ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2559 “พระอุดมญาณโมลี” หรือ “หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป”เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมืองฯ จ.อุดรธานี พระมหาเถระสายพระป่ากรรมฐาน ศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ได้ละสังขารโดยสงบ ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ หลังเข้ารักษาอาการอาพาธ สิริอายุรวม 105 ปี
หลวงปู่จันทร์ศรี ถือเป็นแม่ทัพธรรมแห่งอีสานฝ่ายวิปัสสนาธุระ เป็นพระผู้มากด้วยเมตตาที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากสาธุชนทั่วไปกล่าวขานด้วยความเคารพอย่างสูงว่า “หลวงปู่ใหญ่”
หลวงปู่จันทร์ศรี ถือเป็น “รองสมเด็จพระราชาคณะ” ที่มีเป็นพระมหาเถระ สายพระป่ากรรมฐานอายุมากที่สุดในปัจจุบัน โดยได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระอุดมญาณโมลี” โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชศรัทธาต่อหลวงปู่จันทร์ศรีมาโดยตลอด แม้ขณะที่ทรงพระประชวร ก็ยังทรงระลึกถึงหลวงปู่จันทร์ศรีเสมอ โดยเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายศุภชัย ภู่งาม องคมนตรี เชิญเครื่องหอมพระราชทาน 1 ตะกร้า ถวายหลวงปู่จันทร์ศรี ที่ รพ.จุฬาลงกรณ์
หลวงปู่จันทร์ศรีมีนามเดิมว่า จันทร์ศรี แสนมงคล เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2454 ตรงกับแรม 3 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน ณ บ้านโนนทัน ตำบลโนนทัน อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เป็นบุตรชายของนายบุญสาร และนางหลุน แสนมงคล
สำหรับชาติกำเนิด ก่อนมารดาจะตั้งครรภ์ได้ฝันเห็นพระ 9 รูป มายืนอยู่ที่ประตูหน้าบ้าน พอรุ่งขึ้นตรงวันขึ้น 15 ค่ำ เพ็ญเดือน 3 ซึ่งเป็นวันมาฆบูชา ได้เห็นพระกัมมัฏฐาน 9 รูปมาบิณฑบาตยืนอยู่หน้าบ้าน จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงรีบจัดภัตตาหารใส่ภาชนะ ไปนั่งคุกเข่าประนมมือตรงหน้าพระเถระผู้เป็นหัวหน้า ยกมือไหว้ แล้วใส่บาตรจนครบทั้ง 9 รูป แล้วนั่งพับเพียบประนมมือกล่าวขอพรว่า “ดิฉันปรารถนาอยากได้ลูกชายสัก 1 คน จะให้บวชเหมือนพระคุณเจ้าเจ้าค่ะ” พระเถระกล่าวอนุโมทนา หลังจากนั้นอีก 1 เดือน ได้ตั้งครรภ์ให้กำเนิด ด.ช. จันทร์ศรี แสนมงคล
มีแววบวชเรียนตั้งแต่เมื่อครั้งเยาว์วัย ด้วยโยมบิดา - โยมมารดาได้พาไปใส่บาตรพระทุกวัน จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนา บางครั้งจะนำเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันทั้งชายและหญิง 7 - 8 คน ออกไปเล่นหน้าบ้านโดยตนเองจะเล่นรับบทเป็นพระภิกษุเป็นประจำ
เมื่ออายุได้ 8 ขวบ โยมบิดาเสียชีวิตลง จนอายุได้ 10 ปี โยมมารดาจึงนำไปฝากไว้กับเจ้าอธิการเป๊ะ ธัมมเมตติโก เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี เจ้าคณะตำบลโนนทัน และเป็นครูสอนนักเรียนโรงเรียนประชาบาล โดยรับไว้เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิด อยู่รับใช้ได้เพียง 1 เดือน เจ้าอธิการเป๊ะนำเด็กชายเข้าเรียนภาษาไทย ตั้งแต่ชั้น ประถม ก.กา จนจบชั้นประถมบริบูรณ์ เจ้าอธิการเป๊ะเห็นว่ามีความสนใจในทางสมณเพศ จึงได้ให้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม2468 ณ วัดโพธิ์ศรี บ้านศิลา ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น
ระหว่างปี 2468 - 2470 สามเณรหมั่นท่องทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ สวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบ สองตำนาน และพระสูตรต่างๆ จนชำนาญ อีกทั้งได้ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม อักษรเขมร จนอ่านออกเขียนได้คล่องแคล่ว แล้วมาฝึกหัดเทศน์มหาชาติชาดกทำนองภาษาพื้นเมืองของภาคอีสาน แล้วอยู่ปฏิบัติธรรมถึง 3 ปี
จากนั้นได้ร่วมเดินทางกับ พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์ลี สิรินฺธโร ออกไปแสวงหาความสงัดวิเวกตามป่าเขา และพักตามป่าช้าในหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อเข้ากรรมฐานและศึกษาอสุภสัญญา ปฏิบัติธุดงควัตร 13 ตามแบบพระบูรพาจารย์สายพระป่ากรรมฐานอย่างเคร่งครัด
พออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พัทธสีมาวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2474 โดยมี พระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย ป.ธ. ๓) เจ้าคณะธรรมยุตจังหวัดขอนแก่น และเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ (วัดศรีจันทราวาส) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีพระอาจารย์กรรมฐานจำนวน 25 รูปนั่งเป็นพระอันดับ และได้รับนามฉายาว่า “จนฺททีโป” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีแสงสว่างเจิดจ้าดั่งจันทร์เพ็ญ”
ด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมและงานด้านการศึกษา ปี 2474 สอบได้นักธรรมชั้นตรีได้ในสนามหลวง คณะจังหวัดขอนแก่น, ปี 2475 สอบนักธรรมชั้นโทได้ในสนามหลวง คณะจังหวัดขอนแก่น, ปี 2477 สอบนักธรรมชั้นเอกได้ในสนามหลวง สำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ, ปี 2480 สอบเปรียญธรรม 3 ประโยคสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ, ปี 2485 สอบเปรียญธรรม 4 ประโยคสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ, ปี 2484 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร กรุงเทพฯ ทรงมีบัญชาให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี ที่สำนักเรียนวัดป่าสุทธาวาส ต.พระธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 2484 ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มหาเถระ ได้ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เป็นเวลา 15 วัน เป็นเหตุให้หลวงปู่จันทร์ศรี ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับท่านพระอาจารย์มั่นชั่วระยะเวลาหนึ่ง ถือเป็นกำไรอันล้ำค่าแห่งชีวิต ปี 2475 ท่านกลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ศึกษาเปรียญธรรม 5 ประโยค และในปี 2486 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระบัญชาให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี เปรียญธรรม 3-4 ประโยค ณ สำนักเรียนวัดธรรมนิมิตร ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เป็นเวลานานถึง 10 ปี
เดือนพฤษภาคม ปี 2497 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระบัญชาให้มาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อทำศาสนกิจคณะสงฆ์ โดยแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) อีกตำแหน่งหนึ่ง
ปี 2498 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ และในปีเดียวกันก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) อีกตำแหน่งหนึ่ง
กระทั่งปี 2505 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ และปี 2507 โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้วัดโพธิสมภรณ์เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ในปีเดียวกันได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวงชั้นตรี และปี 2519 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าคณะภาค (ธรรมยุต) และรักษาการเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี ซึ่งปี 2522 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะจังหวัดหนองคายและจังหวัดสกลนคร และในปี 2531 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) และเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) รวมทั้งได้รับแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.)
นอกจากนี้ยังรับภาระหน้าที่สำคัญในคณะสงฆ์อีกมากมาย อาทิ เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก (พระสูตร), เป็นพระอนุกรรมการคณะธรรมยุต, เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง, เป็นพระธรรมทูตประจำจังหวัดอุดรธานี, เป็นประธานมูลนิธิวัดโพธิสมภรณ์, เป็นรองประธานกรรมการบริหารศูนย์บาลีศึกษาอีสาน (ธรรมยุต), เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดโพธิสมภรณ์ เป็นต้น
ปฏิปทาและข้อวัตร แม้จะมีพรรษายุกาลมากแต่ยังคงปฏิบัติกิจของสงฆ์และปฏิบัติธรรมอย่างคร่ำเคร่ง บิณฑบาตโปรดเวไนยสัตว์อย่างต่อเนื่อง เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่ชาวอุดรธานีอย่างแท้จริง ไม่เคยขาดงานนิมนต์ ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ ไม่เคยทอดธุระ ซึ่งท่านยึดเป็นหลักในการปฏิบัติเสมอที่ว่า “กยิรา เจ กยิราเถนํ” แปลว่า “ถ้าจะทำการใด ให้ทำการนั้นจริง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างามีความขยันหมั่นเพียร สิ่งนั้นต้องสำเร็จตามความตั้งใจจริง”
สิ่งสำคัญในชีวิตหลวงปู่ คือการมีโอกาสได้ปฏิบัติใกล้ชิดกับพระเถระผู้ใหญ่ อาทิ เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์ สุจิตฺโต) วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) วัดพระศรีมหาธาตุ เขตบางเขน กรุงเทพฯ, ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตฺตมหาเถระ, พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นต้น
ดังนั้น หลวงปู่จึงมีความรอบรู้ขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งในเมือง ในราชสำนัก ในสำนักพระกรรมฐาน และธรรมเนียมชาวบ้านเป็นอย่างดี หลวงปู่จันทร์ศรีเป็นหลวงปู่ใจดีของลูกหลานญาติโยม โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่ยึดติดลาภสักการะ และไม่ยึดติดในบริวาร ชีวิตของหลวงปู่สมถะเรียบง่าย เป็นอยู่อย่างสามัญ แม้ท่านจะได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการปกครองคณะสงฆ์ แต่หลวงปู่ก็ไม่ทิ้งการปฏิบัติกัมมัฏฐาน
หลวงปู่จันทร์ศรี เป็นดั่งดวงประทีป ดวงชีวิต เป็นหลักชัยและหลักใจของผองชาวพุทธ ยึดหลักธรรมแห่งองค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่ตั้ง มีพลังเกื้อหนุนจากธรรมะของครูบาอาจารย์ที่คอยสนับสนุนตลอดมา ปฏิปทาอันงดงามของท่านจึงเป็นครูของชีวิตที่คณะศิษยานุศิษย์ภาคภูมิใจยิ่ง เป็นแบบอย่างอันงดงามของพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และประชาชน
และเมื่อเวลา 20.00 น.ของวันที่ 14 ธันวาคม 2559 หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป ได้ละสรีระสังขารอย่างสงบ สิริรวมอายุ 105 ปี ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คลิกอ่าน