xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ลากไส้ “บีบีซีไทย” สันดานนักล่าอาณานิคม หรือหิวเงินรับงานใครมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพบรรยากาศการเสวนาหัวข้อ “สื่อไทยมีเสรีภาพเพียงใดในปัจจุบัน” เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก โดยมี นพพร วงศ์อนันต์ (ที่สามจากซ้าย) ร่วมกับ จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ประชาไท และ อนุธีร์ เดชเทวพร ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี ร่วมเป็นผู้อภิปราย เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2559
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “British Broadcasting Corporation - บรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ” หรือที่รู้จักกันในนาม “บีบีซี” ถือเป็นสำนักข่าวที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และตลอดกว่าศตวรรษที่ผ่านมาก็ได้รับการยอมรับในความเป็น “สื่อมวลชนมืออาชีพ” แม้จะเป็นที่รู้กันว่าสำนักข่าวแห่งนี้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลอังกฤษ โดยเฉพาะด้านการต่างประเทศก็ตาม

แต่พลันที่เว็บไซต์ “บีบีซีไทย” ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา นำเสนอรายงานพิเศษในลักษณะจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูงของไทย จึงมีคำถามไปถึงทั้ง “บีบีซีใหญ่” และ “บีบีซีไทย” ว่ามีวัตถุประสงค์ซ่อนเร้นประการใด จึงหาญกล้าหยามเหยียดจิตใจคนไทยทั้งประเทศเช่นนั้น

ทั้งนี้ “บีบีซีไทย” นั้นมีข้อมูลยืนยันว่า ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลอังกฤษผ่าน “บีบีซีเวิลด์เซอร์วิส” และได้เริ่มเปิดให้บริการข่าวสารผ่านเฟซบุ๊กมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 หลังเกิดรัฐประหารในประเทศไทยไม่นาน ก่อนที่จะเปิดเว็บไซต์ตามที่กล่าวไปแล้ว

...ก่อนหน้าที่จะมีประเด็นเรื่อง “บทความต้องห้าม” นั้น บทบาทของ “บีบีซี” ในไทยก็มีเครื่องหมายคำถามมาก่อนแล้ว โดยเฉพาะบทบาทของ “โจนาธาน เฮด” ผู้สื่อข่าวประจำภูมิภาคเอเชียของบีบีซี และดูแลข่าวที่เกี่ยวกับประเทศไทยด้วย ก็ถูกจับตามองมาโดยตลอดว่า มีแนวทางการนำเสนอข่าวที่ส่อไปในทางสนับสนุนปกป้อง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี และพวก ตลอดจน “คนเสื้อแดง” อย่างชัดเจน รวมไปถึงการ
สำคัญไปกว่านั้น “โจนาธาน เฮด” ผู้นี้ยังเคยถูกดำเนินคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฐานหมิ่นสถาบันเบื้องสูงของไทยมาแล้ว และเมื่อ “บีบีซีไทย” เผยแพร่บทความที่ว่าออกมา หน้าของ “โจนาธาน เฮด” ก็ลอยขึ้นช่วยเพิ่มน้ำหนักของการ มี “วาระซ่อนเร้น” เข้าไปอีก

นพพร วงศ์อนันต์ บรรณาธิการเว็บไซต์บีบีซีไทย

ตามมาด้วยชื่อของ นพพร วงศ์อนันต์ ที่ปรากฎชื่อเป็นบรรณาธิการบีบีซีไทย เป็น “นพพร” อดีตบรรณาธิการนิตยสาร ฟอร์บส์ ไทยแลนด์ และมีชื่อเสียงในการสร้างผลงานบิดเบือนเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงมาแล้วเช่นกัน

“ผมตื่นเต้นและภูมิใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัลที่สำคัญครั้งนี้” คือคำให้สัมภาษณ์ของ “บก.นพพร” ถึงงานใหม่ที่เว็บไซต์ www.bbcthai.com

“สุทิน วรรณบวร” สื่อมวลชนอาวุโส ซึ่งเคยทำงานให้กับสื่อระดับโลกหลายสำนักตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ "Sutin Wannabovorn" ว่า รู้จักและติดตามผลงานของ “นพพร” มานาน เมื่อครั้งทำงานอยู่ที่สำนักข่าวรอยเตอร์ “นพพร” เคยบินเดี่ยวไปสัมภาษณ์ “ทักษิณ” ที่ต่างประเทศ ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์นักข่าวที่ได้รับความไว้วางใจจาก “ทักษิณ” เป็นพิเศษ อีกทั้งเมื่อสมัย “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นนายกฯ “นพพร” ลงทุนบินไปประเทศสิงคโปร์เพื่อสอบถามเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ซึ่งกำลังเป็นประเด็นข่าวในตอนนั้นกับ “อภิสิทธิ์” โดยเฉพาะ ก่อนนำมาขยายความในประเทศไทย ดีที่รัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เรื่องดังกล่าวถึงเงียบไป และสมัยเป็นบรรณาธิการที่ฟอร์บส์ “นพพร” ก็เคยถูกโจมตีเรื่องการบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

“...ท่านที่อ่านข่าว บีบีซี โปรดเข้าใจว่าทุกอย่างไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หรือเผอเรอ แต่มันเป็นความเชื่อ เป็นอุดมการณ์ ของนายนพพร” สุทินขมวดปมไว้เช่นนี้

“สุทิน วรรณบวร” ยังมาขยายความเกี่ยวกับ “สำนักข่าวบีบีซี” ผ่านคอลัมน์ “ทวนกระแสข่าว” ในหนังสือพิมพ์แนวหน้า หัวข้อ “บีบีซีไทยไม่ใช่สื่อ มันคือหน่วยงานปฏิบัติการข่าว” ช่วงหนึ่งระบุว่า “บีบีซีจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2465 ในรูปของรัฐวิสาหกิจที่ รัฐบาลราชอาณาจักรอังกฤษเป็นเจ้าของ ภารกิจหลักคือ เสนอข่าว ทั่วไปทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อผู้บริโภคข่าวสารในเครือจักรภพ ส่วนบีบีซีที่เป็นภาษาท้องถิ่น ทั้งวิทยุ ทีวี และสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าภาษาพม่า ภาษาไทย และภาษาอื่นๆ ทั่วโลก มีภารกิจหลักคือปฏิบัติการข่าว ปฏิบัติการจิตวิทยามวลชน เช่นเดียวกับที่เคยทำในศตวรรษที่ 19-20 แต่ต่างกันเพียงใช้วิทยาการเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่เข้ามาแทนที่ เปลี่ยนผ่านจากระบบ อานาล็อก มาเป็นดิจิทัล มาเป็นโซเชียลมีเดีย เป็นเว็บไซต์ เป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์”

ทั้งยังยกตัวอย่าง “บีบีซีโมเดล” ที่รัฐบาลอังกฤษส่งเข้าไปปฏิบัติการข่าว-จิตวิทยามวลชน ทำลายศรัทธาสถาบันมหากษัตริย์ราชอาณาจักรพม่า จนต้องปิดฉากที่ พระเจ้าสีปอ หรือพระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้าย แห่งราชวงศ์คองบอง เมื่อ 131 ปีก่อน

เมื่อประมวลดูแล้วก็คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า มีการตระเตรียมแผนการเพื่อดำเนิน “โมเดลเดิม” มาพอสมควร สำนักข่าวบีบีซีไทยจึงเลือก “ปล่อยของ” ในห้วงเวลาสำคัญ “โดยตั้งใจ” เพราะบทความดังกล่าวนั้น มีการเผยแพร่ในเวอร์ชันภาษาอังกฤษผ่านเว็บหลักของสำนักข่าวบีบีซีในต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว และมีการวิพากษ์วิจารณ์ในวงแคบๆ เท่านั้น เพราะไม่มีการเผยแพร่ในไทย การที่ “บีบีซีไทย” ปล่อยเวอร์ชันภาษาไทยออกมาโดยเลือกห้วงเวลาหรือ “ไทมมิ่ง” หลังจากเหตุการณ์สำคัญ จึงมั่นใจได้ว่ามี “นัยซ่อนเร้น” แบบปิดไม่อยู่

สำนักข่าวบีบีซีไทยชี้แจงที่มาของบทความฉาวโฉ่ว่า เป็นเพียงฉบับแปลมาจากฉบับภาษาต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะอย่างน้อยเมื่อแปลบทความเป็นภาษาไทยแล้ว ใครอ่านก็รู้ว่า “เล่นแรง” แต่ “นพพร” ในฐานะบรรณาธิการ ก็ยังปล่อยออกสู่สายตาสาธาณชน แรงไม่แรงดูได้จากคำเตือนของ “แดงตัวพ่อ - เพจล้มเจ้า” ที่บอกกับสาวกว่า อย่าริกดแชร์ หรือเผยแพร่ต่อ เพราะอาจมี “พิซซ่า 112” มาเสิร์ฟถึงหน้าบ้าน เช่นกรณี “ไผ่ ดาวดิน” ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ จับกุม เนื่องจากการแชร์ “บทความต้องห้าม” ของสำนักข่าวบีบีซีไทยนั่นเอง ตามที่มีนายทหารสังกัดมณฑลทหารบกที่ 23 จ.ขอนแก่น ไปแจ้งความต่อ สภ.เมืองขอนแก่น ไว้

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบ “เวอร์ชันไทย” กับ “เวอร์ชันอังกฤษ” ก็จะเห็นได้ชัดว่าฉบับที่เผยแพร่เป็นภาษาต่างประเทศนั้นใช้สำนวนที่ “นุ่มนวล” กว่าฉบับภาษาไทยพอสมควร จนอาจจะสรุปได้ว่า “ต้นฉบับ” ที่แท้จริงนั้นเป็นภาษาไทย เพียงแต่มีการเผยแพร่เวอร์ชันภาษาอังกฤษในต่างประเทศไปก่อน

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอีกว่า “บก.นพพร” มีคอนเนกชั่นแอบอิงอยู่กับ “กลุ่มคน” ที่มีจุดยืนไปในทิศทางเดียวพอสมควร โดยเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2559 สมัยที่เขายังเป็นรองบรรณาธิการอยู่ที่บางกอกโพสต์ ได้ไปร่วมเป็นผู้อภิปรายในการเสวนาหัวข้อ “สื่อไทยมีเสรีภาพเพียงใดในปัจจุบัน” เนื่องในวันเสรีภาพสื่อโลก โดยผู้อภิปรายรายอื่นๆ ได้แก่ “จีรนุช เปรมชัยพร” ผู้อำนวยการเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ประชาไท “กุลชาดา ชัยพิพัฒน์” เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) และ “อนุธีร์ เดชเทวพร” ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี มี “สตีฟ เฮอร์แมน” กรรมการบริหารสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยและเป็นหัวหน้าสำนักข่าวประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของวอยซ์ออฟอเมริกา เป็นผู้ดำเนินรายการ

ศรัณย์ ฉุยฉาย หรือ “อั้ม เนโกะ”, แอนดรูว์ แมคเกรเกอร์ มาร์แชลล์, จรรยา ยิ้มประเสริฐ และ Dr.Serhat

แถมวันนั้นมี “กลิน เดวี่ส์” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และภริยา ให้เกียรติไปเป็น “แขกวีไอพี” รับฟังการเสวนาด้วย 

เอ่ยชื่อและสังกัดของแต่ละคนที่ไปร่วมงานวันนั้นแล้ว แทบจะไม่ต้องบอกจุดยืนต่อสถาบันฯด้วยซ้ำ ทั้งเว็บไซต์ประชาไท สำนักข่าววอยซ์ทีวี พ่วงด้วย “ท่านทูตเดวีส์” ที่แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์กับทางการไทย พร้อมเคย “ล้ำเส้น” พูดเรื่องสถาบันมาแล้ว

อีกทั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2559 นี่เอง เว็บไซต์ “บีบีซีใหญ่” ก็ได้เผยแพร่บทความ “Viewpoint: Did Thai king help stifle democracy?” โดย Dr.Serhat Ünaldi นักวิชาการจาก Humboldt-Universität zu Berlin ซึ่งมีความสนิทสนมกับกลุ่มผู้ต้องกากระทำความผิดมาตรา 112 ของไทยที่หลบหนีไปอยู่ในต่างประเทศยุโรป ทั้ง “ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ - จรัล ดิษฐาอภิชัย - อั้ม เนโกะ - จรรยา ยิ้มประเสริฐ - แอนดรูว์ แมคเกรเกอร์ มาร์แชลล์”

โดยบทความ “Viewpoint: Did Thai king help stifle democracy?” นั้น พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานข่าวกรองแห่งชาติ ได้โพสต์เฟซบุ๊กไว้ในในหัวข้อ “Ugly BBC สื่อหรือบริษัทล็อบบี้ยิสต์ที่ไม่มีคุณธรรม” ระบุว่า “บทความนี้กล่าวหาทหารและสถาบันฯ อย่างรุนแรงหลายประเด็นด้วยมุมมองที่สวมแว่นตาสีแดง และมุมมองของฝรั่งโง่ๆ ที่ไม่เคยเข้าใจวัฒนธรรมของชาวตะวันออกเลย และยังไม่เข้าใจถึงการพัฒนาเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย ทั้งๆ ที่น่าจะเข้าใจดี เพราะ BBC ทำหน้าที่สื่อมวลชน และเสนอข่าวยิงทหาร, เผาบ้านเผาเมืองมาตลอดเวลา แต่กลับเขียนข่าวบิดเบือนออกมาได้ขนาดนี้”

ไม่เพียงแต่เรื่อง “ไต่เส้น” ที่เกี่ยวกับสถาบันเท่านั้น การนำเสนอข่าวของ “บีบีซีไทย” ผ่านเฟซบุ๊กตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ก็นำเสนอข้อมูลในลักษณะอยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มาโดยตลอด และมักจะออกลูก “เชลียร์” เสมอเมื่อมีข่าวของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และความเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง

และพอเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาทาง “บีบีซีไทย” ก็แก้เกมโดยการปิดสำนักงานชั่วคราว เมื่อครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปเยือนเพื่อขอข้อมูลประกอบการดำเนินคดีที่อาคารมณียา ย่านราชประสงค์ ซึ่งไม่ปรากฎว่าใครอยู่ที่สำนักงาน โดยมีการระบุว่า สำนักงานแห่งนี้ได้ปิดตัวลงเพื่อปรับปรุงมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่ “นักข่าวคนหนึ่ง” ของบีบีซีไทยจะโพสต์ข้อความผ่านสังคมออนไลน์ว่า เป็นนโยบายของผู้บริหารที่ได้สั่งให้พนักงานไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เพื่อความปลอดภัยของนักข่าวและช่างภาพ หลังจากที่มีการเผยแพร่บทความเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

จากนั้น “บีบีซีไทย” ก็ยังมีความเคลื่อนไหวผ่านเวบไซต์และเฟซบุ๊ก แต่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เสนอข่าวและบทความเรื่องอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับประเทศไทย ในอารมณ์กลบเกลื่อนความผิดที่ตัวเองก่อไว้ พร้อมกับการ “ฟ้องโลก” โดยการออกคำแถลงตอบโต้ทางการไทย ยืนยัน “บทความต้องห้าม” ไม่มีสิ่งใดขัดต่อจรรยาบรรณในการนำเสนอข่าว อวดโอ้ด้วยว่าใช้หลักความเป็นอิสระ ยึดความถูกต้องในการทำหน้าที่สื่อ และประโคมข่าวว่าสื่อทั่วโลกพร้อมใจการเสนอข่าวที่ทางการไทยที่เตรียมดำเนินคดีกับบีบีซีไทยตามมาตรา 112 ฐานหมิ่นสถาบัน ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วก็ไม่พบว่ามีสำนักข่าวระดับโลกแห่งใดรายงานข่าวที่ว่านี้เลย

เมื่อถอดรหัสจากแถลงการณ์ของทางสำนักข่าวบีบีซีไทย ก็ได้ความประมาณว่า “ไปไหนมา สามวาสองศอก” เนื่องจากไม่ได้คลายปมสงสัยของคนไทยทั้งประเทศที่อยากรู้เจตนาในการเสนอบทความที่โจมตีสถาบันเบื้องสูงของไทย อีกทั้งยังเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย

ทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่วิสัยของ “สื่อมืออาชีพ” หากแต่เหมือน “สื่อหิวเงิน” ที่ไปรับงานใครมาจนไปร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการบ่อนทำลายประเทศไทย หรือจะเป็นสันดานเดิมๆของ “นักล่าอาณานิคม” ในอดีตก็ไม่ทราบได้
 




กำลังโหลดความคิดเห็น