ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
มหากาพย์เรื่องกฎหมายปิโตรเลียมมาถึงช่วงเวลาสำคัญ ที่คนไทยในวันนี้และวันข้างหน้าจะต้องบันทึกมรดกบุญหรือบาปที่คนรุ่นนี้เราได้มอบให้กับชาติบ้านเมือง และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพูดถึงทหารคนนี้ที่ชื่อ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ที่ต้องบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์หัวเลี้ยวหัวต่อในเรื่องพลังงานของชาติ เพราะนอกจากจะอยู่ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ยังอยู่ในฐานะประธานกรรมาธิการด้านพลังงาน ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พรบ.ปิโตรเลียม 2514 และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 และล่าสุดคือ เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้อีกด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2558 พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พรบ.ปิโตรเลียม 2514 และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ด้วยตัวเองว่า :
"ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่าใน พรบ.ปิโตรเลียม มีระบบสัมปทานบริหารจัดการปิโตรเลียมเพียงระบบเดียว จึงได้มีการศึกษาระบบอื่นๆ ได้แก่ ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ซึ่งรัฐสามารถควบคุมรายละเอียดการดำเนินการได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งมีส่วนร่วมในการควบคุมปิโตรเลียมที่ผลิตขึ้นมาได้ตามสัดส่วนที่เป็นเจ้าของ แต่จะต้องตั้งองค์กรมหาชนหรือที่เรียกว่า "บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ"
วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน 2558 สภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 35 ได้ลงมติเห็นชอบกับข้อเสนอแนะของรายงานการพิจารณาศึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ตามคำชี้แจงของ พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
17 มิถุนายน 2558พลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพลังงาน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แถลงข่าวการดำเนินงานของกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้ พรบ.ปิโตรเลียม 2514 และ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม 2514 ที่รัฐสภาว่า
"เสนอแนะให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติดำเนินการเป็นตัวแทนรัฐบาลโดยเป็นผู้มีสิทธิเพียงรายเดียวในการสำรวจและให้สิทธิเกี่ยวกับปิโตรเลียมในการดำเนินการบริหารจัดการปิโตรเลียมและการบังคับบริษัทน้ำมันเอกชนในฐานะคู่สัญญา ซึ่งจะทำให้ได้ผลประโยชน์เต็มที่"
แสดงให้เห็นว่าในขณะนั้นทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่างเห็นชอบตามคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียมทั้งสองฉบับ นั่นหมายความว่าต้องเห็นชอบในเรื่องการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติด้วยว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญของชาติ เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในปิโตรเลียมของรัฐ บริหารจัดการโดยองค์กรของรัฐ และขายโดยองค์กรของรัฐนั้นจำเป็นต้องมีบรรษัทพลังงานแห่งชาติ
แต่ใครจะเชื่อได้ว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติกลับลงมติเห็นชอบกับหลักการ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงาน ซึ่งขัดแย้งกับผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบไปเสียเอง ด้วยเสียงท่วมท้น กล่าวคือ
พ.ร.บ. ภาษีปิโตรเลียมได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนน 152 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง และงดออกเสียง 16 เสียง และเห็นชอบหลักการ พรบ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมด้วยคะแนน 154 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง
และประวัติศาสตร์ในหน้านี้จะต้องบันทึกความอัปลักษณ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 เอาไว้ด้วยว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสียงข้างมากได้ลงมติเห็นด้วยกับร่างกฎหมายของรัฐบาลทั้งๆที่ขัดแย้งกับผลการศึกษาของตัวเอง ชนิดที่ต้องเกิดคำถามว่ากลืนน้ำลายตัวเองจริงหรือไม่?
ประวัติศาสตร์จะต้องบันทึกเอาไว้อีกด้านหนึ่งด้วยว่าเสียงข้างน้อยในสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ไม่ทรยศต่อผลการศึกษาของตัวเอง และมีความกล้าหาญที่จะลงมติถึงขั้น "ไม่เห็นด้วย" กับหลักการในร่าง พ.ร.บ.โตรเลียมของรัฐบาล 5 คน ได้แก่ นายบุญชัย โชควัฒนา, พลเรือเอกพิจารณ์ ธีรเนตร, นายมณเฑียร บุญตัน, นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์, พลเอกวิชิต ศรีประเสริฐ
ส่วนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่แม้จะไม่แสดงออกถึงขั้นไม่เห็นด้วย แต่ก็ "งดออกเสียง" นั้นมีทั้งสิ้น 17 คน ได้แก่ นายกล้าณรงค์ จันทิก, นายโกศล เพ็ชรสุวรรณ์, รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย, พลเอกนิวัติ ศรีเพ็ญ, นางนิสดารภ์ เวชยานนท์, ศจ.คลีนิกนิเวศน์ นันทจิต, นายประมุท สูตะบุตร, นายพรเพชร วิชิตชลชัย, นายพีระศักดิ์ พอจิต, พลตรีไพโรจน์ ทองมาเอง, นายวันชัย ศารทูลทัต, พลเรือเอกวัลลภ เกิดผล, พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร, นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, นางเสาวณี สุวรรณชีพ, พลอากาศเอกอดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ
แต่ประวัติศาสตร์จะต้องจดบันทึกเอาไว้ด้วยเช่นกันว่า ในวันลงมติรับหลักการเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 มีผู้ที่ลุกขึ้นอภิปรายท้วงติงร่างกฎหมายดังกล่าวซึ่งเคยอยู่ในกรรมาธิการศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ แต่พอถึงเวลาลงมติกลับลงมติเห็นด้วยกับกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลอย่างหน้าตาเฉย หนึ่งในนั้น ก็คือ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญที่ศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียม 2 ฉบับ
เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติด้วยเสียงข้างมากตามความปรารถนาของกระทรวงพลังงานแล้ว ก็ได้มาตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายปิโตรเลียมขึ้นมา 21 คน โดยพลเอกสกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับ ตามความคาดหมาย และไม่มีกรรมาธิการคนใดที่มาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ลงมติไม่เห็นด้วย มีเพียง พลอากาศเอกอดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ คนเดียวเท่านั้นจาก 21 คน ที่มาจากผู้ที่ลงมติ "งดออกเสียง" ในวาระที่ 1
ทั้งนี้คณะกรรมาธิการพิจารณากฎหมายปิโตรเลียมในวาระที่ 2 นี้ นอกจากจะมีมติให้พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯแล้ว ที่ประชุมกรรมาธิการฯยังให้พลอากาศเอกอดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ เป็นรองประธานกรรมาธิการคนที่ 1 และเป็นประธานอนุกรรมาธิการกลั่นกรองกฎหมายดังกล่าวอีกด้วย
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2559 กลับเกิดเรื่องประหลาดขึ้น เมื่อหนังสือนัดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญให้สมาชิกมาประชุมในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2559 นั้น กลับกำหนดการเรียงวาระแปลกประหลาด กล่าวคือ
3.1 พิจารณาลงมติร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ...
3.2 พิจารณาความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ....
ที่ว่าแปลกประหลาดนั้นเพราะเป็นการเรียงวาระเพื่อลงมติ "ก่อน" จะฟังความเห็นของอนุกรรมาธิการกลั่นกรองร่างซึ่งมี พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ เป็นประธานฯอนุกรรมาธิการ ราวกับว่าจะลงมติไปก่อนโดยต้องไม่สนใจผลการดำเนินงานของอนุกรรมาธิการฯ จริงหรือไม่?
และนี่คือคำตอบของ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ตอบในประเด็นความแปลกประหลาดนี้ โดยอ้างว่า
"สาเหตุที่กำหนดวาระการลงมติก่อน เพราะมีปัญหาว่าการทำงานของอนุกรรมาธิการฯไม่มีความคืบหน้าเลยหรือล่าช้ามาก โดยอ้างเหตุผลว่ามีความขัดแย้งในที่ประชุมมากจนไม่สามารถคืบหน้าได้ ซึ่งผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ยืนยันว่าเราไม่ได้มีธงอยู่ในใจอย่างที่กล่าวหา"
เป็นคำตอบที่แปลกประหลาดขึ้นไปอีก เพราะอ้างว่าการทำงานของอนุกรรมาธิการฯนั้นล่าช้า ทั้งๆที่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ในวันเดียวกันเองว่า
"มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ได้ขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเร่งรัดกฎหมายปิโตรเลียมสองฉบับนี้ให้เสร็จเร็วๆภายในเดือนธันวาคม"
คำถามจึงมีอยู่ว่าในเมื่อยังมีเวลาเหลือเกือบ 1 เดือนครึ่งเหตุใดถึงขั้นเร่งรีบที่จะไม่ฟังผลสรุปของอนุกรรมาธิการก่อนที่จะลงมติเสียก่อน !!?
และคำถามตามต่อมาก็คือถึงแม้ว่าการทำงานของอนุกรรมาธิการจะล่าช้าในอดีตจะไม่ฟังเหตุลผลหรือสรุปของอนุกรรมาธิการฯเสียก่อน แล้วใช้วิธี "ทำนาย" เรียงวาระเอาไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่มีผลสรุปใด แล้วจะชิงลงมติก่อนที่จะฟังผลสรุปเลยนั้น เจตนาที่จะไม่ฟังเสียงอนุกรรมาธิการฯที่ตั้งมาเองใช่หรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วจะมีความชอบธรรมได้อย่างไร?
คำถามประการถัดมาคืออนุกรรมาธิการฯที่พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะเป็นประธานฯอยู่นั้นล่าช้า หรือเป็นเพราะความจริงแล้วกรรมาธิการฯมีเจตนาไม่ต้องการฟังเสียงคัดค้านจากอนุกรรมาธิการกันแน่ !?
สิ่งที่จะช่วยหาคำตอบของเจตนาที่แท้จริงได้คือการตรวจสอบวาระการประชุมย้อนหลังพบว่ามีการพูดคุยและบรรจุวาระการประชุมคณอนุกรรมาธิการกลั่นกรองเอาไว้ทั้งสิ้น 20 ครั้งระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน 2559 - 14 พฤศจิกายน 2559 มีการบรรจุวาระพิจารณาความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญทั้งสิ้น 14 ครั้ง
ที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นในการบรรจุวาระพิจารณาความคืบหน้าของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญนั้นต่างถูกบรรจุเอาไว้ในวาระที่ 3.2 ทั้ง 14 ครั้ง !!?
แปลว่ามีการบรรจุ "วาระพิจารณาดักหน้า" เป็นวาระที่ 3.1 เอาไว้ทุกครั้ง และแต่ละเรื่องที่วางเอาไว้ดักหน้าพิจารณาในวาะที่ 3.1 นั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นวาระที่ต้องใช้เวลานานในการพิจารณาทั้งสิ้น
คำถามที่ต้องถามไปยังพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการนั้นอยู่ตรงที่ว่า "ในวาระ 3.2"ที่มีการบรรจุเรื่องการพิจารณาผลการดำเนินงานของอนุกรรมาธิการฯ ที่พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ เป็นประธานนั้น ได้มีเวลาเพียงพอให้ได้นำเสนอ หรือเป็นวิชามารเพื่อตัดบทว่าหมดเวลาแล้วเป็นประจำ หรือไม่?
คำถามที่ตามมาคือ หนังสือเชิญทำกันจนชิน เขียนกันจนเพลินให้วาระเพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานของอนุกรรมาธิการฯถูกวางหมกเอาไว้ตอนท้ายในวาระที่ 3.2 เป็นประจำ จนย่ามใจที่จะลงมติก่อนแล้วค่อยฟังเพลินๆในความคืบหน้าของการกลั่นกรองภายหลัง ใช่หรือไม่?
เพียงแค่ให้ท่านประธานฯเปิดให้ดูบันทึกรายงานการประชุมย้อนหลังก็คงจะทราบได้ว่าปิดประชุมโดยรับทราบผลการดำเนินงานของอนุกรรมาธิการฯ อย่างไรบ้าง? เราก็จะได้รู้ว่ามีใครโกหกหรือไม่ อย่างไร?
ที่ต้องตั้งคำถามนี้เพราะหนังสือเพราะแม้แต่หนังสือเชิญเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ให้มีการประชุมในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2559 นั้น มีวาระ "ให้ลงมติเพียงอย่างเดียว" โดยไม่มีแม้กระทั่งบรรจุผลการดำเนินงานของอนุกรรมาธิการฯ ทั้งๆที่ พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ ได้ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมก่อนหน้านั้นคือวันที่ 14 พฤศจิกายน 2559 ว่า "ยังไม่ได้ข้อสรุปที่จะลงมติได้"
และถ้าจะเปิดบันทึกการประชุมก็อาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าการตั้งที่ปรึกษากรรมาธิการ หรือ ผู้ชำนาญการนั้นมาจากฝ่ายเข้าข้างสนับสนุนรัฐเข้าไปบันทึกในการประชุมพิจารณากฎหมายฉบับนี้กี่คน แต่ที่แน่ๆคือไม่มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปโต้แย้งในรายประเด็นเหล่านั้นได้เลย (ทำได้เพียงแค่ชี้แจงครั้งเดียวแล้วกลับ) ซึ่งต่างจากเมื่อครั้งมีการตั้งกรรมาธิการศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียม 2514 อย่างสิ้นเชิง จริงหรือไม่?
เป็นที่น่าสนใจประการถัดมาก็คือจากการสอบถามข้อมูลของนักข่าวพบว่า พล.อ.ท.ธรรมนิตย์ สิงห์คะสะ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ ได้ออกมาให้ข่าวก่อนเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกยน 2559 ว่า:
"การตั้งบรรษัทพลังงานน้ำมันแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ทุกคนสนใจในการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน ที่เราจะใช้บรรษัน้ำมันแห่งชาติเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปต้องมีการพูดคุยกันต่อ"
แต่ปรากฏว่า พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ มาให้สัมภาษณ์ตามหลังในวันเดียวกัน ฟันธงไปว่า "ในชั้นของคณะกรรมาธิการฯจะไม่ระบุเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเอาไว้ใน พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ"จึงเกิดคำถามว่า ตกลงแล้วในเมื่อง พล.อ.ท.ธรรมนิตย์ สิงห์คะสะให้สัมภาษณ์ว่ายังไม่ได้ข้อสรุปในที่ประชุม ในขณะที่ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ กลับให้สัมภาษณ์มีธงในใจกันแล้ว ก็เพราะรู้ว่าเสียงข้างมากในกรรมาธิการที่ยืนข้างกระทรวงพลังงานอยู่ในมือโดยไม่ต้องรู้ผลการประชุม ใช่หรือไม่?
"สัจจานิตย์" แปลว่า "ความจริงที่สม่ำเสมอ" แต่ดูสิ่งที่ปรากฏตามข้อมูลข้างต้นนั้น วิญญูชนลองพิจารณาดูเอาเองว่าเป็นอย่างไร ซึ่ง พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ได้ให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่าจะทำตามความต้องการของรัฐบาลต่อไปแม้ได้ยอมรับว่าถูกด่าและกดดันมาโดยตลอด
เชื่อมั่นว่า คำด่าของประชาชนคงไม่สามารถทำอะไรคนแบบพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ได้ แต่ประวัติศาสตร์จะได้บันทึกเอาไว้ว่าถ้าเกิดความเสียหายต่อชาติบ้านเมือง รายได้ของรัฐรั่วไหล และไม่เกิดประโยชน์ต่อชาติสูงสุด เพราะไม่ทำตามคำเตือนทั้งหลายในผลการศึกษาคณะกรรมาธิการฯศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายปิโตรเลียมสองฉบับนั้น มีทหารคนหนึ่งที่เป็นประธานของกรรมาธิการสองชุดที่มีผลการพิจารณาและลงมติขัดแย้งกันชื่อ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์!!!