“หนึ่งความคิด”
โดย “สุรวิชช์ วีรวรรณ”
เบส อรพิมพ์ รักษาผล เป็นข่าวเพราะไม่ได้วีซ่าสหรัฐฯ เกิดเป็นกระแสเพราะเข้าใจว่าจะไปพูดเรื่องในหลวงแล้วสหรัฐฯไม่ให้ สุดท้ายก็จบลงด้วยว่า เพราะเธอมีปัญหาสถานะการเงินเอง
คนที่ไม่รู้จักก็ค้นหาสอบถามกันใหญ่ว่าเธอเป็นใคร เพราะไทยรัฐบอกว่าเป็น “นักพูดขวัญใจประชาชน” คนรักเจ้าออกมาถล่มว่า เธอเป็นใครทำไมเรียกตัวเองว่า “นักพูดของพ่อ” ใช้คำไม่เหมาะสม ทั้งที่หลังเสด็จสวรรคตก็มีคนใช้คำว่า “พ่อ” เต็มไปหมด ตามด้วยรู้เรื่องเจ้าดีแค่ไหน เคยทำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาหรือเปล่า จากนั้นก็วิจารณ์ลีลาท่าทางและน้ำเสียงในการพูดของเธอ ว่าไม่เหมาะที่พูดถึงในหลวงด้วยลีลาแบบนี้ มีหลายคนตำหนิเธอด้วยเจตนาดี แต่มีบางคนเจือปนน้ำเสียงหมิ่นแคลงปนกับหมั่นไส้อยู่ด้วย
แต่จริงๆ แล้วถ้าใครสักคนไปศึกษาพระราชกรณียกิจของในหลวงแล้วนำมาบอกเล่าเพื่อให้คนตระหนักในสิ่งที่ในหลวงกระทำก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายอะไรแม้ไม่เคยรับใช้เบื้องพระยุคลบาทมาก่อนก็ตาม ไม่นั้นการพูดถึงคุณความดีของในหลวงจะถูกบังคับให้อยู่ในแวดวงจำกัดมาก ส่วนจะพูดดีหรือไม่ดีเก่งหรือไม่เก่งนั่นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งผมก็คิดว่ามีหลายคนที่พูดเรื่องในหลวงได้ดีกว่าเธอ
ผมว่าปัญหามันอยู่ที่คำว่า “นักพูดขวัญใจชาวไทย” ที่ไทยรัฐตั้งให้นี่แหละที่มันเรียกความหมั่นไส้ให้มหาชน เพราะถ้าขนาดนั้นมันต้องแบบเอ่ยชื่อแล้วคนทั้งประเทศร้องอ๋อ มีคนบอกว่าเธอเป็นคนที่ไทยรัฐพยายามสร้างขึ้นมา บางคนบอกว่าเธอดังนะ แต่ไม่น่าจะเรียกขนาดว่าเป็น “นักพูดขวัญใจประชาชน” ได้
พูดกันตรงๆ เธอยังมีความอ่อนเยาว์และไร้เดียงสาอยู่ไม่น้อย และความสำเร็จจากการเป็นนักพูดของเธอตั้งแต่เป็นนักเรียนนั้นแหละที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับเธอจนเกินล้น
จากนั้นคนเสื้อแดงก็ไปขุดคุ้ยประเด็นที่เธอพูดที่อีสานมาเกือบปีแล้ว พูดต่อหน้าคนอีสาน พูดต่อหน้านักศึกษาไม่มีใครเลยที่บอกว่าเธอดูหมิ่นคนอีสาน และส่วนใหญ่เธอได้รับการว่าจ้างจากหน่วยงานทหารให้พูดถึงพระราชกรณียกิจของในหลวง พูดตรงๆ ก็คือต้องการเปลี่ยนทัศนคติคนที่ไม่รักในหลวง พอเธอพลาดก็ออกมาถล่มกันใหญ่ ทั้งคนอีสานที่รักในหลวงก็เอาด้วย บอกว่าฉันนี่ไงคนอีสานรักในหลวงมาพูดแบบนี้ได้อย่างไร ทนายเสื้อแดงถึงกับไปแจ้งความดำเนินคดีว่าเธอดูหมิ่นคนอีสาน ซึ่งก็งงนะว่ามันจะเข้าข่ายหมิ่นประมาทไปได้อย่างไร มีการปลุกระดมขึ้นป้ายถล่มเธอในหลายพื้นที่
ทีนี้เลยมาถึงเรื่องที่เธอมีค่าตัวชั่วโมงละ 30,000 บาท กลายเป็นว่าเธอเอาเรื่องพ่อมาทำมาหากิน มีคนบอกพูดเรื่องในหลวงต้องฟรีสิ ทั้งๆ ที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าเธอประกอบอาชีพเป็นนักพูดตามแต่ใครจะจ้างให้ไปพูดในหัวข้ออะไร มีคนจ้างเธอก็ไปพูด พูดกันตามตรงก็ไม่ต่างกับศิลปินที่วาดรูปในหลวงแล้วเอามาจำหน่ายก็ไม่มีใครว่าหรอกว่าเอาในหลวงมาทำการค้า ส่วนว่าเธอเรียกค่าตัวแพงเกินไปหรือไม่ หรือราชการมีมาตรฐานว่าจะต้องจ่ายไม่เกินเท่าไหร่นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่งนะ ผมว่าก็มีนักพูดคนอื่นที่ค่าตัวแพงกว่าเธอและถูกกว่าเธอ อาจมีคนที่พูดเรื่องในหลวงได้ดีกว่าเธอและพร้อมจะไปพูดโดยไม่มีค่าตัวอยู่ไม่น้อย
ถามว่า เธอถูกยกย่องจนเกินตัวไปมั้ยก็เห็นด้วยนะ เธอควรพูดถึงคนอีสานแบบนั้นมั้ยก็เห็นเธอขาดความระมัดระวังในการพูดไป เธอผิดพลาดที่พูดแบบเหมารวม แต่ถ้าฟังโดยรวมก็เข้าใจเจตนาและเป้าหมายในการพูดของเธอ เชื่อว่าคนที่รับฟังในตอนแรกก็เข้าใจไม่นั้นก็คงมีเรื่องตั้งแต่วันนั้นแล้ว ซึ่งต่อมาเธอก็ได้แสดงความขอโทษผ่านทางไทยรัฐทีวีไปแล้ว
แต่ที่แปลกมากๆ ก็คือเท่าที่ผมสำรวจคือ คนที่จะเอาให้เธอจมดินนั้นมาจากฝั่งรักเจ้ามากกว่าซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกในความรู้สึกของผม ส่วนฝั่งไม่เอาเจ้าก็ได้ทีปลุกกระแสเหยียดหยามภูมิภาคขึ้นมา แล้วก็ได้ผลเสียด้วย เพราะยุคนี้เป็นยุคของ post-truth ที่ความรู้สึกอยู่เหนือข้อเท็จจริงอยู่แล้ว
พจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด (Oxford Dictionaries) ประกาศผลการคัดเลือก “คำแห่งปี” ประจำปี ค.ศ.2016 หรือปี พ.ศ.2559 (Word of the Year 2016) ได้แก่คำว่า “Post-Truth” ซึ่งหมายความว่า ความจริงมาทีหลัง หรือที่มีการขยายความต่อว่า ข้อเท็จจริงมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของสังคม “น้อยกว่า” สิ่งดึงดูดทางอารมณ์ และความเชื่อส่วนบุคคล
ผมว่าหลังจากนี้เธอคงทำมาหากินด้านการพูดลำบากแล้ว แต่ดูเหมือนว่า เสียงที่สะท้อนผ่านโซเชียลแม้จะมีหลายเสียงที่ออกมาปกป้องเธอ แต่ก็มีไม่น้อยที่ยังรู้สึกเหมือนจะ “ลงทัณฑ์” เธอยังไม่เพียงพอซึ่งผมว่าเป็นสิ่งทีน่ากลัว อย่างที่ผมเคยพูดว่า social sanction นั้นมีบทลงโทษที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ในขณะที่บทลงโทษในกระบวนการยุติธรรมยังมีบทลงโทษที่ได้ “สัดส่วน” กับโทษที่ได้กระทำ มีการเปิดโอกาสให้คนกระทำผิดปรับปรุงตัว ผมมองว่า social sanctionว่าไปแล้วก็ไม่ต่างกับการประชาทัณฑ์นี่เอง
ส่วนกรณีเสื้อแดงทยอยแจ้งความเบส อรพิมพ์ว่าดูหมิ่นคนอีสานนั้น ผมเขียนตั้งแต่เห็นข่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัวก่อนหน้านี้ว่า ยังไงก็ไม่เข้าข่ายความผิด ต่อมามีอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาก็ออกมายืนยันเช่นนั้น
ผมว่า เสื้อแดงเขามีเป้าหมายที่จะพุ่งเป้าไปที่ทหารมากกว่า เพราะทหารใช้เบสเพื่อเข้าไปละลายพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่เพื่อปลูกฝังให้รักสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะรู้กันอยู่ว่า ในภาคเหนือและอีสานมีกลุ่มคนเสื้อแดงจำนวนมาก เราพูดว่าเสื้อแดงทั้งหมดไม่เอาเจ้าไม่ได้ แต่พูดได้ว่าพวกไม่เอาเจ้าทั้งหมดเป็นเสื้อแดง
เบส พูดที่มหาสารคามเมื่อต้นปีนี้ ว่า “พี่จะไม่ถามว่ารักในหลวงไหม รู้อย่างเดียวว่าคนอีสาน ในหลวงเสด็จฯ บ่อยมาก และช่วยคุณเยอะมาก คนอีสานคะ โปรดฟัง ในหลวงรักพวกคุณ แปลกนะที่บางทีพวกคุณลืมในหลวงเนอะ แปลกอะ พี่ไม่ได้ว่านะ พี่เข้าใจ เพราะคุณมันเกิดช้าไง”
ที่เบสใช้สรรพนามเรียกตัวเองว่า “พี่” เพราะพูดกับนักเรียนนักศึกษา ถ้าฟังทั้งหมดเข้าใจได้ว่า เบสเจตนาพูดถึงคนที่ไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เพราะความไร้เดียงสาของเธอทำให้เธอพลาดไปที่ไม่ระบุไปว่า “บางคน”
ทีนี้มาดูกฎหมายหมิ่นประมาท มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
“ผู้อื่น” ก็คือ ผู้ถูกใส่ความ อาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้
จะเห็นว่า การพูดของเบสนั้นไม่ได้ระบุหรือไม่ยืนยันแน่นอนว่าเป็นใคร พูดกว้างว่า “คนอีสาน” แล้วอย่างนี้จะมีความผิดมั้ย ตอบได้เลยว่า ไม่ผิดครับ ผมว่า ตำรวจใช้ดุลพินิจสั่งไม่ฟ้องได้เลย
เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้ เช่น กล่าวหาว่า แพทย์ใจทรามในโรงพยาบาลศิริราชไม่รู้ว่าหมายถึงแพทย์คนใด ไม่เป็นหมิ่นประมาท(ฎีกาที่1325/2489) กล่าวหาบุคคลบางคนในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ระบุไม่หมิ่นประมาท(ฎีกาที่56/2490) กล่าวหาคนทั้งหมู่บ้านเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งหมู่บ้านมี4,000คน ไม่หมิ่นประมาท(ฎีกาที่ 1636/2522) กล่าวถึงกองทัพไม่เข้าใจว่ากองทัพใด ไม่ถือว่าหมิ่นประมาท(ฎีกาที่3955/2539) กล่าวถึง “คนมีสี” “วีรบุรุษซาตาน”ไม่ชัดเจนว่าหมายถึงใคร ไม่หมิ่นประมาท(ฎีกาที่3901/2545)(ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับอ้างอิง ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์)
ดังนั้น คนเสื้อแดงเพียงแต่ต้องการทำลายเครื่องมือของทหารที่นำไปใช้ปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนกับคนหนุ่มสาวในภาคอีสานและภาคเหนือเท่านั้นเอง ซึ่งตอนนี้ได้ผลแล้ว เพราะเบสโดยถล่มทั้งสองฝั่งแทบจะหาที่ยืนไม่ได้ แต่เอาเป็นว่าเรื่องคดีเบสไม่ต้องไปกังวลเรื่องคดี เอาตรงนี้เป็นบทเรียนฟังสิ่งที่คนเขาติเตียนมาว่าตรงไหนที่เราทำไม่ถูกต้องแล้วนำไปแก้ไขปรับปรุง แล้วลุกขึ้นสู้ใหม่ อย่าเพิ่งท้อแท้เพราะอายุยังน้อย
พูดง่ายๆว่า คดีทางกฎหมายนั้นไม่น่ากลัวสำหรับเบส แต่คดีที่สังคมลงทัณฑ์หรือsocial sanctionนะสิ เพราะมันไม่มีขอบเขต ไม่มีบทลดหย่อนผ่อนโทษ ไม่เปิดโอกาสให้กลับตัวเป็นคนดี ระยะเวลาในการกำหนดโทษก็แล้วแต่ความทรงจำของสังคม และสามารถรื้อฟื้นขึ้นมาได้ตลอดเวลา
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan