xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานลั่นหาก สนช.ยืดเวลาพิจารณาร่าง กม.ปิโตรเลียมไม่กระทบจ่อคลอดเกณฑ์ประมูลสิ้นปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.พลังงานเผยหาก สนช.ยืดเวลาพิจารณาร่างกม.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมออกไปอีกไม่กระทบต่อการเปิดประมูล 2 แหล่งก๊าซฯ เอราวัณ-บงกชที่จะสิ้นสุดสัปมทานปี 2565-66 จ่อคลอดTOR สิ้นปีวางกรอบ เปิดประมูลได้ภายใน มี.ค.-มิ.ย. 2560 เผยตัวเลขค่ารื้อถอนแท่นขุดเจาะ

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณากรรมาธิการวิสามัญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ล่าสุดอาจมีการขยายกรอบเวลาในการพิจารณาแต่ก็คาดว่าจะสามารถลงประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาประมาณ ต.ค. 2559 ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงเตรียมพิจารณาแนวทางเพื่อเปิดประมูลแหล่งก๊าซที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทาน 2 แหล่ง คือ เอราวัณ และบงกช ที่คาดว่าจะกำหนดเงื่อนไขและเกณฑ์การประมูลได้ภายใน ธ.ค.นี้ และจะเปิดให้เอกชนทั้งรายเก่าและรายใหม่ที่สนใจยื่นประมูลภายในเดือน มี.ค.-มิ.ย. 2560 และคาดว่าจะประกาศให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ในเดือนกันยายน 2560

“ขณะนี้ สนช.กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ. 2 ฉบับตามระยะเวลาภายใน 60 วัน คือ ตั้งแต่ 24 มิ.ย. - 23 ส.ค. และหากมีการเลื่อนก็คงไม่มีปัญหาอะไรเพราะได้กำหนดกรอบเวลาเผื่อไว้แล้ว ดังนั้นกระทรวงฯ ก็จะมีการยกร่างกฎกระทรวง 6 ฉบับ และ 1 ประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมมารองรับเพื่อโฟกัสใน 2 แหล่งก๊าซฯ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2565-2566 นี้ก่อนเพราะการผลิตก๊าซฯ คิดเป็น 2 ใน 3 ของการผลิตทั้งหมดหากไม่ต่อเนื่องจะกระทบสำรอง ส่วนการเปิดประมูลปิโตรเลียมรอบที่ 21 นั้นก็คงจะมาดูภายหลัง” นายอารีพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมฯใหม่ได้กำหนดรูปแบบการบริหาร 3 รูปแบบจากเดิมมีเพียงระบบสัมปทานได้เพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบรับจ้างผลิตเข้ามาซึ่งที่ผ่านมา 40 ปีภายใต้การบริหารจัดการระบบสัมปทานจาก Thailand I และมาจนถึง Thailand III พบว่าสัดส่วนรายได้รัฐไม่ได้ต่างจากระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSC มากนัก

อย่างไรก็ตาม กฎหมายสัมปทานเดิมได้กำหนดไว้ว่าเมื่อสิ้นสุดอายุสัมปทานผู้ที่ได้รับสัมปทานจะต้องรับผิดชอบรื้อถอนแท่นขุดเจาะทั้งหมดซึ่งขณะนี้แหล่งเอราวัณและบงกชมีทั้งหมดราว 200 กว่าแท่น และจากการมอบที่ปรึกษาสำรวจค่ารื้อถอนพบว่ามีมูลค่าสูงถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 2.45 แสนล้านบาท ดังนั้น หากผู้ชนะประมูลรายเดิมก็ไม่มีปัญหาในเรื่องของค่ารื้อถอนเพราะสามารถเจรจารัฐทำต่อเนื่องไปได้จนสิ้นสุดอายุแท่นและรับภาระรื้อถอนไปเลย ขณะที่รายใหม่ยอมรับว่านอกจากการผลิตก๊าซอาจไม่ต่อเนื่อจุดนี้ก็ต้องเจรจากับรายเก่าที่จะใช้แท่นขุดเจาะเดิมที่ยังมีศักยภาพเพียงพอ หากจะใช้แท่นต่อก็จะต้องจ่ายค่าใช้ในส่วนที่เหลือตามอายุ ซึ่งทั้งหมดจะกำหนดให้ชัดเจน

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า แหล่งก๊าซเอราวัณ ผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท เชฟรอนสำรวจและผลิต ส่วนแหล่งบงกช ผู้รับสัมปทาน คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.ส.ผ.) ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 ทั้ง 2 แหล่งผลิตก๊าซฯ รวมกันประมาณ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งตามกฎหมายจะต่อไม่ได้และรัฐได้กำหนดให้เปิดประมูลให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี เบื้องต้นคณะทำงานอยู่ระหว่างการร่างเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดรูปแบบการเปิดประมูลว่าจะใช้ระบบสัมปทาน PSC หรือรับจ้างผลิต ซึ่งรูปแบบ 2 แหล่งอาจไม่เหมือนกันก็เป็นไปได้

“ก็ต้องโฟกัสใน 2 แหล่งก่อนเพื่อไม่ให้การผลิตสะดุด ส่วนที่จะเปิดให้สำรวจรอบที่ 21 ซึ่งมีทั้งหมด 29 แปลงก็คงจะต้องมาดูหลังจากนั้นคือช่วง ก.ย. 2560 ไปแล้วว่าจะอย่างไรต่อไป” นายวีระศักดิ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น