อดีต ส.ส.ระนอง ติงแนวคิดอธิการบดี มธ.ให้ ส.ว.ลากตั้งเสนอชื่อนายกฯ ได้ด้วย แต่ไม่แปลกใจเพราะ สนช.-คสช.ก็แต่งตั้งมา ย้อนคำถามพ่วงทำไมไม่ลงรายละเอียดให้ชัดทีเดียว ทำสับสนใช้ชั้นเชิงทาง กม.สร้างรอยด่าง รธน.ยิ่งขึ้น ได้คืบจะเอาศอก เป็นเรื่องอัปลักษณ์ทาง กม. หวังยึดสองขยักตามเดิม
วันนี้ (19 ส.ค.) นายวิรัช ร่มเย็น อดีต ส.ส.ระนอง และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระบุถึงประเด็นคำถามพ่วงที่ผ่านประชามติให้ ส.ว.แต่งตั้งสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ยังสามารถมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ได้ด้วยว่า ไม่น่าเชื่อว่านักวิชาการระดับอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีแนวคิดเช่นนี้ แต่ก็ไม่แปลกใจเพราะ สนช.เป็นหนึ่งในแม่น้ำห้าสายที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แต่หากจะตีความของคำถามพ่วงโดยการขยายขอบเขตและอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.แต่งตั้ง ทั้งที่บทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุไว้ จึงเกิดคำถามว่า เหตุใดในการออกแบบคำถามพ่วงจึงไม่ลงรายละเอียดโดยระบุให้ชัดเจนไปในคราวเดียวกัน ทำไมต้องออกแบบคำถามที่ต้องมาตีความให้เกิดความสับสนต่อสังคม เป็นการใช้ชั้นเชิงทางกฎหมายใช่หรือไม่
“หากจะมีการตีความในลักษณะนี้จะสุ่มเสี่ยงและเป็นรอยด่างในร่างรัฐธรรมนูญนี้ยิ่งขึ้นอีก หากมีการยื่นเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยชี้ขาดว่าการเพิ่มอำนาจ หน้าที่และบทบาทของ ส.ว.ขัดต่อคำถามพ่วง หรือเป็นการตีความที่เกินเลยเพิ่มขึ้นหรือไม่ มันจะเสียบรรยากาศและความรู้สึกของสังคม เพราะเข้าภาษิต ว่าได้คืบจะเอาศอก จะยิ่งกลายเป็นเรื่องอัปลักษณ์ทางกฎหมาย และหากมีคนตั้งข้อสังเกตว่าถ้าทำกันขนาดนี้แล้วจะมีการเลือกตั้ง ส.ส.จากประชาชนไปทำไม เหตุใดจึงไม่แต่งตั้ง ส.ว.แล้วให้มีบทบาทอำนาจ หน้าที่ได้เท่ากับ ส.ส.ไปเลย แต่ผมยังคิดในแง่ดีว่าในการประชุมร่วมระหว่าง กรธ.และตัวแทน สนช.จะคำนึงถึงบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญในส่วนคำถามพ่วงที่ระบุให้ทำเป็นขั้นตอนสองขยัก คือ ต้องให้ ส.ส.เสนอชื่อจากบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองก่อน หากเลือกไม่ได้จึงให้ยกเว้นและให้ ส.ว.มีสิทธิร่วมโหวตเลือกด้วย โดยไม่มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ หรือเลยเถิดไปถึงจะขอร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอย่างที่มีบางฝ่ายกำลังทำ” นายวิรัชกล่าว