เมืองไทย 360 องศา
“ยังไม่ตอบและขอไม่ตอบตรงนี้ เพราะมันไม่เกี่ยวกับผมเลย แต่เป็นเรื่องของการเมืองก็ว่ากันไป ไม่ใช่อยู่ดีๆ เขาจะมามุ่งหวังให้ผมเป็นนายกฯ แต่เขามุ่งหวังว่า หากจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคการเมืองแล้วมีปัญหาไม่ยอมกัน จึงจะเอาคนนอกแล้วท่านเชื่อหรือไม่ว่าจะตั้งไม่ได้”
“ไม่มีถ้า ยังไม่มีอะไรทั้งสิ้น” นั่นเป็นคำพูดตอบคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม เกี่ยวกับเรื่องนายกฯคนนอก
และคำถามย้ำว่าถ้าเชิญจริงๆ จะรับหรือไม่
แน่นอนว่า หากจะเคลมว่าผลของการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบไปด้วยคะแนนกว่าร้อยละ 61 ต่อ 38 ถือว่าท่วมท้น อีกทั้งเมื่อชาวบ้านออกมาใช้สิทธิเกินครึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงก็สามารถสรุปได้ว่าเป็นมติของคนส่วนใหญ่ ดังนั้น อย่าได้แปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสรุปว่านี่คือ “รัฐธรรมนูญของประชาชน”
เมื่อผลออกมาแบบนี้มันก็ย่อมต้องสร้างความดีใจลึกๆ สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ คสช. แม้ว่าในความเป็นจริงภายนอกย่อมไม่แสดงอาการออกมาให้เห็นก็ตาม เพราะการลงประชามติดังกล่าวอีกด้านหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญและเป็น “เดิมพัน” ก็คือ “ต้องผ่านความเห็นชอบเท่านั้น” แม้ว่าก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะพยายามย้ำอยู่ตลอดเวลาว่าไม่เกี่ยวกับเขา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แบบไม่ผ่านก็ร่างใหม่อะไรทำนองนั้น ย้ำกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้เกิดภาวะ “ลอยตัว” ว่า เป็นเรื่องของประชาชนตัดสินใจผลออกมาแบบนี้ก็พร้อมทำตาม
แต่ในความเป็นจริงมันไม่มีทางเป็นแบบนั้นหรอก เพราะต้องยอมรับความจริงว่า ในทางพฤตินัยและนิตินัย ถือว่านี่คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. คณะกรรมการยกร่างก็มาจาก คสช. และที่สำคัญประเด็นหลักที่กำหนดในบทเฉพาะกาล ที่เกี่ยวกับการแต่งตั้ง ส.ว. และคำถามพ่วงให้ ส.ว. ร่วมโหวตนายกฯคนนอกล้วนมาจากการผลักดันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นหลัก
หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน เชื่อว่าทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะอยู่ลำบากกว่าเดิม เพราะแรงกดดันให้ “แสดงความรับผิดชอบ” จะสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสมทบกับพวกประเทศตะวันตกที่ต้องฉวยโอกาสผสมโรงอยู่แล้ว
นอกจากนี้ คิดหรือว่าพวกเครือข่าย ทักษิณ ชินวัตร จะปล่อยให้ลอยนวล แม้ก่อนหน้านี้จะยังไม่พูดออกมา เพื่อรอให้ผลการลงประชามติออกมาก่อน และเชื่อมั่นว่า ฐานเสียงในต่างจังหวัดในภาคเหนือ อีสาน รวมไปถึงเกือบทุกภาคจะโหวตคว่ำ และเมื่อรวมกับการประกาศไม่รับของพรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็น่าจะมั่นใจ แต่เมื่อผลออกมาแบบพลิกล็อกอย่างที่เห็นมันก็แทบไปไม่เป็น ช็อกผิดหวัง สิ่งที่ทำได้ก็คือเหน็บแนมโวยวายฟ้องต่างประเทศ แต่ก็ทำได้แค่นี้ไม่มีผลอะไร
เพราะนี่คือความต้องการของประชาชน เหมือนอย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และได้สรุปดักคอเอาไว้แล้วว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
ที่บอกว่า การลงประชามติคราวนี้เป็นการ “เดิมพัน” ครั้งสำคัญของทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับอีกฝ่ายคือนักการเมือง สำหรับฝ่ายหลังเป็นเพราะเนื้อหามีการจำกัดบทบาท และกำหนดคุณสมบัติเอาไว้เข้มข้นโดยเฉพาะในเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพวกเขาจึงรวมหัวกันไม่รับโดยยกเอาเรื่องสิทธิเสรีภาพ ความเป็นประชาธิปไตยเป็นธงนำ ขณะที่ฝ่ายแรกแม้จะไม่ได้พูดอธิบายโดยตรง โดยใช้เสียงของคณะกรรมการยกร่างฯเป็นฝ่ายเดินสายชี้แจง แต่ในนาทีสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทิ้งไพ่ใบสำคัญ นั่นคือ “ประกาศรับร่าง” และเรียกร้องให้ประขาชนออกไปใช้สิทธิออกเสียงให้มากที่สุด ซึ่งเมื่อผลออกมาแบบท่วมท้นมันก็ย่อมสร้างความแข็งแกร่งมั่นใจกว่าเดิม เพราะเป็นการการันตีจากประชาชนทั่วประเทศ น่าชื่นใจกว่าพลังใดๆ
อีกทั้งผลของการออกเสียงประชามติคราวนี้ยังมีผลต่ออนาคต “ที่ยังมาไม่ถึง” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกด้วย นั่นคือ เรื่อง “นายกฯคนนอก” แม้เขาจะย้ำว่าเจตนาที่เขาร่างเพื่อให้พรรคการเมืองตั้งรัฐบาลยกเว้นมีปัญหาไม่ยอมกันนั่นแหละถึงไปเอาคนนอก และตำพูดที่ว่า “ไม่มีคำว่าถ้าเพราะยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น” มันก็เป็นการสงวนท่าทีไม่พูดล่วงหน้าให้มัดคอตัวเอง แต่อย่างน้อยคำพูดดังกล่าวมันก็ไม่ใช่การ “ปฏิเสธ” ไม่ใช่หรือ และผลของประชามติคราวนี้ก็สามารถสรุปได้ว่าชาวบ้านส่วนใหญ่หนุนหลังเขา และยังไปไกลถึงขั้นให้อยู่เป็นนายกฯต่อไป แต่คราวนี้ผ่านการโหวตของรัฐสภา ที่แม้ว่าหน้าตาจะเป็นแบบไหน ตะวันตกไม่ชอบ แต่อย่างน้อยคนไทยชอบ โหวตให้ผ่าน
มันถึงอาจเป็นที่มาของคำว่า “ยังไม่ตอบ ยังไม่มีถ้ายังไม่มีอะไรทั้งสิ้น” !!