ผู้จัดการรายวัน360-กมธ.ปิโตรเลียม สนช. ยังหาข้อสรุปกฎหมาย 2 ฉบับไม่ได้ เหตุยังมีข้อค้างคาใจอีก 3-4 ข้อ แต่ยังไม่เลิกดัน เตรียมนัดอีกครั้ง 16 พ.ย.นี้ ยอมรับกฎหมายมีความละเอียดอ่อน การพิจารณาอาจต้องล่าช้าออกไป พร้อมเตือนกฎหมายสะดุด กระทบการจัดหาก๊าซธรรมชาติในอนาคต ด้าน ปตท.สผ. โอดทำงานลำบาก ระบุประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชที่จะหมดสัมปทานปี 65-66 ไม่ได้ตามกำหนด เจอปัญหาการผลิตก๊าซฯ แน่
ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า วานนี้ (14 พ.ย.) คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ . ... ) พ.ศ. ... สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีพล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ได้ออกหนังสือด่วนที่สุด เพื่อนัดประชุมคณะกมธ.พิจารณาลงมติร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่. ... ) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ...
ภายหลังจากการประชุม พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กลั่นเสนาะ รองประธานคณะกมธ. กล่าวว่า พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับมีความละเอียดอ่อน ที่ผ่านมา คณะกมธ. ได้รับข้อร้องเรียนจากภาคประชาชน จึงต้องคำนึงถึงข้อเรียกร้องต่างๆ โดยการพูดคุยในวันนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรียงตามมาตราจนครบทั้งร่างแล้ว และได้นำประเด็นของสมาชิกที่แปรญัตติมาไล่เรียงอีกครั้ง จึงต้องใช้การเจรจาและทำความเข้าใจร่วมกัน ส่วนเรื่องการลงมตินั้น กมธ.อยากใช้การทำความเข้าใจมากกว่าการใช้เสียงโหวตในการตัดสิน เพราะยังมีเรื่องที่ค้างคาอยู่ 3-4 หัวข้อ โดยประเด็นไหนที่สามารถตกลงกันได้ ก็ผ่านไป ส่วนประเด็นใดที่ยังเห็นไม่ตรงกันก็ยกไว้
ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นเรื่องภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ที่กรมสรรพกรได้ให้ข้อคิดเห็น แต่ทางคณะทำงานยังเห็นว่า มีข้อขัดแย้งกันอยู่ จึงจำเป็นต้องเจรจานอกรอบ ทำให้ต้องมีการนัดประชุมอีกครั้ง เวลา 09.00 น.วันที่ 16 พ.ย.นี้
"สาเหตุที่ต้องนัดประชุมอีกครั้ง เนื่องจากพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ยังไม่สามารถหาข้อสรุปจนนำไปสู่การลงมติได้” พล.อ.อ.อดิศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางกมธ.เข้าใจถึงดีว่า หากกมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้งฉบับ 2 ฉบับนี้ล่าช้าออกไป จะกระทบต่อการจัดหาก๊าซธรรมชาติในอนาคต แต่ทางกมธ.ก็มองว่า จะต้องยึดหลักกฎหมายด้วย เพราะร่างพ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับมีความละเอียดอ่อน และแตกต่างกับร่างพ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า บริษัทมีความกังวล หากมีการเลื่อนการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้งแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชที่จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2565-2566 ออกไปจากเดิมที่กระทรวงพลังงานเคยกำหนดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินไตรมาส 3/2560 เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยในอนาคต
"หากมีการเลื่อนการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้ง2แหล่งออกไป บริษัทจะทำงานได้ยากขึ้น รวมทั้งไม่มีประสิทธิภาพในการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยได้ เพราะการรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทย จำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อลงทุนหลุมเจาะปิโตรเลียมเพิ่มเติม"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณายับยั้งร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... ให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากวันที่ 14 พ.ย.นี้จะมีการลงมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับว่าจะแก้ไขหลักการหรือไม่ ซึ่ง คปพ.เรียกร้องให้ตีกลับมาเพื่อแก้ไขให้สมบูรณ์ก่อน เนื่องจากมูลค่าของก๊าซในอ่าวไทยนั้นคิดเป็น 4-5 แสนล้านบาท
สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ อยู่ที่การบริหารแหล่งปิโตรเลียม ในร่างกฎหมายฉบับใหม่มี 3 แนวทาง คือ การใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งที่ผ่านมาใช้แนวทางนี้มาตลอด และมีการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต , ระบบการรับจ้างผลิต รวมทั้งจะกำหนดในบทเฉพาะกาลให้มีการศึกษาตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้เสร็จภายใน 2 ปี
ทั้งนี้ คปพ. ยังได้เรียกร้องให้มีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการคืนท่อก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท.ให้สาธารณชนรับทราบ หลังจากทราบมาว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีวาระลับกำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลังเร่งหาข้อยุติดังกล่าวให้เสร็จตั้งแต่ 24 ต.ค. ซึ่งถือว่าเกินกำหนด หากไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้จะถือว่า ครม.ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ โดยหากร่าง พ.ร.บทั้ง 2ฉบับไม่ผ่านการอนุมัติ ก็จะมีผลทำให้ไม่สามารถเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานทั้ง 2ฉบับได้