xs
xsm
sm
md
lg

“แกล้งดิน” วิธีดัดนิสัยดินไร้ประโยชน์ให้เปลี่ยนมาเป็นประโยชน์! นวัตกรรมใหม่ที่โลกเพิ่งรู้!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ดิน เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการทำเกษตรกรรม แต่ดินในประเทศไทยก็ไม่ได้เหมาะแก่การเกษตรไปทุกแห่ง หลายแห่งดินมีปัญหากับการปลูกพืช และเกษตรกรที่พบปัญหาก็ยากที่จะย้ายไปหาที่ทำกินใหม่ได้ จึงจำใจต้องทำกินในที่ดินที่ไม่เหมาะสมกับการเกษตรต่อไป ทำให้ได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร บางครั้งก็ไม่พอกินในครอบครัว ทำให้ต้องผจญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ทรงห่วงใยพสกนิกรในเรื่องนี้ จึงมีพระราชดำริคิดค้นหาทางแก้ปรับปรุงดินให้มีศักยภาพในการผลิต เพื่อช่วยเกษตรกรผู้ยากไร้เหล่านั้น ทรงเริ่มให้มีการทดลองวิธีการต่างๆเพื่ออนุรักษ์และบำรุงดินมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิธีตามธรรมชาติ สร้างความสมดุลของสภาพแวดล้อมให้เกิดขึ้น บางอย่างก็สวนทางกับวิธีเดิมๆที่ทำกันมา

อย่างดินเค็ม ซึ่งเป็นดินที่มีเกลืออยู่มาก มีความเป็นด่างสูง จนมีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชและผลผลิต เกลือในดินเค็มของภาคอีสานส่วนใหญ่จะเป็นเกลือแกง ซึ่งอยู่ในรูปแบบของโซเดียมคลอไรด์ สาเหตุเกิดจากการสร้างอ่างเก็บน้ำบนพื้นที่ซึ่งมีหินเกลิออยู่ใต้ดิน หรือตัดถางพื้นที่เพื่อทำนาเกลือ ทำให้เกลือใต้ดินเกิดการละลายและซึมขึ้นมาบนผิวดิน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาดินเค็ม โดยใช้ระบบชลประทานล้างเกลือที่ตกค้างบริเวณผิวดินและลำห้วย ทำให้ความเค็มในลำห้วยเจือจางจนนำมาบริโภคได้โครงการแก้ไขปัญหาดินเค็มบริเวณห้วยบ่อแดง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ซึ่งมีการทำนาเกลือ มีพระราชดำริให้ขุดลอกลำห้วยบ่อแดงพร้อมยกคันให้สูง ป้องกันน้ำจากนาเกลือไหลลงลำห้วย เพื่อให้เกษตรกรที่ทำนาสามารถใช้น้ำในลำห้วยปลูกข้าวได้ และให้ผู้ประกอบการทำนาเกลือขุดบ่อขนาดใหญ่เพื่อรองรับน้ำที่จะปล่อยทิ้งจากนาเกลือทั้งหมด เก็บไว้รอระเหย หรือไหลซึมลงในดินโดยเจาะบ่อบาดานเล็กๆ ด้วยวิธีนี้ชาวนาเกลือและชาวนาข้าวจึงอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ต้องทะเลาะกัน
ส่วนดินเปรี้ยว หรือดินพรุ คือดินในพื้นที่มีน้ำท่วมขัง เช่นบึงหรือหนองน้ำตื้นๆ มีพืชจำพวกกก พืชล้มลุก หรือหญ้าต่างๆขึ้น และตายทับถมกันมาเป็นเวลานาน จนมีไม้พุ่มและไม้ยืนต้นเติบโตขึ้นได้ มีสภาพเป็นป่า มีสัตว์ป่ามาอาศัยหลายชนิด เวลาผ่านไป ซากพืชซากสัตว์ตายทับถมกันจนเป็นชั้น “ดินอินทรีย์” (Peat) หนา เรียกป่าประเภทนี้ว่า “ป่าพรุ”

เมื่อคนเข้าไปหักล้างถางป่าพรุ แล้วสูบเอาน้ำออกเพื่อทำการเกษตร อากาศจึงซึมลงไปในดินได้ ดินพรุมีสารไพไรท์อยู่มาก เมื่อทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ จึงปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ทำอันตรายต่อพืชที่ปลูก ในที่สุดทั้งสัตว์ ทั้งพืช รวมทั้งคน ก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากดินพรุได้ เพราะมีความเป็นกรดสูง เปรี้ยวจัด ซึ่งพื้นที่ประเภทนี้มีอยู่ในจังหวัดภาคใต้ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ไร่

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่าราษฎรในจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงขาดแคลนที่ทำกิน ทรงมีพระราชดำริที่จะปรับปรุงดินพรุให้ใช้ประโยชน์ในการเกษตร เป็นที่ทำกินของราษฎรได้ มีพระราชดำรัสให้จัดตั้ง “โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”ขึ้นที่จังหวัดนราธิวาสในปี ๒๕๒๔ พระราชทานแนวทางแก้ไขด้วยวิธีตรงข้ามกับวิธีการทั่วไป คือแทนที่จะลดปัญหา กลับสร้างปัญหาให้รุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยกระบวนการที่ทรงเรียกว่า “แกล้งดิน”

วิธีการคือ ทำให้ดินพรุแห้ง อากาศซึมลงไปทำปฏิกิริยากับสารไพไรท์ได้ จนดินโกรธจัดคายกรดกำมะถันออกมามาก จึงปล่อยน้ำเข้าชะล้างกรดกำมะถันระบายออกไป แล้วปล่อยให้ดินแห้งจนอากาศซึมลงไปกระตุ้นให้เกิดกรดอีก ร่นระยะเวลาช่วงแล้งและช่วงที่ดินได้รับน้ำจากฝนตามธรรมชาติให้สั้นลง ปล่อยให้ดินแห้ง ๑ เดือน และขังน้ำให้เปียก ๒ เดือนสลับกันไป เกิดภาวะดินแห้งและเปียก ๔ รอบต่อปี เสมือนมีฤดูแล้งและฤดูฝน ๔ ครั้งต่อ ๑ ปี ดินจึงคายกรดกำมะถันจนลดความเปรี้ยวลงโดยเร็ว มีความเป็นกลาง คือมีค่าความเป็นกรดและเป็นด่างใกล้เคียงกัน จนทำการเกษตรได้ผล

ในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9ได้เสด็จฯทอดพระเนตรการดำเนินงานของโครงการศูนย์พิกุลทองฯ มีพระราชดำรัสกับ น.ต.กำธน สินธวานนท์ องคมนตรี นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. และเจ้าหน้าที่ชลประทานว่า

“โครงการแกล้งดินเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่พูดมา ๓ ปี หรือ ๔ ปีแล้ว ต้องการน้ำสำหรับมาทำให้ดินทำงาน ดินทำงานแล้วดินจะหายโกรธ อันนี้ไม่มีใครเชื่อ และมาทำที่นี่ก็ได้ผล ดังนั้นผลงานของเราที่ทำที่นี่เป็นงานสำคัญที่สุด เชื่อว่าชาวต่างประเทศเขามาดูเราทำอย่างนี้แล้วเขาก็พอใจ เขามีปัญหาแล้วเขาก็ไม่ได้แก้ หาตำราไม่ได้...”

ผลจากการแกล้งดินของโครงการศูนย์พิกุลทองฯนี้ ทำให้ราษฎรมีพื้นที่ปลูกข้าวได้มากขึ้น ที่ปลูกอยู่แล้วก็มีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ที่เคยได้ข้าวไร่ละ ๕-๑๐ ถังก็เพิ่มเป็น ๔๐-๕๐ ถัง คนที่เคยซื้อข้าวกินกลับมีข้าวขาย

จากพระราชดำริในเรื่อง “แกล้งดิน” และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในเรื่องดังกล่าว พบว่า เป็นโครงการที่มีความเป็นนวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีแก้ไขดินเปรี้ยวในประเทศเขตร้อน และยังไม่มีที่ใดในโลกใช้วิธีนี้

ด้วยพระปรีชาสามารถด้านนวัตกรรมของพระองค์ท่านและความตั้งพระราชหฤทัยที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพสกนิการชาวไทย เป็นที่ประจักษ์และเป็นที่สรรเสริญพระเกียรติคุณไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมาถึง ๖๐ ปีที่ครองราชย์ เป็นคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อชาวไทยและชาวโลก สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ใน พ.ศ.๒๕๔๙ และกำหนดให้วันที่ ๕ ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันนวัตกรรมแห่งชาติ”
ป่าพรุอันกว้างใหญ่
สภาพป่าพรุ
ป่าพรุที่หมดฤทธิ์แล้วถูกจัดสรรให้ราษฎรเข้าทำกิน
กำลังโหลดความคิดเห็น