“หนึ่งความคิด”
โดย “สุรวิชช์ วีรวรรณ”
ความห่วงใยในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่เรากำลังทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนั้นมีความแตกต่างกัน บางคนห่วงใยเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่มาและอำนาจของส.ว. หรือสิทธิที่หายไป
แต่บางคนห่วงใย ไม่เข้าใจและกำลังกังขาในเหตุผลและเจตนาของการร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 178 และคิดว่าถ้าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านไป มาตรานี้มาตราเดียวจะส่งผลกระทบต่อประเทศอย่างมหาศาล
มาตรา 178 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญา สันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่น ที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้า หรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย
เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
วรรคที่มีปัญหาก็คือ “ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ”
จะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับเป็นเรื่องเขตแดน อธิปไตย เรื่องที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ จะส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ
แต่กลับเขียนกฎหมายมัดคอตัวเองให้เสียเปรียบ คล้ายกับว่าเราทำสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างให้แล้วเสร็จใน 100 วัน แทนที่จะเขียนว่าถ้าหากการก่อสร้างไม่เสร็จในร้อยวันจะต้องยกเลิกสัญญาและปรับเงินผู้รับเหมา เรากลับเขียนว่า ถ้าก่อสร้างไม่เสร็จใน100วันให้ถือว่า บ้านหลังนี้สร้างแล้วเสร็จ
แล้วไปฟังนะครับว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญอธิบายเหตุผลข้อนี้อย่างไร แล้วผมจะมาว่าต่อว่าคำอธิบายนั้นเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขานุการกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าวและกระจายข้อมูลไปยังวิทยากรระดับจังหวัดให้นำไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนในวงกว้าง ว่า โดยมีสาระสำคัญ ว่า มาตรา 178 ว่าด้วยการทำหนังสือสัญญาที่มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือพื้นที่นอกอาณาเขตประเทศไทยกับต่างประเทศ ที่มีผู้วิจารณ์ว่าจะทำให้เกิดการเสียดินแดนนั้น ถือเป็นการใช้จินตนาการ เพราะตามรายละเอียดของบทบัญญัติในมาตรา 178 นั้น คือการวางหลักการต่อกระบวนการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน และกำหนดให้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ซึ่งเป็นหลักการเดิมที่เคยระบุไว้ในมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่เหตุผลที่ต้องเพิ่มถ้อยคำกรณีที่รัฐสภาพิจารณาหนังสือสัญญากับต่างประเทศไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ เพื่อเติมกระบวนการการทำงานในรัฐสภาให้มีความสมบูรณ์และป้องกันกรณีที่รัฐสภาเล่นเกมการเมืองจนบ้านเมืองเสียหาย และเป็นต้นเหตุให้มีการชุมนุมบนถนนเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ซึ่งตนมองว่ากรณีที่มีหนังสือสัญญาซึ่งมีความสำคัญต่อประเทศ ต้องใช้การรีบพิจารณาเนื้อหาให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับประเทศ ไม่ใช่การใช้จินตนาการว่ารัฐสภาพิจารณาไม่เสร็จภายใน 60 วันแล้วจะทำให้ประเทศเสียดินแดน
“หากมีเหตุรัฐสภาพิจารณาหนังสือสัญญาใดๆ ก็ตามไม่เสร็จภายใน 2 เดือน เขาเห็นว่าควรต้องกำหนดให้เป็นเหตุให้สมาชิกผู้เกี่ยวข้องพ้นจากตำแหน่งไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้แล้ว เพราะไม่มีความรับผิดชอบในการทำงาน และไม่ควรให้กลับมาดำรงตำแหน่งใดๆ ตามรัฐธรรมนูญนี้ตลอดชีวิตด้วย” นายปกรณ์ ชี้แจง
ถามจริงๆ ว่าอ่านร่างรัฐธรรมนูญมาตรานี้แล้วคนที่ไม่เห็นด้วยเขาจินตนาการเอาเองหรือครับ เมื่อท่านเขียนไว้ชัดเจนว่า “ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ”
กรรมาธิการอ้างเหตุผลที่ต้องบัญญัติให้เสร็จใน 60 วัน ถ้าไม่เสร็จให้ถือว่าสภาเห็นชอบว่า เพราะหนังสือสัญญามีความสำคัญต่อประเทศ จึงต้องการให้สภาพิจารณาอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับประเทศ ไม่เอาเรื่องนี้มาเล่นเกมการเมืองจนประชาชนออกมาชุมนุมประท้วง
อ้าวงั้นถามว่าเมื่อเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศ ถ้า 60 วันสภายังพิจารณาไม่แล้วเสร็จมันควรจะถือว่าสภาให้ความเห็นชอบหรือครับ ในเมื่อมันยังไม่เป็นกฎหมายที่สมบูรณ์เลย ยังไม่พิจารณากันให้รอบคอบทั้งๆ ที่บอกว่านี่เป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญ แล้วอย่างนี้ประเทศจะไม่เสียหายหรือครับ ใครจะรับผิดชอบผลพวงที่ตามมาครับ
อุปมาอุปมัยเหมือนกับสร้างเครื่องบินลำหนึ่งยังไม่ได้ทดลองเลยว่ามีความปลอดภัยหรือไม่ แต่พอครบกำหนดวันที่จะต้องแล้วเสร็จก็สั่งให้ออกบินรับผู้โดยสารเลย ผู้โดยสารก็ไปเสี่ยงรับชะตากรรมข้างหน้าเอาเอง นี่ก็เท่ากับว่า ประเทศจะเป็นอย่างไรได้รับผลกระทบอย่างไรก็ไปเสี่ยงเอาข้างหน้า
ที่ตลกก็คือตรงที่นายปกรณ์บอกว่า “หากมีเหตุรัฐสภาพิจารณาหนังสือสัญญาใดๆ ก็ตามไม่เสร็จภายใน 2 เดือน เขาเห็นว่าควรต้องกำหนดให้เป็นเหตุให้สมาชิกผู้เกี่ยวข้องพ้นจากตำแหน่งไว้ในมาตรฐานทางจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้แล้ว เพราะไม่มีความรับผิดชอบในการทำงาน และไม่ควรให้กลับมาดำรงตำแหน่งใดๆ ตามรัฐธรรมนูญนี้ตลอดชีวิตด้วย”
แล้วทำไมท่านไม่บัญญัติบทลงโทษนี้ไว้ในมาตรา 178 ละครับ ว่าถ้าพิจารณาไม่เสร็จให้พ้นจากตำแหน่ง กลับไปบัญญัติว่า ถ้ายังพิจารณาไม่แล้วเสร็จใน 60 วันให้ถือว่าแล้วเสร็จ ถ้าทำอย่างนั้นคนก็เห็นด้วย คือมีบทลงโทษคนที่มีหน้าที่ให้ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้เร่งทำงานในเรื่องที่เห็นว่าสำคัญนี้ ไม่ใช่ลงโทษประเทศเอาประเทศเป็นตัวประกันให้ไปเสี่ยงรับผลกรรมข้างหน้าเอาเอง
ฟังคำอธิบายเรื่องมาตรา 178 แล้วยิ่งเข้ารกเข้าพงแล้วอย่างนี้จะให้ประชาชนเขาลงประชามติอย่างไรครับ