“อนันตพร” แถลงย้ำจุดยืนพร้อมฟังเสียงภาคประชาชนหลัง “สนช.” รับร่างแก้ไขร่าง 2 กฎหมายปิโตรเลียมฯ คาดอีก 2 เดือนประกาศใช้ได้ เผยบางเรื่องแก้ไขแล้วและบางเรื่องกำลังดำเนินการ ชี้เพื่อความสบายใจการเปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่จะต้องไปเป็นปี 2560 เพื่อรอผลศึกษาตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (NOC) ที่หารือคลังเตรียมว่าจ้างคนกลางศึกษาภายใน 1 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ซึ่งมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานพิจารณารับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. ... และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. ... โดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม จำนวน 152 คน ไม่เห็นด้วย 5 คน และงดออกเสียง 16 คน จากผู้เข้าร่วมประชุม 173 คนซึ่งครบองค์ประชุม ส่วนร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม มีผู้เห็นชอบ 154 คน ไม่เห็นด้วย 2 คน งดออกเสียง 17 คน จากผู้เข้าร่วมประชุม 173 คน
พร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวจำนวน 21 คนเพื่อแปรญัตติร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวภายในระยะเวลา 15 วัน โดยจะประชุมนัดแรกในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ เวลา 13.30 น.
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงภายหลังการประชุมว่า ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ผ่านวาระแรกไปแล้ว ขณะนี้ สนช.ได้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ มาพิจารณาแปรญัตติภายใน 15 วัน และกำหนดแล้วเสร็จภายใน 60 วัน ดังนั้นก็จะมีการนำกลับเข้ามาสู่การพิจารณาที่ประชุม สนช.อีกครั้งก็จะสามารถประกาศเป็นกฎหมายได้ ทั้งหมดคงจะใช้เวลารวม 2 เดือน และแม้ว่าหากกฎหมายแล้วเสร็จจะสามารถเปิดให้เอกชนมายื่นสิทธิ์สำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ในปีนี้ได้ แต่เพื่อความสบายใจก็คงจะไปเปิดปี 2560
สำหรับกรณีที่เครือข่ายภาคประชาชนระบุว่า หากร่างดังกล่าวผ่านจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ประชาชนควรจะรับฟังด้วย เข้าใจว่าอาจจะไม่สบายใจว่าร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับแก้จริงหรือเปล่า ขอย้ำว่าได้แก้ในส่วนที่จำเป็นไปก่อน ส่วนที่รอเวลาได้ก็ต้องศึกษาซึ่งคิดว่าส่วนนี้ใช้เวลา 1 ปีคงจะเสร็จ คิดว่าภาคประชาชนจะเข้าใจ และหากไม่เข้าใจก็พร้อมที่จะชี้แจง ยืนยันว่าทั้งกระทรวงฯ และ สนช.เองรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาก่อนที่จะเสนอ สนช.นั้นกระทรวงเองก็ได้มีการแก้ไขด้วยการเพิ่มระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และรับจ้างผลิตนอกเหนือจากสัมปทาน
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อจ้างคนกลางเข้ามาศึกษาถึงความเหมาะสมในการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (NOC ) รวมถึงศึกษาโครงสร้างระบบบริหารจัดการ ว่าควรตั้งขึ้นมาเพื่อลงทุนด้านพลังงานเพียงอย่างเดียว หรือควรเป็นผู้กำกับดูแลด้วย ซึ่งเบื้องต้นน่าจะให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการจ้าง เพราะเป็นผู้ที่ควบคุมงบประมาณต่างๆ อยู่แล้วและนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 ปี
“กรณีสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ และบงกช หมดอายุปี 2565-2566 นั้น ทาง กพช.มีมติแล้วให้ไปดำเนินการร่างเงื่อนไขต่างๆ เพื่อเปิดประมูลซึ่งใช้เวลา 1 ปีหรือประมาณ พ.ค. 60 โดยกรณีไม่จำเป็นต้องรอ NOC ขณะที่เปิดสำรวจปิโตรเลียมรอบใหม่ก็เป็นปีหน้าเช่นกันเพราะต้องรอข้อสรุปการจัดตั้ง NOC เสียก่อนและเดิมกำหนดไว้ 29 แปลงที่จะเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจฯก็จะต้องมาดูใหม่และกำหนดว่าจะใช้ระบบใดในแปลงใดด้วย” นายวีระศักดิ์กล่าว