xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจงให้ ศอตช.สอบเพิ่มเหตุข้อมูลไม่สมบูรณ์ - เชื่อไร้ปัญหาเลือกนายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ ด้านกฎหมาย แจงคำสั่ง คสช.ให้ ศอตช.สอบค้ามนุษย์ เหตุข้อมูลไม่สมบูรณ์ หรืออาจมีหลักฐานใหม่ ส่วนเรื่องคำถามพ่วงเชื่อไร้ปัญหาเลือกตามที่พรรคการเมืองเสนอ เว้นแต่คนที่เห็นแล้วร้องยี้ เป็นไปได้น้อย

วันนี้ (19 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 16.30 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 47/2559 ที่ให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกตรวจสอบกรณีถูกร้องเรียนเกี่ยวพันกับการค้ามนุษย์ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 33/2559 ว่า การตรวจสอบเจ้าหน้าที่ก่อนหน้านี้ของหน่วยงานต้นสังกัด พบบางคนมีความผิดเพียงแค่ภาคทัณฑ์ บางคนไม่มีความผิด แต่สิ่งที่พบอีกจุดคือ ศอตช.อาจให้ข้อมูลต้นสังกัดไปไม่หมด หรืออาจมีหลักฐานใหม่ จึงคิดว่ายังไม่สมบูรณ์เรียบร้อยอาจทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ

ที่สำคัญมีการร้องเรียนบุคคลที่ตรวจสอบไปแล้วเพิ่มเติม จึงให้ ศอตช.ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบอีกครั้ง โดยให้ใช้ผลสอบของต้นสังกัดและพยานหลักฐานที่ ศอตช.มีอยู่ทั้งหมดมาประกอบกัน และพูดคุยกับต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่นั้นๆ เพื่อให้ต้นสังกัดดำเนินการต่อไป ทั้งหมดนี้คือการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ถูกตรวจสอบ เพราะบางคนถ้าดูจากหลักฐานใหม่แล้วอาจจะไม่ผิดเลยก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนเจ้าหน้าที่คนอื่นเข้ามาอีกแต่เป็นคนละกรณีกับที่ตรวจสอบอยู่ ตรงนั้นอาจจะมีการพักงานเพิ่มเติม แต่ไม่สามารถบอกจำนวนได้

นายวิษณุกล่าวถึงข้อถกเถียงเกี่ยวกับคำถามพ่วงที่ ส.ว.จะมีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรีได้ในขั้นตอนใดว่า ต้องปล่อยให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้หารือกัน ต้องเอาข้อมูลรายงานการประชุม การเดินสายชี้แจงต่อประชาชนมาอธิบายให้ กรธ.ทราบ ส่วน กรธ.จะคิดเห็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่สุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะตัดสินโดยศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ส.ว.ไม่ได้มีสิทธิเลือกนายกฯ ได้เพียงหนเดียว แต่สามารถร่วมโหวตได้หากยังอยู่ในช่วง 5 ปีตามบทเฉพาะกาล ด้วยเหตุนี้จึงมีบางฝ่ายไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ แต่ถึงอย่างไรการเลือกนายกฯ มีความจำเป็นต้องเลือกตาม 3 รายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ

“ไม่คิดว่าจะมีปัญหาในการเลือกนายกฯ ตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ ยกเว้นรายชื่อตามที่พรรคการเมืองเสนอนั้นจะไม่เอาด้วยซึ่งเป็นไปได้น้อย แต่หากไม่มีคำถามพ่วงอาจจะมีปัญหาเรื่องของเสียงโหวต แต่เมื่อคำถามพ่วงผ่านประชามติ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของเสียงที่จะโหวต นอกจากรายชื่อทั้งหมดที่พรรคการเมืองเสนอจะไม่เอา” นายวิษณุกล่าว

รองนายกฯ ยังเปิดเผยว่า มีผู้ที่เกี่ยวข้องเอาหลักฐานมาให้ตนดูเกี่ยวกับการรณรงค์ประชามติ ซึ่งบางคนอาจจะใช้คำว่าปลอมรัฐธรรมนูญ เช่น มาตรา 67 ในร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่ารัฐพึงส่งเสริมอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น แต่ที่มีการบอกว่าปลอม เพราะไปตัดคำว่าศาสนาอื่นออกไป ทำให้รู้สึกว่าแล้วคนศาสนาอื่นจะอยู่อย่างไรในประเทศไทย ทั้งที่มาตรา 67 ไม่ได้เขียนอย่างนั้น และตนไม่ทราบว่าเป็นเหตุผลที่คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น