ปตท.สผ.ชี้ปีหน้ามีโครงการที่ตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) 2 โครงการทั้งโมซัมบิก และแอลจีเรีย ส่วนแหล่งอุบลต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 62 หลังหารือเชฟรอนเพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง แย้มต้นปีหน้ามีความชัดเจนดีลซื้อกิจการ (M&A) หวังดันปริมาณการขายปิโตรเลียมโตขึ้นกว่า 3.2 แสนบาร์เรล/วัน
นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานการเงินและการบัญชี บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า ในปี 2560 บริษัทฯ จะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ใน 2 โครงการที่ต่างประเทศ คือ โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ที่ ปตท.สผ.ถือหุ้นอยู่ 8.5% และโครงการ แอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ที่บริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ 24.5%
โดยโครงการโมซัมบิก โรวูมาฯ เป็นแหล่งก๊าซฯ ขนาดใหญ่ มีปริมาณสำรองราว 75 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดยจะพัฒนาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มีลูกค้าที่พร้อมจะรับซื้อ LNG คิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของกำลังการผลิตเฟสแรก 12 ล้านตัน/ปี ซึ่งโครงการนี้จะใช้เงินลงทุนรวม 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นการลงทุนของปตท.สผ. 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยโครงการนี้อยู่ระหว่างรอให้รัฐบาลโมซัมบิกจัดทำข้อกฎหมายต่างๆ ให้พร้อมรองรับการลงทุน
เดิมโครงการนี้จะ FID ในปีนี้แต่สุดท้ายก็ต้องเลื่อนออกไป คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2564-2565 โดยบริษัท ปตท.ได้ทำสัญญา HOV เพื่อรับซื้อ LNG จากโครงการดังกล่าวจำนวน 2.6 ล้านตัน/ปี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
ส่วนโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ราเคซนั้น ขณะนี้ได้เตรียมแผนพัฒนาโครงการยื่นขออนุมัติจากรัฐบาลแอลจีเรีย หลังจากที่ผ่านมาได้มีการเจาะหลุมสำรวจพบว่าเป็นแหล่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้
นางสาวพรรณนลินกล่าวว่า สำหรับโครงการอุบลที่ ปตท.สผ.ถือหุ้นอยู่ 60% อยู่ระหว่างการหารือกับเชฟรอนในฐานะผู้ดำเนินการ (โอเปอเรเตอร์) เพื่อหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตลงอีกให้สอดรับกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง โดยคาดว่าจะ FID ได้ในปี 2562 แหล่งอุบลจะมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2.5 หมื่นบาร์เรล/วัน
สำหรับเป้าหมายการขายปิโตรเลียมในปี 2560 คาดว่าจะใกล้เคียงปีนี้ที่ 3.2 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน แต่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นได้อีกหากดีลซื้อกิจการ (M&A) แหล่งปิโตรเลียมสำเร็จ โดยบริษัทฯ มีดีล M&A ประมาณ 3-4 โครงการในแหล่งปิโตรเลียมแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะชัดเจนในต้นปี 2560
ส่วนโครงการแหล่งปิโตรเลียมน้ำลึก MD7 ประเทศพม่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหาพันธมิตรร่วมทุนที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการ และยังเป็นการลดความเสี่ยงการลงทุนด้วย สำหรับโครงการ M3 ที่ ปตท.สผ.ถือหุ้นใหญ่ 80% นั้นคงต้องมีการปรับวิธีพัฒนาโครงการใหม่เพื่อคุ้มค่าเชิงพาณิชย์หลังพบว่าปริมาณสำรองก๊าซฯ ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ ปตท.สผ.ก็มีประสบการณ์จากแหล่งเยตากุนที่มีปริมาณสำรองก๊าซฯ ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ ทำให้จ่ายก๊าซฯ ได้น้อยลงกว่าสัญญาซื้อขายที่ทำไว้กับ ปตท.จนต้องมีการแก้ไขสัญญาใหม่ ปัจจุบันแหล่งเยตากุนมีกำลังการผลิต 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และจะลดลงไปเหลือ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในปี 2563
นางสาวพรรณนลินกล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ได้หารือกับบริษัทแม่ คือ ปตท.เพื่อร่วมมือในโครงการ LNG โดยอาจจะตั้งบริษัทย่อยร่วมกันเพื่อลงทุนในโครงการ LNG เนื่องจาก ปตท.สผ.มีความชำนาญด้านต้นน้ำและ ปตท.ชำนาญด้านกลางน้ำและปลายน้ำ เพื่อให้ประโยชน์สูงสุด ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.ก็มีการตั้งทีมงานเพื่อหาธุรกิจใหม่เพื่อต่อยอด หลังจากประเมินว่าพลังงานทดแทนและรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น