xs
xsm
sm
md
lg

“คืนความสุขให้เชฟรอน”? 6 คำตอบของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่ตรงคำถาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<b>นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน</b>
สัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลง B8/32 ที่กระทรวงพลังงานอนุมัติต่ออายุสัมปทาน ให้กับบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย)
ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2559 นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ได้ออกมาชี้แจงกรณีที่เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย(คปพ.)ยื่นหนังสือไม่เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีที่ต่อระยะเวลาอายุสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลง B8/32 ให้กับบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเห็นว่าคำชี้แจงดังกล่าวนั้นยังไม่ตอบให้ตรงประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอ้างว่า กรณีที่ไม่รอแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เสร็จก่อน ก็เพราะว่ากฎหมายอยู่ระหว่างแก้ไขดังกล่าวได้เพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต แต่ในขณะนี้กฎหมายยังไม่ได้ข้อยุติแต่อย่างใด และการต่อระยะเวลาการผลิตก็เป็นไปตามสัญญาเดิมนั้น

ข้อโต้แย้งประเด็นที่ 1 สำหรับประเด็นนี้ประเด็นมีอยู่ว่าการแก้ไขกฎหมายในขณะนี้หากมีระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิต ก็ย่อมจะสามารถเป็นทางเลือกกับแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังหมดอายุได้จริงหรือไม่ แล้วเหตุใดไม่เลือกหนทางในการ “ประมูลแข่งขัน” ในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือระบบจ้างผลิต

และประเด็นสำคัญหากสมมุติว่าต้องเดินหน้าในระบบสัมปทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เหตุใดจึงไม่มีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม “ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบสัมปทาน” ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งรับรองโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเสียก่อน?

ก็ในเมื่อทั้งฝ่ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกระทรวงพลังงานต่างมีความเชื่อมั่นว่ากฎหมายปิโตรเลียมจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนนี้ เหตุใดจึงชิงตัดหน้าต่ออายุสัปทานก่อนการแก้ไขกฎหมายให้แล้วเสร็จทั้งๆที่ยังเหลืออายุสัมปทานอีก 3 ปีข้างหน้า?

พฤติกรรม “ชิงตัดหน้า” เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานก็ชิงตัดหน้าเสนอการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมก่อน ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ สภานิติบัญญัติแห่งชาติฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ทั้งๆที่นโยบายรัฐบาลได้ชะลอการเปิดสัมปทานรอบใหม่ออกไปก็เพื่อให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติไปตั้งคณะกรรมาธิการไปศึกษาและแก้ไขกฎหมายให้ครบถ้วนเสียก่อนใช่หรือไม่ การกระทำเช่นนี้จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสได้อย่างไร?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่างแก้ไขของกระทรวงพลังงานและรัฐบาลในขณะนี้ไม่ได้เป็นตามผลการศึกษาให้ครบถ้วนเสียด้วย โดยเฉพาะระบบสัมปทานนั้นไม่ได้มีการแก้ไขตามผลการศึกษาเลย แล้วจะให้เชื่อมั่นในความโปร่งใสได้อย่างไร?

ประเด็นที่ 2อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอ้างว่าการต่อระยะเวลาผลิตแปลง B8/32 เป็นการดำเนินการภายใต้สัญญาเดิมที่มีการกำกับดูแล ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด จากหน่วยงานของรัฐทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกรมสรรพากร โดยมีกฎหมายที่กำหนดเกณฑ์จัดเก็บภาษีเงินได้ ค่าภาคหลวงและรายได้อื่นๆ ที่มีความชัดเจนและรัดกุม มุ่งเน้นผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่แล้ว

ข้อโต้แย้งประเด็นที่ 2 คำชี้แจงของอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติพูดราวกับว่าภายใต้ระบบสัมปทานเดิมนั้นไม่มีจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขแต่ประการใด แต่ในความเป็นจริงแล้วผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งรับรองโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ไม่ได้เพียงเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ ระบบจ้างผลิตเท่านั้น แต่ยังให้มีการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เป็นระบบสัมปทานเดิมด้วย จึงได้มีการระบุความตอนหนึ่งในผลการศึกษาดังกล่าวความตอนหนึ่งว่า

“กฎหมายมีปัญหาสมควรต้องแก้ไข เนื่องจากมีช่องโหว่การจัดเก็บรายได้แผ่นดินและการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานในอนาคต”

ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่ากฎหมายภายใต้ระบบสัมปทานเดิม “มีช่องโหว่การจัดเก็บรายได้แผ่นดิน” !!!

แต่ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นคือ ร่างกฎหมายของกระทรวงพลังงานก็ไม่ได้มีการแก้ไขกฎหมาย ในส่วนของระบบสัมปทาน ให้เป็นไปตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งรับรองโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เลยใช่หรือไม่?

คำชี้แจงของอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเรื่องความมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ จึงเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย จริงหรือไม่?

ประเด็นที่ 3ปัญหาการไม่แก้ไขจุดอ่อนในกฎหมายที่ทำให้รัฐไม่สามารถเข้าไปผลิตต่อเนื่องภายหลังการต่ออายุสัมปทาน จะส่งผลทำให้เมื่อใกล้หมดอายุสัมปทาน (หลังการต่ออายุ 10 ปีไปแล้ว) ก็จะทำให้เอกชนมีอำนาจต่อรองเหนือรัฐโดยอ้างความต่อเนื่องในการผลิตซ้ำรอยการต่ออายุสัญญาในแหล่งเอราวัณและบงกช อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตอบว่า การต่อสัญญาสัมปทาน B8/32 ได้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเตรียมการสำหรับการรับช่วงผู้ดำเนินงานในกรณีที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในอนาคต ซึ่งเป็นการป้องกันและลดข้อกังวลที่เคยมีต่อแหล่งที่จะสิ้นสุดอื่นๆแล้ว

ข้อโต้แย้งประเด็นที่ 3 ปัญหาเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมไม่ใช่เพียงแค่ “การฝึกอบรม” แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ปัญหาคือที่ผ่านมาฝ่ายรัฐใช้ข้ออ้างว่าภายใต้กฎหมายที่เป็นอยู่รัฐไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อผลิตปิโตรเลียมให้ต่อเนื่องเมื่อใกล้หมดสัญญา ถ้าที่ผ่านมาเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวนี้เป็นวิกฤติก็ควรต้องแก้ไขกฎหมายจริงหรือไม่?

เพราะการฝึกอบรมก็ทำได้เพียงแค่การถ่ายโอนเทคโนโลยีเท่านั้น แต่การที่รัฐเข้าไปผลิตในพื้นที่ไม่ได้ทำให้เอกชนมีอำนาจการผลิตหรือลดกำลังการผลิตเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้เอกชนบีบบังคับกดดันรัฐบาลให้ต่อสัญญาให้กับผู้รับสัมปทานรายเดิม การฝึกอบรมโดยไม่แก้ไขกฎหมายจะสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับรัฐไทยได้อย่างแท้จริงได้อย่างไร?

ประเด็นที่ 4 อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตอบคำถามข้อสงสัยเรื่องสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเปรียบเทียบก่อนและหลังการต่อระยะเวลาการผลิตนั้น ตัวเลขส่วนแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐและเอกชนที่นำเสนอเป็นสัดส่วนตัวเลขหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลคนละพื้นฐานการคำนวณกับข้อมูลที่ทาง คปพ.นำผลการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติมากล่าวอ้าง

ข้อโต้แย้งประเด็นที่ 4 คำชี้แจงดังกล่าวนั้นยิ่งเป็นเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่า การอ้างว่ารัฐจะได้เปอร์เซ็นต์สัดส่วนเพิ่มขึ้นนั้นอยู่บนพื้นฐานของตัวเลข “หลังหักค่าใช้จ่ายในอนาคต” ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งค่าใช้จ่ายของเอกชนในอนาคตที่เอามาหักกับรายได้นั้นอาจจะมากขึ้นกว่าที่คาดการณ์ทำให้เม็ดเงินที่รัฐได้น้อยลงก็ได้ ดังนั้นเปอร์เซ็นต์ที่มากขึ้นนั้นนอกจากฐานคำนวณที่ไม่เท่ากันแล้วยังไม่ได้เป็นหลักประกันว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นได้จริงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกฎหมายปิโตรเลียมยังไม่ควบคุมค่าใช้จ่ายจากสำนักงานใหญ่นอกประเทศ ค่าใช้จ่ายข้ามแปลงสัมปทาน หรือค่าใช้จ่ายเทียม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้มีช่องโหว่ที่รัฐจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าก็ย่อมได้ ดังนั้นการอ้างว่าการต่อสัญญาครั้งนี้จึงไม่ได้มีหลักประกันว่ารัฐไทยจะได้เม็ดเงินเพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด จริงหรือไม่?

ประเด็นที่ 5อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติอ้างว่าที่ไม่ประมูลเพราะคาดหวังได้ว่าผู้รับสัมปทานรายเดิมที่มีการดำเนินการมาแล้ว 20 ปี ย่อมมีความสามารถที่จะผลิตปิโตรเลียมได้มีประสิทธิภาพสูงสุด หากเทียบกับการเปิดประมูลให้ผู้ดำเนินการรายใหม่เข้าดำเนินการ อาจต้องเสียเวลาในการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อความต่อเนื่องในการผลิต ทำให้ไม่มั่นคงด้านพลังงาน

ข้อโต้แย้งประเด็นที่ 5 ไม่มีใครปฏิเสธว่าผู้รับสัมปทานรายเดิมย่อมมีความได้เปรียบมากกว่าเอกชนรายอื่น แต่ปัญหาคือผลตอบแทนแก่รัฐนั้นอยู่บนฐานของความเป็นธรรมที่มาจากการแข่งขันจริงหรือไม่ เพราะถ้ามีการแข่งขันการเสนอผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดในระบบแบ่งปันผลผลิต หรือเสนอประมูลค่าจ้างผลิตปิโตรเลียมในราคาต่ำสุด ก็จะเป็นหลักประกันรัฐได้ ผลตอบแทนสูงสุดที่ได้จากการแข่งขันในราคาตลาดอย่างโปร่งใสแล้ว แม้ว่าจะเป็นผู้รับสัมปทานรายเดิมก็คงไม่มีใครขัดข้อง

สำหรับข้ออ้างความไม่ต่อเนื่องในการผลิต (เป็นประจำ) รัฐบาลก็ต้องแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่กำลังแก้ไขอยู่ในขณะนี้ให้ครอบคลุมถึงการให้เอกชนรายใหม่เข้าไปผลิตในพื้นที่ก่อนหมดอายุสัญญาสัมปทานรายเดิมได้กี่ปี และดำเนินการอย่างไร รวมถึงการบังคับให้เอกชนผู้รับสัมปทานเดิมต้องไม่ลดกำลังการผลิตอย่างไร ถ้าไม่แก้ไขกฎหมายเหล่านี้ให้เด็ดขาดก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการประเคนแหล่งผลิตปิโตรเลียมให้กับเอกชนรายเดิมด้วยผลประโยชน์มหาศาลโดยใช้การเจรจาต่อรองเพียงคนไม่กี่คน แล้วจะโปร่งใสได้อย่างไร?

เช่นเดียวกันกับข้ออ้างเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน รัฐบาลก็สามารถกำหนดคุณสมบัติของเอกชนที่เข้าร่วมประมูลให้มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนเงื่อนไขในการผลิต เพื่อให้คัดกรองเอกชนที่มีคุณสมบัติในการผลิตปิโตรเลียมให้เกิดความมั่นใจ และมั่นคงด้านพลังงานได้ ซึ่งมีตั้งหลายบริษัทในโลกนี้ ประเด็นนี้จึงไม่ควรจะเป็นปัญหาแต่ประการใด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าถ้ารัฐบาลมีความจริงใจ การแก้ไขทั้งในเรื่องความต่อเนื่องในการผลิตและความมั่นคงนั้นสามารถแก้ไขกฎหมายและเงื่อนไขการประมูลได้ทันที นอกจากจะได้ทั้งความต่อเนื่องในการผลิตและความมั่นคงกลับคืนมาแล้ว ยังสามารถเปิดประมูลสร้างผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุดจากการแข่งขันในตลาดอย่างโปร่งใสได้อีกด้วย

แต่ที่ต้องตั้งคำถามคือแทนที่มุ่งจะแก้ไขกฎหมายปัญหาความไม่ต่อเนื่องในการผลิตและความไม่มั่นคง (ซึ่งช่วงนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมาย) เหตุใดรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงได้เห็นชอบตามกระทรวงพลังงานในการเสนอชิงตัดหน้าต่อสัญญาสัมปทานให้กับเชฟรอนโดยไม่แก้ไขกฎหมายให้เสร็จสิ้นเสียก่อน?

ประเด็นที่ 6 อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าวอ้างว่าบริษัทที่ถูกตรวจสอบเรื่องภาษีนั้น คือ บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด ไม่ใช่บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลง B8/32 และอยู่ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายอื่น ไม่ได้เป็นการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่อย่างใด

ข้อโต้แย้งประเด็นที่ 6 กระทรวงพลังงานจะต้องดูที่พฤติกรรมอันแท้จริงว่า บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัดนั้น เป็นบริษัทที่มีโครงสร้างหุ้นและผู้บริหารเกี่ยวพันกันหรือไม่ หากเกี่ยวข้องกันแล้วก็ย่อมแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการประกอบธุรกิจที่ต้องทำการตรวจสอบ

และต้องไม่ลืมว่ากรณีนี้จะต้องถูกตั้งคำถามว่ามีการนำน้ำมันสำเร็จรูปหลบเลี่ยงภาษีไปใช้เดินเครื่องจักรบทแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับสัมปทานหรือไม่ ถ้าใช่กรณีนี้ย่อมถูกตั้งคำถามว่าเป็นการเกี่ยวข้องกับลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของแท่นขุดเจาะอย่างไม่ถูกต้องในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมหรือไม่?

และถ้าหากผลสรุปการตรวจสอบพบว่ามีกระบวนการหลบเลี่ยงภาษี ยิ่งต้องมีการตรวจสอบพฤติกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดการตั้งบริษัทลูกเพื่อใช้ทำผิดกฎหมายเพื่ออำพรางโดยไม่ต้องกระทบต่อกิจการสัมปทาน ดังนั้นเมื่อมีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยเช่นนี้ เหตุใดไม่ทำการเร่งรัดตรวจสอบทั้งกระบวนการให้เสร็จสิ้นเสียก่อนจริงไหม?

และถ้าคิดว่าการผ่องถ่ายการหลบเลี่ยงภาษีไปให้บริษัทในเครือเป็นสิ่งที่ทำได้เพราะสาวไม่ถึงบริษัทที่ได้รับสัมปทาน เหตุใดจึงไม่แก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้อุดช่องโหว่นี้เสียเสียก่อน แต่นี่กลับชิงตัดหน้าต่ออายุสัมปทาน !!!?

สรุปได้ว่าคำตอบครั้งนี้ของท่านอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังไม่สามารถทำให้ภาคประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสในการต่ออายุสัมปทานให้กับบริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เลย จริงหรือไม่?

นอกจากนั้นยังทำให้ประชาชนและวิญญูชนทั่วไปเกิดความเคลือบแคลงสงสัยด้วยว่ากรณีการคืนความสุขให้เชฟรอนครั้งนี้ ใครได้ประโยชน์ส่วนตนไปด้วยหรือไม่ อย่างไร?


กำลังโหลดความคิดเห็น