชาชนในท้องถิ่นตามสมควรแล้ว ศาลจึงเห็นว่า นายโภคินไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำต่อ กทม.โดยผิดกฎหมาย หรือทำให้ กทม.ได้รับความเสียหายแก่ทรัพย์สิน จึงไม่ได้ทำละเมิดและไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 1,434,463,937.07 บาท รวมทั้งค่าเสียหายอื่นๆ และค่าเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ กทม.ได้ขอสงวนสิทธิที่จะเรียกร้องให้ชดใช้เพิ่มเติมภายหลังจึงพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง กทม.ที่ 1365/2557 ลงวันที่ 21 เม.ย. 2557 ที่เรียกให้นายโภคินชดใช้ค่าสินไหมดังกล่าว โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว”