xs
xsm
sm
md
lg

กรธ.โดนกดดันหนัก ซิกแซกส.ว.ชงชื่อนายกฯ “ถาวร”ซัดแก๊งเชลียร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน360 - “รอง ปธ.กรธ.” รับหนักใจแก้ร่าง รธน.ให้สอดคล้องคำถามพ่วง ชี้ต้องหาช่องปิดทางตันการเมืองด้วย “เธียรชัย” ยัน กรธ.เสียงไม่แตก เดินตามความเห็น “มีชัย” เผยมีคนบี้ให้แก้เกินบทเฉพาะกาล แก๊งเชลียร์โผล่อีก "เสรี" อ้างประชามติให้ ส.ว.ลากตั้งเสนอชื่อนายกฯ "สมคิด" ห่วงไม่เคลียร์ หลังเลือกตั้งมีปัญหา "ถาวร" ซัดพวกเอาใจ คสช. กระสันอำนาจ หวังเป็น ส.ว.ลากตั้ง

วานนี้ (18 ส.ค.) นายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คนที่หนึ่ง เปิดเผยถึงความคืบหน้าแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของบทเฉพาะกาลให้สอดคล้องกับคำถามประกอบการออกเสียงประชามติที่ให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีว่า ในวันที่ 19 ส.ค. กรธ.ได้นัดตัวแทนจากสภาติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลของคำถามประกอบการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบต่อการนำเสนอและชี้แจงคำถามประกอบฯ ต่อประชาชน ตลอดจนการชี้แจงข้อมูลที่ว่า เวทีของ สนช.บางเวทีที่ผ่านมามีการระบุว่า ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯด้วย ซึ่งยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีการพูดเช่นนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ในกระบวนการปรับบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัวมองว่ามีหลายประเด็นต้องคำนึงถึงให้รอบคอบ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาทางตันทางการเมืองหรือทางออกหากเกิดกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ ตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในบทหลักของร่างรัฐธรรมนูญได้

“กรธ.ต้องพิจารณาให้รอบคอบเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย ดังนั้นต้องหาคำที่เหมาะสมที่สุด ส่วนที่ใครกำลังมองว่าการเขียนบทบัญญัติใดๆ เพื่อเปิดทางให้ผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กลับเข้าสู่ตำแหน่งบริหารอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ผมมองว่าต่อให้เขียนบทบัญญัติไว้อย่างไร เขาสามารถกลับมาเป็นได้ทั้งหมด เพราะการตัดสินใจจะกลับมาหรือไม่อยู่ที่ตัวของผู้นำใน คสช. แต่ทั้งหมดต้องพิจารณาปัจจัยที่สำคัญด้วย คือ การมีบารมีและเป็นที่ยอมรับจากประชาชนด้วย” นายสุพจน์ กล่าว

** ปูดกดดัน กรธ.แก้ผู้เสนอชื่อนายกฯ

ด้าน นายเธียรชัย ณ นคร กรรมการ กรธ.กล่าวเสริมว่า อนวทางของ กรธ.ยังเป็นไปตามที่ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ระบุว่า กระบวนการเลือกนายกฯ ต้องเป็นไปตามบทหลักของร่างรัฐธรรมนูญ คือขั้นตอนที่ 1 การเสนอชื่อนายกฯ ต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร และเป็นไปตามบัญชีรายชื่อของบุคคลที่พรรคการเมืองสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ และขั้นตอนที่ 2 หากเลือกบุคคลในบัญชีนายกฯ ของพรรคการเมืองไม่ได้ ต้องขอความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาเพื่อยกเว้นการใช้บัญชีนายกฯ ของพรรคการเมือง อย่างไรก็ดีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามประกอบฯ จะถูกจำกัดการแก้ไขในส่วนบทเฉพาะกาลเท่านั้น

แหล่งข่าวจาก กรธ. แจ้งว่า สำหรับการพิจารณาปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามประกอบฯ มีความพยายามให้ กรธ. แก้ไขบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ว่าด้วยการของความเห็นชอบจากรัฐสภางดเว้นการใช้บัญชีนายกฯของพรรคการเมือง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเนื้อหาจะคลุมถึงการงดใช้กระบวนการที่มานายกฯ ตามมาตรา 159 ว่าด้วยกรณีให้ ส.ส.เสนอชื่อนายกฯหรือไม่ เพราะต้องรอฟังความเห็นของ สนช. ก่อน อย่างไรก็ตามกรธ. มีความเห็นว่าหากมาตรา 272 ถูกแก้ไขและถูกยกเลิกไปอาจเป็นการทำลายความสมดุลของกระบวนการทางการเมืองที่ กรธ.ได้วางเจตนารมณ์ไว้ในตัวบทหลักดังนั้น กรธ. มีแนวโน้มจะคงมาตรา 272 ไว้แบบเดิม แต่หากเกิดปัญหาของการตีความจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดต่อไป.

*** อ้างเสียงปชช.ให้สิทธิส.ว.ร่วมเลือกนายกฯ

ขณะที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า เมื่อประชาชนได้ออกเสียงประชามติด้วยคะแนนกว่า 15 ล้านเสียง ให้ความเห็นชอบร่างคำถามพ่วง ซึ่มีข้อความตอนหนึ่งว่า “..ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคล ซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี" ดังนั้นจึงต้องนำสาระที่ผี่านความเห็นชอบจากประชาชนแล้วไปบัญญัติไว้แทน มาตรา 272 โดยไม่สามารถนำข้อความเดิมมาใช้ได้ เพราะมีบทบัญญัติของคำถามพ่วงมาแทนที่ไปแล้ว และหากตีความอย่างกว้างตามผลประชามติ ส.ว.ในฐานะส่วนหนึ่งของสมาชิกรัฐสภานอกจากเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบคนที่สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องพิจารณาตั้งแต่การเริ่มต้นกระบวนการ คือการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เริ่มแรก ตามเจตนารมณ์ของผลประชามติ ที่ให้ ส.ว.เข้ามาร่วมกับส.ส. ในการเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

“เพื่อให้กระบวนการเสนอชื่อนายกฯโดยสมบูรณ์ ต้องนำ มาตรา 159 วรรคสอง มาเทียบเคียง และบัญญัติในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 เพิ่มเติมต่อไปเป็นวรรคสอง ว่า “การเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีของสมาชิกรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง ต้องมีสมาชิกรัฐสภารับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของรัฐสภา” นายเสรี ระบุ

** “สมคิด” แนะทำให้เคลียร์ก่อนเกิดปัญหา

ขณะที่ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิก สนช. และอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่มีความเห็นในเรื่องนี้ โดยการจะบัญญัติให้ใครมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ 1. สนช.ในฐานะที่รับผิดชอบตั้งคำถามพ่วง แล้วไปชี้แจงกับประชาชน จะเสนอปรับแก้อย่างไร 2.กรธ.ในฐานะผู้ยกร่างฯ ก็จะต้องนำความคิดเห็นของตัวเองมาหารือกับ สนช. และ 3. ศาลรัฐธรรมนูญก็จะคอยวินิจฉัยในขั้นสุดท้ายว่า ร่างแก้ไขที่ กรธ.เสนอนั้นเป็นอย่างไร จากที่รับฟังจากสมาชิก สนช. รายอื่นระบุว่า เดิมในบทหลักรัฐธรรมนูญนั้น ส.ส.เป็นผู้เสนอชื่อนายกฯจากบัญชีที่ไปหาเสียงไว้ เพื่อให้ ส.ส.ด้วยกันเองเป็นคนเลือก ไม่เกี่ยวกับ ส.ว. แต่คำถามพ่วงที่ให้ส.ว. มีอำนาจร่วมกับ ส.ส. มีสิทธิเลือกนายกฯ จึงตีความว่า เมื่อมีสิทธิโหวต ก็ต้องมีสิทธิเสนอด้วย

“ถ้าไม่แก้ให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯด้วยตอนนี้ เชื่อว่าในอนาคตเมื่อมี ส.ว.ชุดใหม่ อาจจะมีปัญหา เพราะพวกเขาก็จะต้องตีความว่า ตัวเองมีอำนาจ แต่ผมเชื่อว่า ประเด็นนี้จะจบที่ศาลรัฐธรรมนูญ” นายสมคิด กล่าว

** “ถาวร” จวกพวกกระสันอำนาจ

อีกด้าน นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแกนนำ กปปส. กล่าวว่า การจะเพิ่มสิทธิให้ ส.ว.สรรหาสามารถร่วมโหวตนายกฯในวาระแรกนั้นจะเป็นการทำลายหลักการสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญ ทิ้งไป ตนเข้าใจพวกที่ต้องการเอาใจ คสช. เพราะบางส่วนอยากเป็น ส.ว.กลับเข้าสภามาอีก แต่ขอให้ดูหลักการของกฎหมายก่อน ค่อยๆ เดินไปตามหลักการที่ กรธ.วางไว้ อย่ารีบร้อน รู้ว่าอยากเป็น ส.ว.ที่มีอำนาจเต็ม แต่การเร่งรีบรวบรัดเช่นนี้ มันดูไม่สง่างาม และคิดว่า กรธ.ที่เป็นผู้ใหญ่คงไม่ทำตามสิ่งที่ผิดหลักการเช่นนี้ เพราะมันจะกลายเป็นการทำลายประชามติของประชาชน เท่ากับว่า จะเป็นการฉีกร่างรัฐธรรมนูญที่ประชาชนเลือกแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น