xs
xsm
sm
md
lg

ชัยชนะของระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หนึ่งความคิด”
โดย “สุรวิชช์ วีรวรรณ”

แม้การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 จะนำความเศร้าเสียใจมาสู่พสกนิกรของพระองค์อย่างใหญ่หลวง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังคงจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ว่าคนไทยคนนั้นจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหน เคยขัดแย้งกันอย่างไรก็กลับมาแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ความคาดหวังของคนบางกลุ่มที่ไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่พวกเขาคาดหวังมลายหายไป และบัดนี้ชัดเจนแล้วว่ามันเป็นเพียงความหวังลมๆ แล้งๆ ของพวกเขาเท่านั้นเอง

สถาบันพระมหากษัตริย์ยังคงเป็นหลักยึดมั่นของสังคมไทย ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และหลังจากนี้เมื่อมีการเลือกตั้งกลับมาสู่มือของประชาชน เราน่าจะมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพที่จะช่วยกันก่อร่างสร้างบ้านเมืองขึ้นมาใหม่

สิบปีที่ผ่านมาความขัดแย้งขอสังคมไทยเกิดจากที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งมองเห็นความเหิมเกริมของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผลประโยชน์ทับซ้อน และทุจริตเชิงนโยบายที่กอบโกยความมั่งคั่งกลับไปสู่วงศ์วานว่านเครือ พวกเขาจึงลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่ใช่ว่าจะสามารถใช้อำนาจตามอำเภอใจได้ แต่รัฐบาลนั้นกลับปลุกปั่นมวลชนอีกฝั่งฟากด้วยการปลุกระดมสร้างเรื่องว่ารัฐบาลกำลังถูกอำมาตย์เล่นงานเพราะทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีขึ้น แล้วสร้างคำว่า “ไพร่” ขึ้นมาหลอกลวงให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจในหมู่ประชาชน

ทั้งที่สังคมไทยไม่มีเคยมีการแบ่งปันชนชั้นไม่มีวรรณะและเปิดให้ทุกคนเติบโตเท่าที่มีกำลังปัญญาจะต่อสู้ไม่ว่าจะในวงการการค้า หรือระบบราชการ

แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็กลายเป็นเหยื่อของนักการเมืองเหล่านี้ จนกระทั่งกลายเป็นความขัดแย้งของประชาชนคนในชาติ

เปิดโอกาสให้พวกบ้าลัทธิฝันเฟื่อง บางคนยังชูธงดาวแดงสัญลักษณ์ของระบอบคอมมิวนิสต์มาปลุกปั่นประชาชนทั้งที่คอมมิวนิสต์ล่มสลายไปจากโลกนี้แล้ว บางคนหวังเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ เข้ามาอิงแอบมวลชนของนักการเมืองที่สูญเสียอำนาจผนึกกำลังและเอื้อเฟื้อเจือจุนกัน คิดจะปฏิวัติโค่นล้มเพื่อสร้างสังคมใหม่ แล้วนักการเมืองที่หลบหนีอยู่ต่างแดนก็ใช้คนเหล่านี้เป็นเครื่องมือแบบพึ่งพาอาศัยกันอันมีหลักฐานประจักษ์พยานที่แจ่มชัดทั้งคำพูดและการกระทำ

เมื่อทหารเข้ามายึดอำนาจเพื่อหยุดยั้งสงครามกลางเมือง หลายคนหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน บางคนหนีไปไกลถึงยุโรป อเมริกา แล้วใช้เครื่องมือสื่อสารโซเชียลมีเดียกลับเข้ามาปลุกปั่นคนในชาติ วันนี้พวกเขาน่าจะรู้ตัวแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาเคยคาดหวังนั้นเป็นเรื่องที่เพ้อฝันอย่างสิ้นเชิง ผมจะไม่พูดถึงอนาคตอันยาวไกลที่อาจเป็นสิ่งที่เกินคาดหมาย แต่อย่างน้อยในรุ่นของเราคนเหล่านี้ก็ยากที่จะกลับมายืนบนแผ่นดินเกิดของตัวเอง

สิ่งที่ปรากฏในบ้านเมืองวันนี้น่าจะส่งสัญญาณให้เห็นชัดเจนแล้ว เพียงแต่เราต้องตั้งคำถามกับประเทศเพื่อนบ้านว่า เสียงปลุกระดมเพื่อต่อต้านสถาบันที่เคยเงียบเสียงลงเมื่อไม่นานมานี้ จนกระทั่งคนในรัฐบาลอ้างว่าเป็นผลจากการเจรจากับผู้นำประเทศเพื่อนบ้านที่ให้คนเหล่านี้พักพิง ทำไมวันนี้จึงกลับมาส่งเสียงอีกครั้ง แม้เสียงนั้นจะไม่ทำให้เกิดความสั่นคลอนได้ แต่นั่นเป็นเรื่องที่มิตรประเทศควรปฏิบัติต่อกันหรือ

แม้ผมจะเชื่อเสมอมาว่าจุดยืนทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพ ในโลกนี้มีระบอบที่แตกต่างกัน แต่วันนี้น่าจะเห็นแล้วว่าคนไทยเลือกที่จะนำพาบ้านเมืองของเราไปอย่างไร

ไม่มีใครปฏิเสธระบอบประชาธิปไตย เพียงแต่เขาปฏิเสธรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมเท่านั้นเอง

คำว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่บางฝ่ายอุปโลกน์ตัวเองให้ดูเหมือนมีความชอบธรรมในยุคที่โลกพูดถึงสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญของมวลมนุษยชาติ แต่ปิดบังความฉ้อฉลของนักการเมืองที่อ้างหีบเลือกตั้งเข้ามาปล้นประชาชน ไม่ต่างกับเสียงข้างมากของโจรที่ขอมติไปปล้นแล้วอ้างว่านี่คือประชาธิปไตย

เหมือนที่ท่านพุทธทาสเคยกล่าวว่า ประชาธิปไตย ประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นใหญ่นั้นมันไม่แน่ ประชาชนบ้าบอก็ได้ ของประชาชน โดยประชาชน ถ้าประชาชนเห็นแก่ตัวแล้วฉิบหายหมด

แท้จริงแล้ว “ฝ่ายประชาธิปไตย” ที่พวกเขาอ้างขึ้นมานั้น เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรมให้กับนักการเมืองที่โกงบ้านโกงแผ่นดินเท่านั้นเอง แล้วมันมีประชาธิปไตยแบบไหนในโลกนี้ที่ประชาชนออกมาไล่นักการเมืองที่ฉ้อฉลและลุแก่อำนาจว่าเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ถ้าต่อต้านประชาธิปไตยเขาก็ไม่ไปเลือกตั้ง เขาก็ไม่ยอมรับระบอบให้ประชาชนเลือกผู้นำ อาจมีคนอ้างว่า คนกลุ่มหนึ่งเคยออกมาขัดขวางการเลือกตั้ง แต่เขาบอกว่าให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไม่ใช่หรือ แล้วจะแปลว่าเขาไม่ยอมรับวิธีการเลือกตั้งไปได้อย่างไร

อย่างที่เคยกล่าวมาแล้วและเป็นเรื่องตลกก็คือ พอคนอเมริกาออกมาประท้วงไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง พวกที่เรียกตัวเองว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย”ของบ้านเราก็บอกว่านั่นแหละคือ ประชาธิปไตย แต่บอกให้ปฏิรูปบ้านเมืองก่อนไปเลือกตั้งบอกว่าไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ไปเลือกตั้งแล้วไม่ยอมรับผลเลือกตั้งบอกว่าเป็นประชาธิปไตย ซึ่งชัดเจนแล้วว่า เป็นตรรกะที่ตลบตะแลงไร้จุดยืนนั่นเอง

สรุปแล้วจะไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างเดียวคือไล่รัฐบาลที่พวกเขาเทิดทูนเท่านั้นเอง

ผมไม่ได้ปฏิเสธนะครับว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เป็นคนรับใช้นักการเมืองที่สูญเสียอำนาจ บางคนทำเพื่อเป้าหมายอุดมการณ์ความคิดของตัวเอง แต่เกือบทุกคนยอมเป็นแนวร่วมกับนักการเมืองที่ถูกประชาชนขับไล่ด้วยอ้างว่า
เขามาจากการเลือกตั้งแล้วมีความชอบธรรม ราวกับอนุมัติว่าสิ่งที่เขาฉ้อฉลในอำนาจนั้นก็เป็นความชอบธรรมที่ประชาชนมอบให้ด้วย

แล้วมันเป็นประชาธิปไตยแบบไหนกัน มันเป็นความชอบธรรมแบบไหนกัน

เฉกเช่นเดียวกับนักวิชาการที่กลายเป็นแนวร่วมของคนต่างแดน แนวร่วมเดียวกันยังอยู่ในหลายอาชีพ บางคนห่มจีวรเป็นพระ บางคนเป็นสื่อมวลชน กรณีของบีบีซีไทยที่ตั้งใจนำข้อความที่บิดเบือนข้อเท็จจริงมานำเสนอ เพื่อดิสเครดิตก็เช่นเดียวกัน ผมเห็นนักวิชาการบางคนอ้างว่า ข้อความที่บีบีซีนำเสนอมาจากที่เคยเปิดเผยผ่านสื่อมาแล้ว ดังนั้นไม่ใช่ข้อความที่บิดเบือน แต่ความจริงก็คือ สิ่งนั้นถูกปฏิเสธไปแล้ว และเป็นข่าวลือที่ไม่มีมูลแล้วจะไม่เรียกว่าบิดเบือนได้อย่างไร

แล้วเว็บบีบีซีไทยเพิ่งเปิดตัวเมื่อวันที่16 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้เอง โดยมีบรรณาธิการคนใหม่ชื่อ นพพร วงศ์อนันต์ คนที่รู้จักนพพรรู้ดีว่าเขามีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร และเงื่อนไขสำคัญของการไปอยู่บีบีซีของนพพรก็คือ อพยพไปทั้งครอบครัว

บางคนบอกว่า วันนี้ที่เศรษฐกิจไม่ดี เพราะบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย นักหนังสือพิมพ์ที่นักการเมืองใช้โม่แป้งบอกว่า หนังสือพิมพ์กำลังล่มสลายเพราะประชาชนออกมาขับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ราวกับว่าไม่รู้ว่าโลกที่ตัวเองกำลังยืนอยู่นั้นหมุนไปถึงไหนหรือที่เขาเรียกว่า disruptive technology คืออะไร แต่จริงๆก็รู้นั่นแหละ แต่ต้องการบิดเบือนเท่านั้นเอง มันก็ไม่ต่างกับตรรกะที่พวกเขากำลังอธิบายนั่นแหละว่า การเลือกตั้งคือความชอบธรรมในทุกเรื่องแม้จะทำเรื่องที่ชั่วช้าก็ตาม

ความไม่เป็นตรรกะของฝ่ายต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบและสนับสนุนนักการเมืองที่อยู่ต่างแดนนี่เอง ที่ทำให้คนชั้นกลางส่วนใหญ่ของไทยซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนสังคมไม่ให้การสนับสนุน มันบอกว่าคนเหล่านั้นไม่ใช่เข้าใจการเมืองหรือ มันบอกว่าคนเหล่านั้นไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือ ผมว่าไม่เลย แต่เขาเลือกว่าฝ่ายไหนที่ชอบธรรมต่างหาก

แน่นอนโกวเล้งบอกว่า “มนุษย์มีชีวิตอยู่ด้วยการเปลี่ยนแปลง มนุษย์พ่ายแพ้ต่อชะตากรรมที่ตนเองเลือกเสมอ” อนาคตข้างหน้าเรายังมองไม่เห็น แต่วันนี้พิสูจน์แล้วว่าสังคมไทยยังเลือกแนวทางของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น