xs
xsm
sm
md
lg

จำหน้าพวกเขาไว้ในประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


หลังจากยืดเยื้อมาอย่างยาวนาน คณะกรรมาธิการวิสามัญคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ได้มีการประชุมเมื่อวันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ได้ประชุมและมีความเห็นที่จะเลื่อนการลงมติออกไปเป็นวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งว่าเครือข่ายประชาชนเพื่อปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้คัดค้านกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับก็เพราะเหตุว่ารัฐบาลได้เสนอ พรบ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... จนสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบในหลักการ วาระที่ 1 ไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559 นั้นเป็นกฎหมายที่มีปัญหาในหลักการสรุปได้ 3 ประการสำคัญ
       
        ประการที่หนึ่งเป็นกฎหมายปิโตรเลียมที่ไม่ได้แก้ไขให้เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พรบ.ปิโตรเลียม 2514 และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงเท่ากับเป็นกฎหมายที่ไม่ได้มีการแก้ไขให้เกิดความโปร่งใส การจัดเก็บผลประโยชน์ของรัฐให้มีประสิทธิภาพตามผลการศึกษาให้ครบถ้วนแต่ประการใด จึงเท่ากับเป็นกฎหมายที่ทั้งรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติกลืนน้ำลายตัวเอง เพราะไม่ทำตามผลการศึกษาของตัวเองที่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้ว จึงย่อมเท่ากับไม่ฟังเสียงของประชาชนด้วย
       
        ประการที่สอง เป็นกฎหมายที่ไม่ได้ทำให้อธิปไตยปิโตรเลียมไทย โดยเฉพาะมิติการบริหารจัดการปิโตรเลียมที่ผลิตได้ และการขายปิโตรเลียมที่ผลิตได้ให้กลับมาเป็นของรัฐไทยอย่างแท้จริง ทำให้แหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปนั้น ไม่มีองค์กรที่เรียกว่าบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาถือกรรมสิทธิ์ บริหาร และขายปิโตรเลียมที่รัฐพึงได้จากการผลิตปิโตรเลียม และต้องยกให้เอกชนไปบริหารหรือขายปิโตรเลียมแทนรัฐซึ่งคล้ายกับระบบสัมปทานเดิม
       

        ดังนั้นหากมีการเร่งรัดให้สิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมไทยโดยเฉพาะในแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงภายในปี 2559 หรือปี 2560 นี้โดยยังไม่มีการทวงคืนอธิปไตยปิโตรเลียมไทยให้กลับคืนมาเป็นของรัฐ ประเทศไทยจะต้องเสียอธิปไตยในปิโตรเลียมไทยไปอีกไม่น้อยกว่า 39 ปี อีกทั้งยังเป็นบรรทัดฐานให้รัฐบาลในชุดต่อๆไปปฏิบัติตามในทุกแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในอนาคตอีกด้วย

ประการที่สาม เป็นกฎหมายปิโตรเลียมที่ไม่มีความชัดเจนในวิธีการเลือกระบบการให้สิทธิ์ผลิตปิโตรเลียมว่าจะเลือกระบบไหนระหว่างการใช้ ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต อีกทั้งวิธีการคัดเลือกเอกชนก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่าจะใช้การประมูลเม็ดเงินผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด หรือการใช้ดุลพินิจให้คะแนน การที่กฎหมายเปิดช่องว่างมากมายในการใช้ดุลพินิจเช่นนี้ย่อมเป็นช่องโหว่ทำให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างมากมายมหาศาล ซึ่งจะเป็นผลทำให้รัฐไม่สามารถได้รับผลตอบแทนสูงสุดจากการแข่งขันเสรีและโปร่งใส ในขณะเดียวกันก็จะเป็นบรรทัดฐานให้รัฐบาลชุดต่อๆไปสบช่องและโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของชาติ

คนเราทุกคนเกิดมาก็ต้องตายทุกคน เพียงแต่ประวัติศาสตร์จะบันทึกเอาไว้ว่าในช่วงที่เราได้มีชีวิตอยู่นั้นได้ทำความดี สร้างประโยชน์ หรือสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติและลูกหลานหรือไม่ และจะขอใช้พื้นที่นี้บันทึกประวัติศาสตร์คุณงามความดีของคน และความเลวทรามต่ำช้าของคนในยุคนี้ให้คนลูกหลานได้อ่าน และเข้าใจ ก่นด่าสาปแช่ง และประณามว่าคนในตระกูลใดทำลายชาติบ้านเมืองในเวลานี้บ้าง?

ถ้าวันหนึ่งเมื่อเกิดความเสียหายตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯศึกษากฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับเกิดขึ้น ก็ขอให้ช่วยก่นด่าสาปแช่ง ประณาม ด้วยว่าเพราะคนในรุ่นนี้และตระกูลเหล่านี้ อันประกอบไปด้วยผู้ที่มีอำนาจทั้งหลายในยุคนี้ไม่ทำตามผลการศึกษาที่ตัวเองศึกษามา กลืนน้ำลายที่ให้สัญญาเอาไว้กับประชาชน ชาติถึงได้เกิดความเสียหาย

ถ้าวันหนึ่งเมื่อเกิดความเสียหาย เพราะลูกหลานและคนรุ่นหลังได้พบว่าประเทศไทยไม่มีโอกาสที่จะมีอธิปไตยปิโตรเลียมได้กลับคืนมาในการกำหนดการบริหารทรัพยากรด้วยตัวเอง หรือไม่มีอธิปไตยในการการขายและกำหนดราคาปิโตรเลียมด้วยตัวเอง ก็ขอให้ก่นด่าสาปแช่ง ประณามด้วยว่าบุคคลและตระกูลที่เกี่ยวข้องของคนรุ่นนี้ที่มีส่วนสำคัญทำให้ชาติเสียหาย

ถ้าวันหนึ่งเกิดความเสียหายว่า ทันทีที่เกิดการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุแล้วนั้น กลับไม่ทำให้เกิดการประมูลอย่างแท้จริง ไม่มีการแข่งขัน ทำให้รัฐไม่ได้ผลตอบแทนแก่รัฐอย่างเต็มที่ และต้องรอหมดอายุไปอีก 39 ปี ก็ให้ก่นด่า สาปแช่ง และประณาม ด้วยว่าเพราะคนรุ่นนี้ได้ทำความเสียหายเอาไว้ ให้กับชาติบ้านเมือง

และถ้าการปล่อยให้กฎหมายผ่านเพียงเพราะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือคณะกรรมาธิการฯ ใช้เสียงข้างมากลากไป เพียงเพราะอยากจะเชลียร์เจ้านายโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของชาติ แล้วเกิดความขัดแย้งกับประชาชนนอกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็เพราะผู้มีอำนาจทั้งหลายไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน

แต่ถ้าเกิดสิ่งตรงกันข้ามว่าคนในยุคนี้ได้กอบกู้การรอคอยอย่างยาวนานของประเทศชาติที่เอกชนทั้งหลายได้หมดอายุสัมปทานปิโตรเลียมลง ด้วยการทำกฎหมายอุดรอยรั่วตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำให้อธิปไตยปิโตรเลียมไทยกลับคืนมาเป็นของรัฐไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สร้างความมั่นคงทางพลังงานอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน รวมถึงการออกกฎหมายที่ส่งผลทำให้เกิดการประมูลแข่งขันอย่างเสรีและเต็มที่อย่างเป็นรูปธรรม ประวัติศาสตร์ก็จะรำลึกถึงคุณงามความดีและความกล้าหาญถึงลูกหลานด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้คนที่เลือกก็จะเป็นทุกคนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึงคณะกรรมาธิการวิสามัญฯที่กำลังจะลงมติกฎหมายปิโตรเลียมในครั้งนี้ทางใดทางหนึ่ง

สำหรับภาคประชาชนนั้น ประวัติศาสตร์จะได้บันทึกเอาไว้ว่าได้ทำตามหน้าที่ของตนเองอย่างสุดความสามารถตามสติปัญญาของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ไม่เสียชาติเกิดในช่วงประวัติศาสตร์ในช่วงนี้ และประชาชนรวมถึงคนรุ่นถัดไปควรจะได้อ่านเนื้อหาการคัดค้านอย่างเป็นเหตุเป็นผลในจดหมายฉบับล่าสุดที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาไทย (คปพ.) ได้ยื่นต่อประธานคณะกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมถึง นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ความตอนหนึ่งว่า:

"ตามที่ ข้าพเจ้านายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล นางสาวรสนา โตสิตระกูล หม่อมหลวง กรกสิวัฒน์ เกษมศรี และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ.....และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันจันทร์ ที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๙ ตามการเชิญของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ นั้น

ในครั้งนี้ข้าพเจ้าขอนำส่งประเด็นคัดค้านร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เพราะเป็นกฎหมายที่มีช่องโหว่ที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงในทรัพยากรปิโตรเลียมและอาจเกิดการรั่วไหลในการจัดเก็บรายได้แผ่นดินแก่ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตามที่ข้าพเจ้าได้นำเสนอข้อมูลและความความคิดเห็นในการประชุมเมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ท่านได้โปรดแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อทำการปรับปรุง แก้ไขให้เกิดความรัดกุม ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้แผ่นดินอันเกิดจากทรัพยากรปิโตรเลียม

สืบเนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากคัดค้านการเปิดสัมปทานให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ ของกระทรวงพลังงานอย่างกว้างขวางในประเด็นความไม่โปร่งใสของระบบสัมปทานอันมีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้แผ่นดินจากทรัพยากรปิโตรเลียม จนกระทั่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกระทรวงพลังงานในการเปิดสัมปทานรอบที่ ๒๑ นั้น ทำให้ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แถลงต่อสาธารณะว่า ที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้เลื่อนการพิจารณาการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ ๒๑ ออกไปก่อน โดยสั่งการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำการศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และให้จัดทำข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเสียก่อน

ซึ่งต่อมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาการบังคับใช้และจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขช่องโหว่ของกฎหมายในการจัดเก็บรายได้แผ่นดินให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้นและเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดทั้งต่อรัฐและประชาชน และให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองในการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมได้ในอนาคต โดยมีผู้แทนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้แทนภาคประชาชน โดยมีหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนภาคประชาชนร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการดังกล่าวด้วย ซึ่งมีกำหนดเวลาศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน ๙๐ วัน ในวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

แต่ในวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘ กระทรวงพลังงานได้เสนอร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่จัดทำขึ้นเองเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ทั้งที่ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น ได้เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ ว่า กระทรวงพลังงานจะรอผลการศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อนจัดทำร่างแก้ไขพระราชบัญญัติทั้ง ๒ ฉบับ จึงเห็นได้ว่าการช่วงชิงเสนอร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นเองโดยกระทรวงพลังงาน แสดงถึงเจตนาในการละเลยการแก้ไขปัญหาของพระราชบัญญัติที่ยังมีช่องโหว่ของกฎหมายอันอาจนำไปสู่การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำได้ และเป็นการขัดกับมติของที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกทั้งขัดกับรายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ พ.ศ. ๒๕๑๔ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

แม้จะมีการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปแก้ไขที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วก็ตาม แต่ก็มิได้มีการแก้ไขปัญหาอันมีสาระสำคัญในส่วนของการจัดเก็บรายได้แผ่นดินในระบบสัมปทาน โดยไม่ปรากฏเหตุขัดข้องถึงการมิได้แก้ไขช่องโหว่ของกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด และแม้ว่าในปัจจุบันหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี จะเป็นอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถแปรญัตติในมาตราซึ่งเป็นช่องโหว่ที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตในรายได้ของแผ่นดินได้ เนื่องด้วยกระทรวงพลังงานมิได้ทำการแก้ไขไว้ในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น หากร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับผ่านการรับรองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อาจก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดจากช่องโหว่ของกฎหมายที่จะทำให้เกิดความเสียหายในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งต่อรัฐและประชาชนในการจัดเก็บรายได้แผ่นดิน ทั้งค่าภาคหลวง ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ และกฎหมายยังเปิดช่องที่อาจมีการหลบเลี่ยงภาษีอากร (Tax Evasion Scheme) อันเป็นการกระทำความผิดอาญาฐานฟอกเงิน (Proceeds of Crime) ให้ดูเหมือนเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหากพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้

กระทรวงพลังงานในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ร่างกฎหมาย และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ออกกฎหมาย (Regulatory Agencies) อาจเข้าข่ายการส่อเจตนาไม่สุจริตประสงค์ต่อผล (Corrupted and Illegal Practice) ในการแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑ (๑) มาตรา ๕๙ วรรคท้าย และสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการฟอกเงิน (Process of Money Laundering) ผ่านช่องโหว่ของกฎหมายโดยได้กระทำต่อทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งเป็นทรัพย์สินของประชาชนซึ่งเป็นผู้เสียหายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ทั้งทางแพ่งและอาญาอันเป็นไปตามมาตรฐานสากลและเป็นการกระทำขัดกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ๒๐๐๓ ที่ประเทศไทยได้ไปลงนามไว้แล้วในปี ๒๕๕๔ บทบัญญัติข้อ ๑๔ ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกมีหน้าที่จะต้องหยุดยั้งกระบวนการฟอกเงินซึ่งถือเป็นการทุจริตคอร์รัปชั่นและต้องจัดให้กฎหมายภายในประเทศ (Domestic Regulatory) และการบริหารจัดการภาครัฐ (Supervisory Regulatory) ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อเอื้อประโยชน์โดยการออกกฎหมายและการจัดตั้งหน่วยงานบริหารและกำกับดูแลให้มีส่วนร่วมกับการฟอกเงิน

ข้าพเจ้าทั้งสี่อันประกอบด้วยนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล นางสาวรสนา โตสิตระกูล หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)จึงขอกราบเรียนมายังท่านในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาร่างกฎหมายทั้งสอง เพื่อให้ท่านได้โปรดพิจารณาเสนอแนะไปยัง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้พิจารณาถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อทำการปรับปรุง แก้ไขให้เกิดความรัดกุม ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้แผ่นดินอันเกิดจากทรัพยากรปิโตรเลียมอันเป็นรายได้สำคัญยิ่งของชาติต่อไป"

วันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ช่วยกันบันทึกประวัติศาสตร์ว่าในขณะที่ประชาชนชาวไทยทั้งชาติอยู่ในความโศกเศร้า อาลัย และรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และกำลังสร้างรากฐานทางจิตใจให้ประชาชนชาวไทยร่วมกันทำความดีตามรอยเท้าพ่อหลวงที่เคารพรักยิ่งของปวงชนชาวไทย

คนที่มีอำนาจทั้งหลายใช้โอกาสนี้กำลังทำอะไรให้ชาติบ้านเมืองบ้าง !!!?


กำลังโหลดความคิดเห็น