xs
xsm
sm
md
lg

ความเป็นไปได้ที่ ปชป.กับเพื่อไทย จะจับมือกันตั้งรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



“หนึ่งความคิด”
โดย “สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ตอนที่ผมเขียนต้นฉบับนี้อยู่นี้ ยังไม่รู้ว่า ประเด็นที่ สนช.กลุ่มหนึ่งดันทุรังจะให้เพิ่มเติมในรัฐธรรมนูญที่ต้องปรับตามคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติให้ ส.ว.นอกจากสามารถโหวตเลือกนายกฯได้ในเวลา 5 ปีแล้ว ยังให้ ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯ ได้ด้วยซึ่งได้รับเสียงคัดค้านอย่างกว้างขวางเพราะไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของคำถามพ่วงจะจบลงอย่างไร แต่ผมก็เห็นเหมือนคนส่วนใหญ่ว่าไม่น่าจะทำได้ และเชื่อว่าคงจะไม่กล้าฝืนกระแส

ส่วนประเด็นนายกฯ คนนอกตามบทเฉพาะกาลมาตรา 268 และ มาตรา 272 นั้นเขียนไว้ชัดเจนว่า เกิดขึ้นได้ครั้งแรกหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ครั้งเดียว แต่ต้องหลังจากที่ ส.ส.และส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอแล้วไม่มีใครตามบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภารวมกัน 750 เสียง จึงจะไปขอมติเพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกได้

หลายคนคาดการณ์กันว่ายังไงเสียการเลือกตั้งครั้งแรกจะต้องได้นายกรัฐมนตรีคนนอกแน่ๆ เพราะการขอให้เปิดทางให้นายกรัฐมนตรีคนนอกนั้นมาจากข้อเสนอของ คสช.ถึงกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง อย่างไรเสีย ส.ว.250 เสียงซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช.จะต้องยืนกรานไม่เอาตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเพื่อให้ได้นายกรัฐมนตรีคนนอกแน่ๆ

วิกฤตการเมืองในช่วงที่ผ่านมา นักการเมืองถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุหลักที่นำประเทศไปสู่วิกฤตกระแสสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่สูงก็เพราะมาจากการกระแสต่อต้านนักการเมืองนั่นเอง แม้ว่าจะมีนักการเมืองดีอยู่บ้าง แต่นักการเมืองทั้งหมดก็ตกอยู่ในสภาพปลาเน่าข้องเดียวกัน

มีคนคาดกันว่า ถึงตอนนั้นจะเกิด “ฉันทมติใหญ่” จากนักการเมือง ส.ว.และกระแสสังคมร่วมกันกดดันเพื่อให้ได้นายกฯคนนอกเข้ามาบริหารประเทศ เหมือนกับยุคที่พรรคการเมืองเสนอพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ตอนนี้ พรรคประชาชนปฏิรูปของคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ก็ชิงเปิดตัวแล้วว่าจะสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ฟังน้ำเสียงคุณ ไพบูลย์แม้จะเป็นพรรคการเมืองที่มีสิทธิ์เสนอชื่อตั้งแต่ต้น(พรรคที่จะเสนอชื่อได้ต้องมีส.ส.ตั้งแต่25คนขึ้นไป) แต่ความหมายของคุณไพบูลย์ก็คือ การเสนอพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีในโควตาคนนอกนั่นแหละ และพล.อ.ประยุทธ์ก็พูดทำนองว่า “ก็ต้องไปหามา ถ้ามันไปไม่ได้แล้วค่อยมาถามผม”

แปลตรงๆ ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ก็พร้อมจะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง

พูดถึงคุณไพบูลย์ก็ต้องชมกันนะครับว่า แม้ดูเหมือนแกจะฉวยโอกาสขี่กระแสพล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ยังดีและกล้ากว่าใครหลายคนที่เชลียร์ คสช.เพื่อหวังให้ได้กลับมาเป็น ส.ว.

ถามว่าโอกาสนายกฯ คนนอกซึ่งดูเหมือนจะง่ายๆ ดูเหมือนจะนอนมาตามกระแสของสังคม แต่ถามว่าโอกาสที่จะเป็นไปไม่ได้มีมั้ยคำตอบก็คือมีเหมือนกัน

อย่าลืมว่า แม้พรรค ส.ว.ซึ่งเปรียบเหมือนพรรค คสช.จะมีเสียงในมือแล้ว 250 เสียง แต่ ส.ส.ก็มีเสียงในมือรวมกัน 500 เสียง ถ้าส.ส.เกิน 250 เสียงยืนกรานที่จะไม่เอาคนนอกฉันทามตินี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะแม้เสียง ส.ว.250เสียงบวกกับเสียงส.ส.126เสียงขึ้นไปจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง รัฐบาลก็บริหารประเทศไม่ได้ ยังไงเสียงฝ่ายรัฐบาลก็ต้องให้ได้เสียงส.ส.เกิน 250 เสียงอยู่ดี เพื่อรับมือกับการผ่านกฎหมายต่างๆ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

อันนี้รวมถึงมติขอนายก ฯคนนอกตามมาตรา 272 หลังจากเลือกตามรายชื่อพรรคการเมืองไม่ได้แล้วยังไงก็ต้องมีเสียงส.ส.ในมือเกิน251คนเสียก่อนเพื่อให้รวมกับส.ว.เป็นเสียง2ใน3จึงจะเดินหน้าไปสู่คนนอกได้

นั่นแสดงว่า ถ้าส.ส.เกิน 250 คนจับมือกันเหนียวแน่นไม่เอานายกฯคนนอกประตูนี้ก็ปิดตายเลย

แม้ว่าสังคมส่วนหนึ่งจะชิงชังนักการเมืองว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดวิกฤตในบ้านเมือง แต่ถามว่านักการเมืองยอมรับมั้ย ผมคิดว่าเขาไม่ยอมรับหรอก หรืออย่างน้อยเขาก็เชื่อว่าเขาไม่ใช่สาเหตุหลักของวิกฤตทั้งหมด การยอมให้ตัวเองกลายไปเบี้ยล่างของ ส.ว.นั้นเท่ากับการยอมรับข้อกล่าวหานี้แล้วก้มหน้าก้มตาเป็นจำเลยของสังคมไป

ดังนั้น อาจเป็นไปได้นะครับที่นักการเมืองจะรวมตัวกันเพื่อ “แข็งข้อ”ต่อคสช. อย่าลืมว่าทั้ง 2 พรรคการเมืองคือเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ต่างก็มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่วมกัน อาจมานั่งทบทวนว่าถ้ายอมจำนนต่อคสช.นักการเมืองจะกลายเป็นเบี้ยล่างของคสช.ไปยาวนานถึง 8 ปีจะยอมเป็นตัวประกอบอดทนไปยาวนานขนาดนั้นไหม เพราะแม้รัฐธรรมนูญจะให้นายกฯคนนอกมาเป็นได้ครั้งเดียว แต่ก็ให้อำนาจส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ ถึง 5 ปี

เป็นไปได้ไหมที่พรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกับพรรคเพื่อไทยเพื่อตั้งรัฐบาลเสียเอง เพราะมีโอกาสสูงที่ 2 พรรคนี้รวมกันน่าจะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภาคือ 376 คนขึ้นไป เมื่อเทียบจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา

ถ้าพรรคใหญ่ 2 พรรคจับมือกัน ผมว่าพรรคขนาดกลางก็ต้องเข้าร่วมด้วยอาจจะกลายเป็น “ฉันทมติของนักการเมือง” ที่จะพาตัวเองออกจากบ่วงของ คสช.นั่นก็อาจหมายถึงการเป็น “รัฐบาลแห่งชาติ” ในความหมายกลายๆ นั่นเอง

อย่าประมาทนะครับว่า โอกาสนี้จะเป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่ามีความเป็นไปได้สูงมาก และง่ายกว่าการได้นายกรัฐมนตรีคนนอกเสียอีก เพราะเราต้องไม่ลืมคำพูดในวงการการเมืองที่ว่า “ไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวร” ถึงเวลานั้นนักการเมืองจะยอมเป็นคนชั่วคนบาปของสังคมที่ถูกประณามมาตลอดต้องก้มหน้าก้มตารับใช้กรรมใต้อำนาจ คสช.หรือว่าหันมาจับมือกันแล้วตั้งรัฐบาลบริหารประเทศเสียเอง

อย่าลืมนะว่าเคยมีคนเสนอให้พรรคการเมือง 2 พรรคจับมือกันเพื่อตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” มาแล้ว โอกาสหลังการเลือกตั้งครั้งแรกตามรับธรรมนูญฉบับนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงที่สุดที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่จะร่วมมือกันจริงๆ

เหลืออย่างเดียวก็คือ ประชาชน 2 ขั้วซึ่งสนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคจะยอมรับได้หรือไม่

ผมคิดว่า คสช.ก็น่าจะมองเห็นประตูนี้นะครับว่า ถ้าปชป.จับมือกับพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาล โอกาสในการเข้ามาบริหารประเทศเพื่อเดินหน้าตามเป้าหมายของ คสช.อาจจะถึงจุบจบ ดังนั้นอาจเป็นไปได้นะครับที่จะมีการ “รีเซ็ต” พรรคการเมือง

อย่างที่พูดๆ กัน เพื่อให้ทุกพรรคเริ่มต้นกันใหม่ อย่างน้อยก็อาจทำให้พรรคใหญ่แตกสลายแยกย้ายกันได้ โดยเฉพาะปชป.กับ กปปส. เพราะ กปปส.สนับสนุนจุดยืนของ คสช.แน่ๆ

พล.อ.ประยุทธ์ ก็เคยพูดถึงข่าวที่จะมีการสั่งให้พรรคการเมืองต้องจดแจ้งทะเบียนพรรคใหม่ว่า “ก็ไปถามคนพูดผมไม่ได้เป็นคนพูด” เมื่อถามว่าไม่มีใช่ไหม พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “เรื่องของผม ถ้าจะตอบคำถามนี้ต้องให้มายืนตรงผมแล้วผมไปยืนถาม ยืนยันใช้อำนาจในทางสุจริตที่ผมทำได้ให้ประเทศชาติปลอดภัย ประชาชนมีความสุข” เมื่อถามย้ำว่า เรื่องดังกล่าวไม่มี ทาง เป็นไปได้ใช่หรือไม่ นายกฯ ตอบว่า “มันเป็นเรื่องของผม ประเทศชาติแทงกั๊กได้เหรอ ล่มสลายกับไม่ล่มสลาย โธ่ความคิดพื้นฐาน”

ถามว่าถ้า 2 พรรคจับมือกันตั้งรัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติปลอดภัยและประชาชนมีความสุขมั้ยนี่แหละที่เป็นเรื่องต้องคิด


กำลังโหลดความคิดเห็น