xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ ยังหวังเปิดประมูลเอราวัณ-บงกช พ.ค. 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” ยังมั่นใจว่ากระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียมจะยังคงทำให้การเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ และบงกชได้ภายในปี 2560 โดยคาดหวังที่จะเปิดราว พ.ค. 2560

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ภายในปี 2560 กรมฯ ยังเชื่อมั่นจะประมูลแหล่ง “เอราวัณ-บงกช” เสร็จสิ้นได้ แม้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ.ภาษีปิโตรเลียม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเสนอ ครม.ในประเด็น นอกเหนือหลักการเดิม แต่หากล่าช้าอาจทำให้ก๊าซฯ เหลือเพียง 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากแผนเดิม 1,500-1,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ส่วนกรณีที่หลังจาก กมธ.วิสามัญฯ มีมติเห็นชอบให้แก้ไขหลักการร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ในประเด็นคำจำกัดความของคำว่า “Service Contract” ที่แปลไว้ว่า “จ้างสำรวจและผลิต” เป็น “จ้างบริการ” ซึ่ง กมธ.เห็นว่ายังไม่ครอบคลุมเนื้อหารายละเอียดทั้งหมด และจะเสนอรัฐบาลเพื่อแก้ไขนั้น ยังไม่รับทราบว่า กมธ.มีข้อสรุปในประเด็นทั้งหมดอะไรบ้าง โดยเป็นข้อเสนอนอกเหนือหลักการเดิมที่ ครม.ส่งไป

“ขั้นตอนคือ กมธ.วิสามัญฯ ต้องเสนอมายัง ครม.อีกครั้ง และทางกระทรวงพลังงานก็ต้องเสนอเหตุผลควบคู่ไปด้วย โดย ครม.อาจจะเห็นชอบตามหลักการเดิม หรือนำข้อเสนอ ของ กมธ.วิสามัญฯ มาผนวกเพิ่มไปก็ได้ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ยังไม่ทราบว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงพลังงานยังคาดหวังว่าจะดำเนินการอย่างรวดเร็ว และหากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเสร็จสิ้นในเดือนธันวาคม 2559 การประมูลแหล่งสัมปทานที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 คือ แหล่งเอราวัณ และบงกช ก็อาจจะเปิดประมูลได้ในเดือนพฤษภาคม” นายวีระศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานเป็นห่วงเรื่องความล่าช้า จึงพิจารณาติดตามแผนงานด้านพลังงานที่เกี่ยวข้องและปรับแผนให้เหมาะสม โดยล่าสุดทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.ได้เห็นชอบแผนการก่อสร้างสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) แห่งที่ 2 ของ ปตท.เพิ่มเป็น 7.5 ล้านตัน สร้างเสร็จในปี 2565 รวมทั้งเห็นชอบให้ กฟผ.นำเข้าแอลเอ็นจีในรูปคลังลอยน้ำ (FSRU) อีก 5 ล้านตัน ในขณะเดียวกันก็อาจจะต้องพิจารณานำเข้าก๊าซฯ จากมาเลเซีย และการนำเข้าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มขึ้นซึ่งคงจะต้องดูแผนทั้งหมดให้ชัดเจน

“การวางแผนผลิตก๊าซต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี จึงต้องการประมูลเสร็จสิ้นในปี 2560 หากไม่เสร็จ เอกชนก็วางแผนผลิตไม่ได้กำลังผลิตก็จะน้อยลง และยิ่งหากรายเดิมก็จะผลิตได้เร็ว แต่หากได้รายใหม่ก็จะล่าช้าไปอีก 2 ปี และต้องมาเจรจาเรื่องการรื้อถอนแท่นผลิตที่มีกว่า 330 แท่นว่าจะดำเนินการอย่างไรอีกด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น