xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยังไร้ข้อสรุปต่อ กม.ปิโตรเลียม รับรัฐเร่งให้จบ ธ.ค.ปัดมีธง เผยยากตั้งบรรษัทน้ำมัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ (แฟ้มภาพ)
กมธ.พิจารณาร่างปิโตรเลียม รับคืบหน้าไปมากแต่ยังไร้ข้อสรุป “สกนธ์” เผย รบ.เร่งรัดให้เสร็จภายใน ธ.ค. ปัดตั้งวาระพิรุธ มีธงลงมติ แจงอนุ กมธ.กลั่นกรองกฎหมายทำงานล่าช้า รับโอกาสตั้งบรรษัทน้ำมันตามข้อเสนอภาค ปชช.ทำยาก เลขาฯ กมธ.เผยความคืบหน้า 8 ประเด็นใหญ่ จ่อเคาะปมหลักจันทร์หน้า



วันนี้ (16 พ.ย.) พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม แถลงถึงผลการประชุมว่า ในภาพรวมของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวมีความคืบหน้าไปมากแต่ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปที่เสร็จสมบูรณ์ได้ อย่างร่าง พ.ร.บ.ภาษีฯ ดูเหมือนสั้นๆ แต่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บให้เป็นรายได้ของรัฐ ตนและคณะได้ไปคุยกับ รมว.คลังมาแล้ว ก็เห็นชอบให้ไปปรับปรุงในหลักการกฎหมายฉบับนี้ จึงให้โยนกลับไปที่ต้นเรื่องคือ ครม.ว่าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร ส่วนร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมขณะนี้คืบหน้าไปแล้วเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ มีการปรับปรุงหลายประเด็น มีการพูดคุยโต้ตอบเจรจากัน บางประเด็นไม่ไหวก็ต้องโหวตกัน แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ว่าเรื่องใดบ้าง

“ต้องยอมรับว่ากฎหมายนี้มีการขยายเวลามา 3 ครั้งแล้วใช้เวลา 120 วัน เราคงขยายต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ทางรัฐบาลแสดงความต้องการให้เราเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค. ซึ่งวันสุดท้ายที่ขอขยายคือ 20 ธ.ค. ซึ่งเราก็พยายามเร่งอยู่แต่จะเร่งอย่างไรก็ต้องมีคุณภาพด้วย เพราะได้รับเสียงติเตียนมากมายในขณะนี้ ต้องยอมรับว่าในคณะกรรมาธิการก็มีตัวแทนจากหลายฝ่าย ทั้งหนุนและค้าน แม้แต่ผมก็ยังเป็นเสียงข้างน้อยเกือบทุกครั้ง แต่เมื่อแต่เมื่อเป็นความต้องการของรัฐบาลคือผู้ใช้กฎหมายก็ต้องทำให้ได้ โดยวันจันทร์นี้จะนัดประชุมอีกครั้งโดยจะพยายามให้จบแต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้หรือไม่”

พล.อ.สกนธ์กล่าวว่า ยอมรับว่ามีกระบวนการอยากให้คณะ กมธ.วิสามัญฯ ถอนร่างกฎหมายออกไป แต่ยืนยันว่าคณะ กมธ.วิสามัญฯ ไม่มีอำนาจถอน เพราะ สนช.ทั้งสภาเป็นผู้รับร่างกฎหมายมา และที่ผ่านมาประธาน สนช.ก็ไม่เคยมีการสั่งการอะไรมายังคณะ กมธ.วิสามัญฯ หากต้องการให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับออกไปจะต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุม สนช.ก่อนเท่านั้น

“ถ้าเรามองแบบกลางๆ ว่าองค์กรขนาดใหญ่แบบบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะต้องทำการศึกษาอย่างละเอียด ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณ และการจัดการบุคคล ผมมองว่าควรให้โอกาสรัฐบาลได้ศึกษาให้รอบคอบ และในภาพรวมผมก็อยากพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้จบเร็วๆ เพราะรัฐบาลก็อยากเร่งกฎหมายนี้มา โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ก็เร่งรัดว่าขอให้ สนช.เร่งกฎหมายสองฉบับนี้ให้เสร็จเร็วๆ ภายในเดือน ธ.ค. ผมก็พยายามเร่งให้อยู่แต่ว่าต้องมีคุณภาพ เร่งมากไปและไร้คุณภาพ ผมก็ถูกติติง” พล.อ.สกนธ์กล่าว

พล.อ.สกนธ์กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับมีการขยายเวลามาแล้ว 120 วัน ถึง 3 ครั้ง มีการกล่าวหาว่าผมถ่วงเวลา แต่อย่าลืมว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจและจับจ้องจากหลายฝ่าย หากทำรวดเร็วเกินไปไม่เกิดประโยชน์ การทำงานของตนฟังเสียงจากกมธ.ทุกคน รวมถึงการร้องเรียนจากประชาชน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะเอาอย่างไร ถูกด่าและกดดันมาตลอด เราพยายามฟังเสียงทุกส่วน กมธ.ทุกคนไม่รู้เรื่องพลังงานเท่าไหร่ มีเพียงตนที่รู้เพราะทำงานด้านพลังงานมาตลอด คนอื่นทราบแต่ผิวเผิน ต้องให้เวลาศึกษาทำความเข้าใจ เราพิจารณาเป็นรายข้อ สัปดาห์ที่แล้วตั้งจะจบ แต่ก็ไม่จบ เพราะกมธ.บางส่วนลาทำให้ไม่ครบ และเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาก็กะว่าจะจบก็ไม่จบอีก จนกระทั่งวันนี้ตั้งใจว่าจะให้จบก็ไม่จบเหมือนกัน แต่ก็มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง

พล.อ.สกนธ์กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของภาคประชาชนที่ต้องการให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ รัฐบาลและกระทรวงพลังงานอยู่ในระหว่างการศึกษาว่าสมควรให้มีบรรษัทดังกล่าวหรือไม่ ดังนั้น ในชั้นของคณะกมธ.จะไม่ระบุเรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติไว้ในร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ เพราะการทำงานการศึกษาของรัฐบาลและกระทรวงพลังงานยังไม่เป็นที่ยุติแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่แกนนำเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงาน (คปพ.) กล่าวหาว่ามีพิรุธ มีการลงมติก่อนค่อยพิจารณาความคืบหน้าของอนุกรรมาธิการกลั่นกรองกฎหมายนั้น พล.อ.สกนธ์ชี้แจงว่า สาเหตุที่กำหนดวาระการลงมติก่อน เพราะมีปัญหาว่า การทำงานของอนุกรรมาธิการฯ ไม่มีความคืบหน้าเลย หรือล่าช้ามาก โดยอ้างเหตุผลว่ามีความขัดแย้งในที่ประชุมมากจนไม่สามารถคืบหน้าได้ ซึ่งตนก็ไม่รู่จะทำอย่างไร แต่ยืนยันว่าเราไม่ได้มีธงอยู่ในใจอย่างที่กล่าวหา แม้แต่ตนปกติจะไม่ร่วมลงมติเพราะเป็นประธานที่ประชุม แต่หากประเด็นไหนที่มีข้อถกเถียงกันต้องมีการลงมติตนก็จะชี้ขาด ส่วนใหญ่ก็เป็นเสียงข้างน้อยด้วยซ้ำ

ด้าน พล.อ.ท.ธรรมนิตย์ สิงห์คะสะ เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มีผลกระทบมาก ทำไมเราถึงยังไม่ได้ข้อสรุปในวันนี้ ซึ่งในส่วนของความคืบหน้าในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม มี 8 ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องการแก้ไของค์ประกอบหน้าที่ของคณะกรรมการ และอำนาจหน้าที่รัฐมนตรี ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นพ้องให้เป็นไปตามร่างเดิมที่เสนอมา การแก้ไขสิทธิ์ก็เห็นชอบตามร่างมามีข้อสังเกตติดไว้นิดหน่อย การเพิ่มข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญา พีเอสซี การจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เป็นเรื่องที่ทุกสนใจ การพึ่งตัวเองอย่างยั่งยืน ที่เราจะใช้เอ็นโอซีเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อน แต่ก็ยังไมได้ข้อสรุปต้องมีการพูดคุยต่อส่วนการกำหนดเงื่อนไขการแบ่งผลประโยชน์ ที่ร่างรัฐบาลกำหนด 50 เปอร์เซ็นต์ แต่มีสมาชิก สนช.2 คนแปรญัตติว่าควรเป็นรูปแบบขั้นบันได ตามศักยภาพของแต่ละแปลง ซึ่งก็มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางด้วยเหตุผลสุดท้ายก็สรุปเป็นไปตามร่าง ส่วนประเด็นการโอนข้อผูกพันระหว่างแปลง เมื่อพิจารณาจากเหตุจำเป็นทางธรรมชาติ และทางการเมืองหรืออะไรที่สุดวิสัย เราจะให้โอกาสกับบริษัทที่ได้สัญญาพีเอสซี ในการโอนข้อผูกพันในระหว่างการสำรวจ ส่วนประเด็นเซอร์วิสเซอร์คอนแทร็กต์ ในร่างระบุว่า สัญญาจ้างสำรวจ และผลิต แต่ที่ประชุมหลายคนเสนอว่าควรใช้ชื่อที่เป็นสาสากล คือ เซอร์วิส หรือ จ้างบริการ แต่ก็ไปกระทบกับหลักการที่มีคำว่า “สัญญาจ้างและผลิต” จึงถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องใช้เวลาจึงยังไม่ได้ข้อสรุปจะมีการหารืออีกครั้งในวันจันทร์หน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น