เมืองไทย 360 องศา
“ผมคิดว่ามีคนดีมากกว่าผมอีกเยอะแยะในประเทศนี้ไปดูก็แล้วกัน ถ้าหาคนดีไม่ได้ค่อยมาพูดกับผม”
นั่นเป็นคำพูดหรือว่า “ท่าที” ล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่กล่าวเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม เมื่อถูกถามเกี่ยวกับเรื่องที่มีความพยายามเสนอให้เป็นนายกฯตามรัฐธรรมนูญใหม่หลังการเลือกตั้งในปลายปี 2560
พิจารณาจากคำพูดดังกล่าวข้างต้นถือว่าไม่ธรรมดาทีเดียว เพราะฟังดูแล้วมันเหมือนกับว่า “ตัวเองไม่ได้อยากเป็น นั่นคือ ให้พิจารณาหาคนอื่นไปตามขั้นตอน แต่หาก “หาคนดีไม่ได้” ก็ค่อยมาพูดกับเขา ความหมายก็ราวกับว่า “ในเมื่อหาใครไม่ได้ เขาก็ยินดีเสียสละยอมมานั่งเก้าอี้ให้ได้” อะไรประมาณนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา อย่าเพิ่งมาพูด เพราะยังมีหน้าที่แก้ปัญหาบ้านเมืองตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ นั่นคือ เป็นช่วงพิเศษที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องรอให้มีการเลือกตั้ง รอให้ถึงวันนั้นเสียก่อน
ถึงได้บอกว่าหากคิดจะกำจัด ทักษิณ ชินวัตร และรู้ทันเหลี่ยมคูนาทีนี้ก็น่าจะมีแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นี่แหละ เพราะมีทุกอย่างครบเครื่อง และที่ผ่านมาเขานี่แหละที่ทักษิณหวาดหวั่นมากที่สุดมาตั้งแต่เมื่อครั้งอยู่ในกองทัพ และพยายามกีดกันมาตลอด
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมีเหลี่ยมคูลึกซึ้งแค่ไหนก็ตาม ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับความศรัทธาและความต้องการของชาวบ้านส่วนใหญ่ เหมือนกับก่อนหน้านี้ที่คนอย่าง ทักษิณ ชินวัตร เคยได้รับความศรัทธาจากชาวบ้านอย่างล้นหลาม ผ่านทางเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่ในที่สุดแล้วตัวเขาเองนั่นแหละที่ทรยศต่อความไว้วางใจที่ชาวบ้านมอบให้ อีกทั้งตัวเขาที่สร้าง “ระบอบทักษิณ” ขึ้นมาจนทำลายความศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อระบอบประชาธิปไตย จนเวลานี้ชาวบ้านไม่น้อยเริ่มเมินเฉยต่อการเลือกตั้ง ขณะเดียวกัน กลับยอมรับ “เผด็จการ” ตราบใดที่ไม่มีเรื่องทุจริตอื้อฉาวให้น่ารังเกียจ หรือการใช้อำนาจป่าเถื่อนไร้คุณธรรม แบบนี้ชาวบ้านก็รับได้และให้การสนับสนุน เหมือนกับที่ชาวบ้านจำนวนมากกำลังให้การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งที่เป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในเวลานี้
ชาวบ้านรู้ดีว่า “สถานะ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะ ในปัจจุบัน เป็น “ผู้นำเผด็จการ” มาจากการรัฐประหาร และแม้ว่าประเทศทางตะวันตกจะไม่ยอมรับ และเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว แต่ตราบใดที่พวกเขายังไม่เบี่ยงเบนออกนอกเส้นทาง ชาวบ้านก็ยังให้การสนับสนุนพวกเขาก็ยังยืนอยู่ได้
เหมือนกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เต็มใจโหวตให้ผ่านประชามติ ทั้งที่รู้ว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตยเต็มร้อยแบบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่มี “บทเฉพาะกาล 5 ปี” ที่เปิดทางให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง ส.ว.ถึง 250 คน และโหวตผ่านคำถามพ่วงที่เปิดทางให้ ส.ว. แต่งตั้งร่วมโหวตเลือกนายกฯคนนอก (นอกบัญชีพรรคการเมือง) ซึ่งหากพิจารณาจากความรู้สึกของชาวบ้านที่โหวตผ่านดังกล่าวก็เป็นเพราะเบื่อหน่ายรังเกียจนักการเมือง และรู้ว่าหากมีการเลือกตั้งก็จะได้นักการเมืองแบบไหน ได้นายกฯ แบบไหนกลับเข้ามาอีก
ดังนั้น เมื่อวกกลับมาที่คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ข้างต้นพิจารณาจากความหมายมันก็เหมือนกับการ “แบะท่า” นั่นแหละ เพียงแต่เขาระมัดระวังที่จะพูด ไม่ออกตัวเร็วเกินไป จนกลายเป็นว่า “อยากเป็น” เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างต้องเป็นไปตามกติกาตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ นั่นคือวัตถุประสงค์แรก คือ เลือกนายกฯจากบัญชีของพรรคการเมือง 3 รายชื่อก่อน แต่หากเลือกไม่ได้ก็ค่อยมาพิจารณาเลือกจากคนนอก ซึ่งก็ตรงกับคำว่า “ถ้ายังหาคนดีไม่ได้ก็ค่อยมาพูดกับผม”
นั่นคือ “ไม่ได้ปฏิเสธ” เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องมาพูดกันถึงเรื่องนี้ อีกทั้งขืนพูดมากไปก็อาจทำให้เกิดการสร้างกระแสเบี่ยงเบนไปอีกทางหนึ่งก็ได้ โดยเฉพาะพวกเครือข่ายทักษิณ ชินวัตร รวมไปถึงพวก “โลกสวย” ที่บูชาลัทธิเลือกตั้งที่จ้องถล่มกันทุกทางในเวลานี้
อย่างไรก็ดี หากยังไม่พูดถึงเรื่องนายกฯคนนอก หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือไม่ก็ได้ พักเอาไว้ก่อน แต่นาทีนี้ก็ต้องถือว่าเขายัง “เต็งจ๋า” เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับพวกนักการเมืองคนอื่นๆ หากพิจารณาจากศักยภาพที่เป็นอยู่ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะมีใครมาเทียบได้ และหากพิจารณาจากเงื่อนไขเท่าที่มี และเปรียบเทียบกันระหว่างเขากับ ทักษิณ ชินวัตร ก็ถือว่านี่แหละคือคู่ต่อกรที่น่าหนักใจที่สุด ซึ่งหากจะกำจัดให้หมดความหมายก็มีแต่เขาเท่านั้นที่ทำได้ เพียงแต่ว่าจะตั้งใจทำหรือไม่เท่านั้น!