xs
xsm
sm
md
lg

รบ.บีบกมธ.ปิดจ๊อบ สรุปกม.ปิโตรฯธ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กมธ. ยังจบกม.ปิโตรเลียมไม่ลง "สกนธ์" เผยรัฐบาลจี้ให้ปิดจ๊อบภายในธ.ค.นี้ ปัดตั้งวาระพิรุธ มีธงลงมติ แต่อนุกมธ.กลั่นกรองกฎหมายทำงานล่าช้า ยอมรับโอกาสตั้งบรรษัทน้ำมันทำยาก ด้านเลขากมธ. เผยความคืบหน้า 8 ประเด็นใหญ่ เตรียมสรุปปมหลักวันจันทร์หน้า

วานนี้ (16พ.ย.) พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แถลงถึงผลการประชุม ว่า ในภาพรวมของการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าว มีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่เสร็จสมบูรณ์ อย่างร่าง พ.ร.บ.ภาษีฯ ดูเหมือนสั้นๆ แต่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บให้เป็นรายได้ของรัฐ ตนและคณะได้ไปคุยกับ รมว.คลัง มาแล้ว ก็เห็นชอบให้ไปปรับปรุงในหลักการกฎหมายฉบับนี้ จึงให้โยนกลับไปที่ต้นเรื่อง คือ ครม.ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ขณะนี้คืบหน้าไปแล้วเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับปรุงหลายประเด็น มีการพูดคุยโต้ตอบเจรจากัน บางประเด็นไม่ไหว ก็ต้องโหวตกัน แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ว่าเรื่องใดบ้าง

"ต้องยอมรับว่า กฎหมายนี้มีการขยายเวลามา 3 ครั้งแล้ว ใช้เวลา 120 วัน เราคงขยายต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ทางรัฐบาลแสดงความต้องการให้เราเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือนธ.ค. ซึ่งวันสุดท้ายที่ขอขยายคือ 20 ธ.ค. ซึ่งเราก็พยายามเร่งอยู่ แต่จะเร่งอย่างไรก็ต้องมีคุณภาพด้วย เพราะได้รับเสียงติเตียนมากมาย ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าในคณะกรรมาธิการก็มีตัวแทนจากหลายฝ่าย ทั้งหนุน และค้าน แม้แต่ผมก็ยังเป็นเสียงข้างน้อยเกือบทุกครั้ง แต่เมื่อแต่เมื่อเป็นความต้องการของรัฐบาลคือผู้ใช้กฎหมายก็ต้องทำให้ได้ โดยวันจันทร์นี้ จะนัดประชุมอีกครั้งโดยจะพยายามให้จบ แต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือไม่"

พล.อ.สกนธ์ กล่าวยอมรับว่า มีกระบวนการอยากให้ คณะกมธ.วิสามัญฯ ถอนร่างกฎหมายออกไป แต่ยืนยันว่า คณะกมธ.วิสามัญฯ ไม่มีอำนาจถอน เพราะ สนช.ทั้งสภา เป็นผู้รับร่างกฎหมายมา และที่ผ่านมาประธานสนช. ก็ไม่เคยมีการสั่งการอะไรมายังคณะกมธ.วิสามัญฯ ซึ่งหากต้องการให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับออกไป จะต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุม สนช. ก่อนเท่านั้น

"ถ้าเรามองแบบกลางๆว่า องค์กรขนาดใหญ่แบบบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะต้องทำการศึกษาอย่างละเอียด ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณ และการจัดการบุคคล ผมมองว่าควรให้โอกาสรัฐบาลได้ศึกษาให้รอบคอบ และในภาพรวมผมก็อยากพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้จบเร็วๆ เพราะรัฐบาลก็อยากเร่งกฎหมายนี้มา โดยมีมติครม.เมื่อวันที่ 1 พ.ย. ก็เร่งรัดว่าขอให้ สนช. เร่งกฎหมายสองฉบับนี้ให้เสร็จเร็วๆ ภายในเดือนธ.ค. ผมก็พยายามเร่งให้อยู่ แต่ว่าต้องมีคุณภาพ เร่งมากไปและไร้คุณภาพ ผมก็ถูกติติง " พล.อ.สกนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ มีการขยายเวลามาแล้ว 120 วัน ถึง 3 ครั้ง มีการกล่าหาว่าตนถ่วงเวลา แต่อย่าลืมว่า เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจ และจับจ้องจากหลายฝ่าย หากทำรวดเร็วเกินไปไม่เกิดประโยชน์ การทำงานของตนฟังเสียงจากกมธ.ทุกคน รวมถึงการร้องเรียนจากประชาชน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร ถูกด่า และกดดันมาตลอด เราพยายามฟังเสียงทุกส่วน กมธ.ทุกคนไม่รู้เรื่องพลังงานเท่าไร มีเพียงตนที่รู้ เพราะทำงานด้านพลังงานมาตลอด คนอื่นทราบแต่ผิวเผิน ต้องให้เวลาศึกษาทำความเข้าใจ เราพิจารณาเป็นรายข้อ สัปดาห์ที่แล้วตั้งจะจบ แต่ก็ไม่จบ เพราะกมธ.บางส่วนลาทำให้ไม่ครบ และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็กะว่าจะจบก็ไม่จบอีก จนกระทั่งวันนี้ตั้งใจว่าจะให้จบก็ไม่จบเหมือนกัน แต่ก็มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง

พล.อ.สกนธ์กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของภาคประชาชนที่ต้องการให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ รัฐบาลและกระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการศึกษาว่าสมควรให้มีบรรษัทดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้น ในชั้นของคณะกมธ.จะไม่ระบุเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้ในร่างพ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ เพราะการทำงานการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานยังไม่เป็นที่ยุติแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) กล่าวหาว่ามีพิรุธ มีการลงมติก่อนค่อยพิจารณาความคืบหน้าของอนุกรรมาธิการกลั่นกรองกฎหมายนั้น พล.อ.สกนธ์ ชี้แจงว่า สาเหตุที่กำหนดวาระการลงมติก่อน เพราะมีปัญหาว่า การทำงานของอนุ ฯ ไม่มีความคืบหน้าเลย ล่าช้ามาก โดยอ้างว่ามีความขัดแย้งในที่ประชุมมาก จนไม่สามารถคืบหน้าได้ ซึ่งตนก็ไม่รู่จะทำอย่างไร แต่ยืนยันว่าเราไม่ได้มีธงอยู่ในใจอย่างที่กล่าวหา แม้แต่ตนปกติจะไม่ร่วมลงมติ เพราะเป็นประธานที่ประชุม แต่หากประเด็นไหนที่มีข้อถกเถียงกันต้องมีการลงมติ ตนก็จะชี้ขาด ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเสียงข้างน้อย ด้วยซ้ำ

ด้าน พล.อ.ท. ธรรมนิตย์ สิงห์คะสะ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีผลกระทบมาก ทำไมเราถึงยังไม่ได้ข้อสรุปในวันนี้ ซึ่งในส่วนของความคืบหน้า ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มี 8 ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องการแก้ไของค์ประกอบหน้าที่ของคณะกรรมการ และ อำนาจหน้าที่รัฐมนตรี ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นพ้องให้เป็นไปตามร่างเดิม ที่เสนอมา การแก้ไขสิทธิ์ ก็เห็นชอบตามร่างมา มีข้อสังเกตติดไว้นิดหน่อย การเพิ่มข้อกำหนด และเงื่อนไขในสัญญา พีเอสซี การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจ การพึ่งตัวเองอย่างยั่งยืน ที่เราจะใช้เอ็นโอซี เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อน แต่ก็ยังไมได้ข้อสรุป ต้องมีการพูดคุยต่อส่วนการกำหนดเงื่อนไขการแบ่งผลประโยชน์ ที่ร่างรัฐบาล กำหนด50 เปอร์เซ็นต์ แต่มีสมาชิก สนช.2 คน แปรญัตติว่าควรเป็นรูปแบบขั้นบันได ตามศักยภาพของแต่ละแปลง ซึ่งก็มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางด้วยเหตุผล สุดท้ายก็สรุปเป็นไปตามร่าง

ส่วนประเด็นการโอนข้อผูกพันระหว่างแปลง เมื่อพิจารณาจากเหตุจำเป็นทางธรรมชาติ และทางการเมือง หรืออะไรที่สุดวิสัย เราจะให้โอกาสกับบริษัทที่ได้สัญญา พีเอสซี ในการโอนข้อผูกพันในระหว่างการสำรวจ ส่วนประเด็นเซอร์วิสเซอร์คอนแทค ในร่างระบุ ว่า สัญญาจ้างสำรวจ และผลิต แต่ที่ประชุมหลายคนเสนอว่าควรใช้ชื่อที่เป็นสาสากล คือ เซอร์วิส หรือ จ้างบริการ แต่ก็ไปกระทบกับหลักการที่มีคำว่า“สัญญาจ้างและผลิต” จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลา จึงยังไม่ได้ข้อสรุป จะมีการหารืออีกครั้งในวันจันทร์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น