“ปตท.สผ.” ชี้การประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช ที่สิ้นสุดสัมปทานปี 65-66 ไม่ได้ตามเวลาที่กำหนดในไตรมาส 3/60 จะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทย
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความกังวลหากมีการเลื่อนการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้งแหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกช ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2565-2566 ออกไปจากเดิมที่กระทรวงพลังงานเคยกำหนดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกินไตรมาส 3/2560 เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากมีการเลื่อนการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมทั้ง 2 แหล่งออกไป บริษัทฯ จะทำงานได้ยากขึ้น รวมทั้งไม่มีประสิทธิภาพในการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยได้ เพราะการรักษาอัตราการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทยจำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าเพื่อลงทุนหลุมเจาะปิโตรเลียมเพิ่มเติม
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทางเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณายับยั้งร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากวันที่ 14 พ.ย.นี้จะมีการลงมติของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับว่าจะแก้ไขหลักการหรือไม่ ซึ่ง คปพ.เรียกร้องให้ตีกลับมาเพื่อแก้ไขให้สมบูรณ์ก่อน เนื่องจากมูลค่าของก๊าซในอ่าวไทยนั้นคิดเป็น 4-5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ คปพ.ได้เรียกร้องให้มีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการคืนท่อก๊าซธรรมชาติของ บมจ.ปตท.ให้สาธารณชนรับทราบ หลังจากทราบมาว่า ครม.มีวาระลับกำหนดให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงการคลังเร่งหาข้อยุติดังกล่าวให้เสร็จตั้งแต่ 24 ต.ค.ซึ่งถือว่าเกินกำหนดหากไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้จะถือว่า ครม.ละเว้นปฏิบัติหน้าที่
นายสมพรกล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการประชุมเทคโนโลยีปิโตรเลียมนานาชาติ ครั้งที่ 10 (IPTC) วันนี้ (14 พ.ย.) ซึ่ง ปตท.สผ.เป็นเจ้าภาพในการจัดงานว่า แนวทางที่บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะอยู่รอดภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันปัจจุบันนั้น คือ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพิ่มโอกาสความสำเร็จในการค้นพบปิโตรเลียมทั้งปิโตรเลียมในรูปแบบเดิม (Conventional) และรูปแบบใหม่ (Unconventional) ลดต้นทุนในการดำเนินงาน และลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน โดยในส่วนของ ปตท.สผ.นั้นได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเช่นกัน
โดยเทคโนโลยีที่ ปตท.สผ.ที่กำลังพัฒนานั้นจะมุ่งเน้นในด้านการเพิ่มความสำเร็จในการค้นพบปิโตรเลียม เช่น ศูนย์การประมวลผลเฉพาะงานคลื่นไหวสะเทือน (DPC) เทคโนโลยี Enhance Oil Recovery ที่ช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตจากแหล่งปิโตรเลียมจากเดิมที่เคยผลิตได้ 10-20% ของปริมาณสำรองก็จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้นำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ได้เพิ่มเป็น 20-30% ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลง และยานยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติ (Autonomous Underwater Vehicle หรือ AUV) ซึ่งบริษัทร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อตรวจสอบอุปกรณ์การผลิตใต้ทะเล คาดว่าภายใน 2 ปีข้างหน้าจะพัฒนาให้ใช้ได้จริง