xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” สวนกรมเชื้อเพลิงฯ หาข้ออ้างประเคนสัมปทานเชฟรอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลัง โต้กลับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ หลัง คปพ. ยื่นค้านต่ออายุสัมปทานขุดเจาะปิโตรเลียมให้เชฟรอน ย้ำ กฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ แก้ไขส่วนที่สัมปทานได้ เพื่อให้ประเทศได้ประโยชน์ อย่าเอาความมั่นคงด้านพลังงานมาอ้างประเคนให้รายเดิม เตือนอย่าโบ้ยความผิด บ.ลูก มีปัญหาเลี่ยงภาษี

วันนี้ (14 ธ.ค.) เมื่อเวลา 19.19 น. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง .ในฐานะตัวแทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala กรณีที่นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ออกมาตอบโต้ คปพ.หลังจาก คปพ. ยื่นหนังสือคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ต่อระยะเวลาผลิตแปลง B8/32 ให้แก่ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย นายธีระชัย ได้ตอบโต้ใน 3 ประเด็น ดังนี้

1. กรมฯ บอกว่า “การที่..ไม่รอกฎหมายปิโตรเลียม..ที่ยังอยู่ในการพิจารณาแก้ไขในปัจจุบันนั้น เนื่องจากร่างกฎหมาย...เป็นการเพิ่มระบบ..ผลิตปิโตรเลียมนอกเหนือจากระบบสัมปทาน”
คปพ. เข้าใจอยู่แล้วครับว่า การต่อระยะเวลาผลิตเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานเดิม ประเด็นที่ทักท้วง คือ ไม่มีใครบังคับใจท่านว่าร่างกฎหมายจะต้องบัญญัติเฉพาะระบบใหม่ และไม่มีข้อห้ามใดๆ มิให้ท่านเสนอแก้ไขส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัมปทาน เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศมากกว่าเดิม

2. กรมฯ บอกว่า “ที่ คปพ. กล่าวอ้างว่า พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 26 เป็นการร่างกฎหมายที่ทำให้ประชาชนเสียเปรียบนั้น กรมฯ ขอชี้แจงว่า บทบัญญัติตามมาตรา 26 ...มุ่งเน้นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้รับสัมปทานดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง และการพัฒนาแหล่งที่อยู่ในช่วงปลายอายุของแหล่ง จำเป็นต้องมีผู้ดำเนินงานที่มีความชำนาญในพื้นที่ และคาดหวังได้ว่า ผู้รับสัมปทานรายเดิมที่มีการดำเนินงานมาแล้ว 20 ปี ย่อมมีความสามารถที่จะผลิตปิโตรเลียมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการนำทรัพยากรที่มีอยู่ขึ้นมาใช้ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องศักยภาพของแหล่ง ซึ่งหากเทียบกับการเปิดประมูลให้ผู้ดำเนินงานรายใหม่เข้าดำเนินการ อาจต้องเสียเวลาในการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อความต่อเนื่องในการผลิต และอาจดำเนินงานไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ารายเดิมจะส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานได้”

คปพ. ได้รับฟังคำชี้แจงที่อ้างความมั่นคงด้านพลังงานซ้ำแล้วซ้ำเล่าครับ และเป็นปกติธรรมดาของโลก ถ้าหากเราอ้างว่าจำเป็นต้องใช้คนที่มีชำนาญในพื้นที่ รายใหม่จะต้องเสียเวลาศึกษา แบบนี้ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก อะไรๆ ก็ต้องให้รายเดิมทั้งนั้น ไม่ว่าธุรกิจสัมปทานใดในประเทศไทย ไม่สามารถเปิดให้รายใหม่แข่งขันได้สักอย่างหนึ่ง และอันที่จริง จะยุบเลิกกระทรวงพลังงานไปก็คงได้ เพราะการทำงานแบบนี้ ไม่ต้องอาศัยความรู้ลึกลับมากมายนัก อะไรๆ ก็ประเคนให้แก่รายเดิม

อย่างไรก็ดี นับแต่ปี 2514 มาถึงวันนี้ มันเป็นเวลากว่า 45 ปีแล้ว การผลิตปิโตรเลียมไม่ได้ซับซ้อนเหมือนเดิมแล้ว ข้ออ้างว่า ไม่มีรายใหม่ใดๆ ที่จะเก่งกาจสามารถได้เท่ากับรายเดิม เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือครับ

คปพ. ตั้งคำถามว่า ที่กรมฯ เจรจาเงื่อนไขในการต่ออายุนั้น มีใครสาบานได้หรือไม่ ว่าเป็นเงื่อนไขที่ดีที่สุดแล้ว ทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์สูงสุดแล้ว และถ้ามีใครยืนยัน ถามว่าจะเอาอะไรมาอ้าง คปพ. ยังไม่เห็นมีใครให้คำตอบนี้เลยครับ

3. กรมฯ บอกว่า “ประเด็นที่ คปพ. บอกว่า การต่อสัญญาสัมปทานออกไปอาจขัดต่อ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 26 วรรคสามนั้น กรมฯ ขอชี้แจง บริษัทที่มีการอ้างถึงว่ามีปัญหาเรื่องภาษีมิใช่บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานในแปลง B8/32 นี้ และเป็นเรื่องภาษีของน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังอยู่ระหว่างตีความด้านกฎหมายและอยู่ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายอื่น มิได้เป็นการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแต่อย่างใด”

คปพ. ได้เตือนด้วยความหวังดีให้ระวัง เพราะการเสนอเรื่องให้ ครม.ที่ผิดเงื่อนไขที่กำหนดในกฎหมายนั้น มีโทษอาญาเชียวนะครับ

ผมมีความเห็นว่า การที่กรมฯ อ้างว่า “ปัญหาเรื่องภาษีนั้น เป็นเรื่องภาษีของน้ำมันสำเร็จรูปที่..อยู่ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายอื่น มิได้เป็นการประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม” นั้น อาจจะไม่ถูกต้อง เพราะเท่าที่ผมรับทราบข้อมูล เชฟรอนได้นำน้ำมันสำเร็จรูปดังกล่าว ไปใช้เดินเครื่องจักรบนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับสัมปทานจากรัฐบาลไทย จึงเป็นการใช้ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเต็มๆ ดังนั้น ถึงแม้เป็นเรื่องภาษีของน้ำมันสำเร็จรูป ที่ไม่ใช่ภาษีปิโตรเลียมโดยตรงก็จริง แต่จะบอกว่าไม่เกี่ยวข้องกับเงื่อนใขในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม น่าจะเป็นการฝืนความรู้สึกของชาวบ้านอยู่มากนะครับ

ส่วนคำชี้แจงว่า “บริษัทที่มีการอ้างถึงว่ามีปัญหาเรื่องภาษีมิใช่บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานในแปลง B8/32” นั้น ก็ทำให้ผมสะดุดในใจไม่น้อย เพราะถ้ากฎหมายปัจจุบันไม่เปิดให้รัฐบาลไทยสามารถจะพิจารณาพฤติกรรมของบริษัทเอกชนแบบเป็นกลุ่มบริษัท ซึ่งเป็นแนวทางสากล ก็เท่ากับเปิดช่องให้กลุ่มบริษัทวางแผน ให้มีการรวมศูนย์การทำผิดกฎหมายไว้เฉพาะในบริษัทลูกรายหนึ่ง เพื่อรัฐบาลไทยจะเอื้อมไปไม่ถึงบริษัทลูกอื่นๆ และอย่าลืมว่า ในด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล ไทยยังไม่ห้ามการคิดค่าใช้จ่ายข้ามบริษัทมาจากต่างประเทศ ดังนั้น ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำผิดกฎหมายจึงอาจจะถ่ายเทไปมาระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูกแต่ละบริษัทได้

ถ้ากฎหมายปัจจุบันมีจุดอ่อนอย่างนี้ ทำไมกรมฯ ไม่เสนอแก้ไขส่วนที่เกี่ยวกับสัมปทาน เพื่อปิดช่องโหว่และจุดอ่อนเหล่านี้ล่ะครับ
“คืนความสุขให้เชฟรอน”?  6 คำตอบของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่ตรงคำถาม
“คืนความสุขให้เชฟรอน”? 6 คำตอบของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ไม่ตรงคำถาม
เหตุใดจึงไม่มีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม “ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบสัมปทาน” ตามผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับกฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งรับรองโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ฉบับวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติเสียก่อน? ก็ในเมื่อทั้งฝ่ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติและกระทรวงพลังงานต่างมีความเชื่อมั่นว่ากฎหมายปิโตรเลียมจะแล้วเสร็จในอีกไม่กี่เดือนนี้ เหตุใดจึงชิงตัดหน้าต่ออายุสัปทานก่อนการแก้ไขกฎหมายให้แล้วเสร็จทั้งๆที่ยังเหลืออายุสัมปทานอีก 3 ปีข้างหน้า?
กำลังโหลดความคิดเห็น