xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.จี้นายกฯ-สนช.ยับยั้งร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯ พบจุดอ่อนเปิดช่องทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คปพ.” แถลงจุดยืนเรียกร้องให้นายกฯ และ สนช. ยับยั้งร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมห ลังคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะพิจารณาแก้ไขหลักการ 14 พ.ย.นี้ ยันต้องถอนออกมาแก้ไขให้สอดคล้องกับผลการศึกษาของ สนช.ที่เครือข่ายภาคประชาชนต้องการ พบแม้จะมีการแก้แต่หลักการคงเดิมมีช่องโหว่เปิดช่องทุจริต-ฟอกเงิน พร้อมจี้ ครม.อังคารหน้าเร่งพิจารณาคืนท่อก๊าซฯ


นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เปิดเผยว่า คปพ.ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณายับยั้งร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนอย่างแท้จริงเนื่องจากวันที่ 14 พ.ย.นี้จะมีการลงมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับว่าจะแก้ไขหลักการหรือไม่ซึ่ง คปพ.ต้องการให้ตีกลับมาเพื่อแก้ไขหลักการเสียก่อน

“คปพ.มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องแถลงข่าวครั้งนี้ เราตระหนักดีว่าขณะนี้อยู่ในช่วงประชาชนต่างโศกเศร้าและร่วมไว้อาลัยแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แต่ระหว่างนี้กลับใช้โอกาสนี้เดินหน้ากฎหมายที่เป็นปัญหาโดยไม่ฟังเสียงประชาชน เราเองได้ยื่นจดหมายโดยไม่เป็นข่าวในการท้วงติง ปล่อยไปไม่อาจกลับมาแก้ไขเพราะเราพบว่าร่างกฎหมายที่กระทรวงพลังงานเสนอถูกร่างมาอย่างไม่สมบูรณ์ มีช่องโหว่ และไม่เป็นไปตามรายงานผลการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่อย่างใด ดังนั้นจึงสมควรถอนกฎหมายนี้ออกจาก สนช.เพื่อแก้ไขให้สมบูรณ์ก่อน เพราะมูลค่าของก๊าซในอ่าวไทยนั้นคิดเป็น 4-5 แสนล้านบาท” นายปานเทพกล่าว

นอกจากนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 15 พ.ย.นี้ ขอเรียกร้องให้มีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการคืนท่อก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท.ให้สาธารณชนรับทราบเนื่องจากก่อนหน้านี้ทราบมาว่า ครม.มีวาระลับกำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลังเร่งหาข้อยุติดังกล่าวให้เสร็จตั้งแต่ 24 ต.ค.ซึ่งถือว่าเกินกำหนดหากไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้จะถือว่า ครม.ละเว้นปฏิบัติหน้าที่

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี แกนนำ คปพ.กล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้งตนและ คปพ.ได้มีการยื่นหนังสือคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯทั้ง 2 ฉบับมาอย่างต่อเนื่องแม้จะมีการท้วงติงแต่กระทรวงพลังงานก็ยังคงผลักดันร่างดังกล่าวโดยพบว่ายังไม่โปร่งใสยังคงยึดหลักแนวทางปฏิบัติไม่ต่างจากกฎหมายสัมปทานเดิมที่การพิจารณามีการใช้ดุลพินิจจำนวนมากเปิดโอกาสการทุจริต ซึ่งจะเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาอยู่นั้นล่าช้าก็เพราะรู้ดีว่ามีช่องโหว่ และไม่เป็นไปตามที่ภาคประชาชนเรียกร้อง

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล แกนนำ คปพ.กล่าวว่า คปพ.เห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งคัดบริหารจัดการแหล่งเอราวัณ-บงกชที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2565-66 แต่จำเป็นจะต้องใช้กฏหมายที่มีความสมบูรณ์และสิ่งที่น่าห่วงสุดคือกฎหมายที่กำลังพิจารณาฯ ไม่มีการแก้ไข โดยยังคงจุดอ่อนเปิดช่องทุจริต และฟอกเงิน เพราะการพิจารณาให้สิทธิแก่เอกชนยังคงใช้หลักดุลพินิจของราชการเป็นหลักซึ่งบางกรณีนำไปสู่การฟอกเงิน ตนได้ยืนเรื่องไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกำลังให้ข้อมูลอยู่

น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำ คปพ.กล่าวว่า การเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ตามที่กระทรวงพลังงานหารือกับประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้เสร็จภายใน ธ.ค.นี้จึงมองได้ว่าเป็นการมองผลประโยชน์เอกชนเป็นหลัก และเป็นการต่ออายุสัมปทานเดิมที่จะหมดลงมากกว่า ขณะเดียวกันเรื่องท่อก๊าซฯ ก็ต้องเร่งพิจารณา ที่ผ่านมากลับนิ่งเฉยทั้งที่กฤษฎีกาตีความแล้วว่าท่อต้องคืนทั้งระบบส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ได้

“เราเตือนท่านแล้ว ถ้ากฎหมาย 2 ฉบับผ่านไปวันนี้ท่านอาจจะมีอำนาจ แต่วันใดที่ท่านหมดอำนาจลง สิ่งเหล่านี้จะตามท่านไปแน่นอน” น.ส.รสนากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น