xs
xsm
sm
md
lg

คำถามที่ต้องการคำตอบด่วน! เมื่อรัฐบาลชิงขยายอายุสัมปทานเชฟรอนไปอีก 10 ปี โดยไม่ต้องประมูล?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เมื่อวันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้กับบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด แปลงสำรวจในอ่าวไทยบริเวณ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี หมายเลข B8/32 ออกไปอีก 10 ปี ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ถึง 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2573 จากอายุสัมปทานเดิมจะครบกำหนด 20 ปี ในปี 2563 ซึ่งการต่ออายุจะเป็นการต่อ 1 ครั้ง 10 ปี ตามข้อผูกพันเดิม

ทั้งนี้การต่ออายุสัมปทานไทยจะได้สัดส่วนผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นเป็น 71% เชฟรอน 29% จากเดิมที่ไทยได้ 63% ต่อ 37% โดยรายได้ที่บริษัทเชฟรอนจะได้หากมีการต่ออายุออกไป 10 ปี คำนวณจากปริมาณก๊าซและปิโตรเลียมที่จะขุดเจอได้ในช่วงเวลา 10 ปีนี้

นี่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดว่าการต่ออายุสัมปทานนั้นแม้เอกชนจะได้ผลตอบแทนที่น้อยลง แต่ก็ใช้สิทธิขอต่อสัญญาสัมปทานต่อล่วงหน้าไปอีก 10 ปี ดังนั้นใครที่คิดว่าแหล่งสัมปทานไทยนั้นศักยภาพต่ำ กระเปาะเล็กนั้น มีเหลือปิโตรเลียมน้อย จะต้องคิดใหม่ เพราะในขณะที่ราคาปิโตรเลียมได้ทยอยลดลงในรอบ 2-3 ปีมานี้ และยังมีพลังงานหมุนเวียนที่มีการพัฒนาในศักยภาพสูงมากขึ้นทุกวัน แต่บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ยังขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายเวลาสัมปทานออกไปอีก 10 ปี โดยไม่ต้องประมูล แสดงให้เห็นว่า แปลงสัมปทานในอ่าวไทย หมายเลข B8/32 มีศักยภาพแค่ไหน?

การไม่ต้องประมูลนั้นทำให้ไม่แน่ชัดว่าผลตอบแทนที่ไทยได้เพิ่มขึ้นจาก 63% เป็น 71% ทั้งๆที่ราคาปิโตรเลียมลดงนั้น เป็นผลตอบแทนสูงสุดตามการแข่งขันของราคาตลาด เพราะนอกจากจะไม่มีการแข่งขันแล้ว ยังเป็นการเจรจาตกลงกันเองจน "พอใจ" ทั้งสองฝ่าย จริงหรือไม่?

ตัวเลข 71% ที่ว่านั้น จึงไม่ได้เป็นหลักประกันว่ามีความโปร่งใสและเกิดผลประโยชน์สูงสุดของชาติได้จริง ตราบใดที่ไม่ได้เกิดจากการแข่งขันประมูล !!!

และเอาเข้าจริงนั้นการวัดเป็นเปอร์เซนต์ (%) นั้นก็ไม่แน่ว่าจะทำให้รัฐได้ผลตอบแทนแก่รัฐดีกว่าเดิมเสมอไป เพราะเหตุว่า ตาม พรบ.ปิโตรเลียมฉบับเดิมนั้น ได้ระบุให้เรื่องการแบ่งค่าภาคหลวง และภาษีนั้น ให้ผู้รับสัมปทานเสียค่าภาคหลวงและภาษีจากปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานขายได้ จริงหรือไม่?

ถ้าเป็นเช่นนั้น หมายความว่าถ้าสมมุติราคาที่ผู้รับสัมปทานขายนั้นเป็นราคาขายที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (เช่น สมมุติเพียงแค่ผู้รับสัมปทานสมรู้ร่วมคิดกับอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ) เปอร์เซ็นต์ที่คิดว่าได้สูงขึ้นเป็น 71% ก็อาจจะได้เม็ดเงินทั้งค่าภาคหลวงและภาษีที่ลดน้อยลงไปกว่า 63% เดิมก็ได้ จริงหรือไม่?

นอกจากนี้การคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ก็ยังมีคำถามอีกด้วยว่าเป็นการคิดเปอร์เซ็นต์ “หลังหักค่าใช้จ่ายของผู้รับสัมปทาน” จริงหรือไม่ ด้วยเหตุผลนี้ ตามกฎหมายปิโตรเลียมทั้งฉบับเดิมและฉบับใหม่ที่กำลังแก้ไขอยู่นั้นก็ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าให้นำค่าใช้จ่ายประเภทไหนมาหักได้หรือไม่ได้ ส่งผลทำให้ผู้รับสัมปทานสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศมาหักได้ด้วย เรื่องเปอร์เซนต์ที่เพิ่มขึ้นนั้นจึงไม่สามารถสร้างหลักประกันว่าจะทำให้รายได้ของรัฐเพิ่มขึ้นได้เลย

และ
.
ยิ่งไปกว่านั้นเหตุใดจึงไม่รอการแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียม และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตามที่ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คือ ให้ฟังข้อท้วงติงการแก้ไขกฎหมายของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)

ทั้งนี้เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ร้องเรียนว่าเหตุใดการแก้ไขกฎหมายของรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ยังไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ชาติ ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

และเหตุใดจึงเร่งชิงต่ออายุสัมปทานให้กับบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ไปอีก 10 ปีโดยไม่ใช้ระบบอื่น เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ จ้างผลิต ซึ่งรัฐจะมีอำนาจอธิปไตยในการบริหารและขายปิโตรเลียมที่ผลิตได้ เพื่อไม่ให้ตกหลุมกับดักตามเปอร์เซนต์ (%) ที่สูงขึ้นแต่ไม่มีหลักประกันว่าตัวเม็ดเงินจะได้มากขึ้น

และเหตุใดจึงไม่ใช้วิธีการประมูลการแข่งขันทำให้เกิดความโปร่งใสให้ชัดเจนเสียก่อน

และจุดอ่อนที่เคยใช้นำมาเป็นข้ออ้างตลอดว่าประเทศไทยต้องให้ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้ไปเพื่อความต่อเนื่องในการผลิตนั้น ตกลงในการต่อสัญญาแหล่งสัมปทาน B8/32 ครั้งนี้ เราได้แก้ไขปัญหาการเข้าพื้นที่เพื่อผลิตต่อเนื่องก่อนเวลา 10 ปี ข้างหน้าแล้วหรือยัง? หรือจะทำแบบเดิมๆทิ้งไว้เป็นกับดักข้ออ้างความต่อเนื่องในการให้สิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมครั้งต่อไปอีก?

และคำถามประการสำคัญต่อมาคือรัฐบาลไทยมีความจำเป็นต้องอนุญาตให้ขยายระยะเวลาให้กับเชฟรอนไปมากขนาดไหน?

ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มาตรา 26 วรรคสามบัญญัติเอาไว้ว่า

"การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้กระทำได้เมื่อผู้รับสัมปทานได้ปฏิบัติตามสัมปทานทุกประการและได้ตกลงในเรื่องข้อกำหนด ข้อผูกพัน และเงื่อนไขที่ใช้อยู่ทั่วไปในขณะนั้นก่อนสิ้นระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมไม่น้อยกว่า 15 วัน"

นั่นหมายความว่าการต่ออายุล่วงหน้าถึง 3 -4 ปีนั้น ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบลงนามในสัญญาสัมปทานโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้รับสัมปทานรายนั้นอยู่ระหว่างถูกตรวจสอบในเรื่องการกระทำความผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับสัมปทาน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีพิพาทมีกลุ่มบริษัทเชฟรอนได้ได้ทำเรื่องส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงไปขายยังแท่นขุดเจาะให้กลับบริษัทในเครือในพื้นที่ไหล่ทวีป หลังจากนั้นจึงนำน้ำมันที่อ้างว่าส่งออกวกกลับมาขายจังหวัดสงขลาเพื่อใช้ในบริษัทในเครืออีกนั้นเป็นจริงหรือไม่? และถ้าเป็นเช่นนั้นจะถือว่าเป็นน้ำมันเถื่อนมาขายที่สงขลาจริงหรือไม่?

เรื่องดังกล่าวนี้มีเรื่องที่น่าพิจารณาอยู่ว่า หากสมมุติว่าผลสรุปกรณีดังกล่าวนี้มีการหลบเลี่ยงภาษี สร้างความเสียหายแก่รัฐหรือไม่ บริษัทในเครือของเชฟรอน ยังถือว่าได้ทำตามเงื่อนไขในการสัมปทานอย่างถูกต้องโดยสุจริตหรือไม่? โดยเฉพาะเพื่อปรากฏข้อท้วงติงจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว ใช่หรือไม่?

และถ้าผลการตรวจสอบซึ่งยืดเยื้อถ่วงคดีมาหลายปีปรากฏออกมาว่ากลุ่มบริษัทเชฟรอนมีความผิดจริง จะดำเนินการต่ออายุสัมปทานได้อย่างไร เพราะเท่ากับไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขสัมปทานหรือไม่?

และถ้าเดินหน้าให้สัมปทานไปแล้ว จะย้อนมาเพิกถอนได้อย่างไร?

และถ้ามีการกระทำความผิดฐานการหลบเลี่ยงภาษี ควรขึ้นบัญชีดำกลุ่มบริษัทเชฟรอน ไม่ให้มีสิทธิประมูลหรือต่ออายุสัมปทานหรือไม่?

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นการชิงตัดหน้าให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบในการต่ออายุสัมปทานทานแก่เชฟรอนก่อนจะตอบคำถามและรอให้ทราบผลการตรวจสอบข้างต้นนั้น อาจจะเท่ากับส่งสัญญาณผิด เพราะตั้งธงเป็นจากคณะรัฐมนตรีให้ข้าราชการดำเนินการช่วยล้างความผิดไปด้วยหรือไม่?

การกระทำเช่นนี้ทำให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งประชาชนคาดหวังว่าจะเข้ามาทำงานเพื่อหยุดปัญหาการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง และสร้างความโปรงใสมีธรรมาภิบาลในการบริหารทรัพยากรของประเทศ ไม่มีความสง่างามเลย จริงไหม?

แต่เวลานั้นก็ยังมีเหลืออยู่เล็กน้อย เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้มีการลงนามในสัญญา ขอเพียงให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำเนินการสั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบประเด็นที่เสียเปรียบ ตลอดจนการตรวจสอบพฤติการณ์ของเชฟรอนให้เสร็จสิ้นเสียก่อน ก่อนที่จะลงนามในสัญญาต่อสัมปทานต่อไป

เพราะมิเช่นนั้นเดี๋ยวจะมีแปลงสัมปทานอีกมาก มาทยอยใช้บรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้องอีกจำนวนมาก และเดินกันไปอีกหลายรัฐบาลจนประโยชน์ของชาติไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ขอเพียงแค่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความจริงใจอย่างเดียวเท่านั้น!!


กำลังโหลดความคิดเห็น