“หนึ่งความคิด”
โดย “สุรวิชช์ วีรวรรณ”
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
พระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493
คำที่เปล่งออกจากพระโอษฐ์ข้างต้นกลายเป็นคำมั่นที่พระองค์ให้ต่อพสกนิกรและถือเป็นหลักปฏิบัติตลอด 70 ปีของการครองแผ่นดิน
พระมหากษัตริย์ผู้กลายเป็นพ่อของแผ่นดิน เป็นในหลวงของปวงชน พระองค์เดินทางไปทั่วแผ่นดินเพื่อขจัดปัดเป่าทุกข์ของพสกนิกรอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและเป็นผู้นำไทยให้เป็นประเทศที่เจริญวัฒนาขึ้นมาได้บนดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้อย่างแท้จริง
แม้โดยสถานะของพระองค์อยู่เหนือการเมือง แต่พระองค์ก็ยังลงมือปฏิบัติให้ผู้บริหารบ้านเมืองทุกยุคทุกสมัยเห็นว่า หนทางใดที่จะนำพาบ้านเมืองไปรอด พระองค์เปลี่ยนพระราชวังให้เป็นพื้นที่ทดลองทางการเกษตรนำผลลัพธ์กลับไปสู่พสกนิกรเพื่อช่วยกันพลิกเปลี่ยนผืนแผ่นดินไทยให้เป็นแผ่นดินที่ผลิผลอันมั่งคั่งสมบูรณ์
วันนี้พระองค์จากเราไปแล้ว เรารู้สึกสูญเสีย เศร้าสลดเสียใจ เราพูดถึงสิ่งที่พระองค์ทำ เรานึกถึงพระราชดำรัสมากมายของพระองค์ ถามว่าเราจะแปรสิ่งนี้ให้กลายเป็นพลัง เป็นปณิธาน เป็นความมุ่งมั่นที่จะเดินตามรอยของพระองค์ได้หรือไม่ ถ้าเราทำได้นั่นน่าจะทำให้ในหลวงของเราซึ่งสถิตอยู่ ณ ห้วงสรวงสวรรค์ได้รับรู้ว่าสิ่งที่พระองค์ลงมือทำให้เห็นนั้นบัดนี้มันได้เกิดเป็นโภคผลสมตามพระประสงค์แล้ว
การเดินตามแนวที่พระองค์สอน ต้องเริ่มจากตัวเองลงมือทำ ถ้าประชาชนทุกคนลงมือทำก็จะกลายเป็นพลังของชาติ ไม่ว่าใครจะเข้ามาปกครองบ้านเมือง ไม่ว่าระบอบไหนก็ตามผู้มีอำนาจก็ต้องหันมาเดินตามในการยึดมั่นแนวทางของพระองค์เพราะเขาต้องฟังเสียงประชาชน
บางคนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องยาก เพราะในวันที่ในหลวงยังมีพระชนม์ชีพสิ่งที่ต่างเพียรสอนและวางแนวทางไว้ ยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจังเลย นับประสาอะไรในวันที่พระองค์เสด็จสวรรคตไปแล้ว พระองค์พูดเรื่อง “พอเพียง” ทุกฝ่ายก็รับทราบและพูดกันเรื่อง “พอเพียง” แต่ในทางปฏิบัตินั้นสวนทางกับความหมายของคำว่า “พอเพียง” ตลอดเวลา
ไม่ว่าในยุคที่เราฝากประเทศชาติไว้กับนักการเมืองในยุคที่เรามีการเลือกตั้งหรือว่าในยุคที่ทหารเข้ามาดูแลบ้านเมือง
เราคงจำกันได้ถึงพระราชดำรัสที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาเสมอ “ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช้การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมความดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512)
แต่ในความเป็นจริงมีกี่ครั้งที่เราเห็นคนดีไม่เข้าสู่อำนาจ ทั้งในทางการเมืองและระบบราชการ กลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทน ซื้อขายตำแหน่ง เล่นพรรคเล่นพวก คนดีมีความสามารถไม่สามารถไต่เต้าขึ้นมามีอำนาจได้ ถ้าอยากได้ตำแหน่งที่เติบโตขึ้นข้าราชการต้องรับใช้นักการเมือง นักการเมืองมาจากผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น มาจากพ่อค้าที่ร่ำรวยมาจากการจ่ายสินบาทคาดสินบนให้กับข้าราชการ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความจริงในระบอบการปกครองของเราที่เรียกว่าประชาธิปไตย
ครั้งหนึ่งทรงมีพระราชดำรัสทรงให้ไว้แก่นักศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2512 เกี่ยวกับเรื่อง “ประชาธิปไตย” ว่า
“...คำว่าพอสมควรนั้นเป็นหัวใจของประชาธิปไตย เพราะว่าการเลือกตั้งก็ตาม หรือ การถกเถียงอะไรทุกสิ่งทุกอย่างก็ตาม ต้องได้ผลพอสมควรทั้งนั้น เพราะทุกคนมีผลประโยชน์ มีความต้องการแตกต่างกัน และก็มีเสรีภาพ ความแตกต่างนั้นอาจทำให้เบียดเบียนกันได้ ก็ต้องมีผลพอสมควร จึงจะมีความเรียบร้อย มีความเงียบสงบ แต่ถ้าแต่ละคนเห็นแก่ตัว มีแต่จะเอาผลเต็มที่สำหรับตัว เชื่อว่าอีกคนหนึ่งเขาก็เดือดร้อน ประชาธิปไตย หรือความเป็นอยู่ของสังคมของชาติ อยู่ที่แต่ละคนมีความสุขพอสมควร จะได้ไม่เบียดเบียนกันอย่างเปิดเผย...”
ผมมานั่งทบทวนดูแล้วเห็นว่าตั้งแต่ปี 2475 ที่เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองมา พบว่าประเทศชาติมีปัญหาเพราะคนใช้”ประชาธิปไตย”เป็นเพียงเครื่องมือในการหาประโยชน์ เจตนารมณ์ที่ดีของระบอบประชาธิปไตยถูกเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจเท่านั้นเอง แต่เมื่อมีอำนาจแล้วหาได้ทำประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติไม่
ในขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งยึดมั่นในแนวทางที่จะให้ “คนดีได้ปกครองบ้านเมือง” อีกฝ่ายจึงชูแนวทาง “ประชาธิปไตย” ขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรม จนกลายเป็นการแตกความสามัคคีและความขัดแย้งในชาติบ้านเมืองขึ้น
เรื่องความสามัคคีเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่อยู่ในพระราชดำรัสหลายครั้งหลายหน ครั้งหนึ่งทรงมีพระราชดำรัสว่า “ความสามัคคีและความถือตัวว่าเป็นไทยนี้ เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด เพราะเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของเรา และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เรารวมกันอยู่ได้ ให้เราดำรงชาติประเทศและเอกราชสืบมาได้ ทุกคนควรจะได้พยายามรักษาความเป็นไทยและความสามัคคีนี้ไว้ให้มั่นคงในที่ทุกแห่ง อย่ายอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาทำลายได้”(พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่านในงานชุมนุมประจำปี ของสมาคมนักเรียนไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน 1 ก.ย.2526)
แต่ผมคิดว่าไม่มีใครปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยหรอก ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นดังที่พูดกันนั่นแหละว่าเป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด เพียงแต่ตลอดที่มีการเลือกตั้งและมีนักการเมืองเข้ามาบริหารบ้านเมือง มัน
พิสูจน์แล้วว่า นักการเมืองเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากอำนาจมากกว่า ในขณะที่อีกฝ่ายที่ชูธง “ประชาธิปไตย” เห็นว่า ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีก็ให้ประชาชนตัดสินใจ
จึงเห็นว่าหากการจัดสรร “คนดีเข้ามาปกครองบ้านเมือง” และระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเรียนรู้ที่จะเลือกคนดีเข้ามาปกครองประเทศมาบรรจบกันได้ บ้านเมืองของเราก็จะกลับมาสู่ความสมัครสมานสามัคคีได้
ผมเชื่อว่ารัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รู้ว่าปัญหาบ้านเมืองอยู่ตรงไหน ความแตกแยกความคิดของประชาชนอยู่ตรงไหน ในระยะที่จะต้องนำพาบ้านเมืองกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง และเชื่อกันว่า พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ในอำนาจไปอีกหลายปีแม้จะเปิดให้การเลือกตั้งแล้วก็ตาม จึงเป็นคำถามว่า พล.อ.ประยุทธ์จะตอบสนองประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอย่างไร จะนำพาให้"คนดีเข้าปกครองบ้านเมือง"ได้อย่างไร และจะนำพาประเทศเดินไปตามทางที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางแนวทางไว้อย่างไร
แนวทางพระราชดำรัสที่พระองค์ให้ไว้นับพันนับหมื่นครั้งตลอด 70 ปีที่ครองราชย์สมบัตินี่แหละที่จะนำพาชาติให้อยู่รอด
ผมปิดท้ายด้วยการอัญเชิญพระบรมราโชวาท ที่พระราชทานแก่ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และ อาสาสมัครพลเรือนในพิธีตรวจพลสวนสนามเนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีรัชดาภิเษก 8 มิ.ย.2514ความว่า
“ชาติบ้านเมืองประกอบด้วยนานาสถาบัน อันเปรียบได้กับอวัยวะทั้งปวง ที่ประกอบกันขึ้นเป็นชีวิตร่างกาย ชีวิตร่างกายดำรงอยู่ได้ เพราะอวัยวะใหญ่น้อยทำงานเป็นปรกติพร้อมกันอย่างไร ชาติบ้านเมืองก็ดำรงอยู่ได้ เพราะสถาบันต่างๆตั้งมั่นและปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยพร้อมมูลอย่างนั้น”