xs
xsm
sm
md
lg

รัฐเตรียมเปิดประมูลแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ-บงกช ภายในมีนาคม 2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ” วางกรอบเวลาการประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 ให้เอกชนยื่นเสนอได้ภายในมีนาคม 2560 หาก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2 ฉบับรวมถึงประกาศและกฎหมายลูกที่จะต้องจัดทำรองรับ 5 ฉบับเสร็จภายใน ต.ค. 59 นี้ และคาดว่าจะได้ผู้ชนะภายใน ก.ย. 61



นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำกรอบเวลาขั้นตอนการประมูลและเงื่อนไขเวลาสำหรับการบริหารจัดการแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณ และบงกช ในอ่าวไทยที่จะสิ้นสุดสัมปทานปี 2565-2566 ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กำหนดให้ดำเนินการประมูลให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีโดยคาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2560 จะสามารถออกประกาศเชิญชวนและรับคำขอเพื่อให้เอกชนมายื่นเสนอประมูลได้และภายใน ก.ย. 2560 จะสามารถคัดเลือกเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาและให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแก่ผู้ที่ชนะการประมูล

“การเปิดให้ยื่นประมูลใน มี.ค. 2560 นั้นจะเป็นไปตามกรอบเวลาที่คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม รวมถึงการประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดรูปแบบการให้สิทธิฯ แต่ละแปลงว่าจะใช้รูปแบบใด และร่างกฎกระทรวงที่จำเป็น 5 ฉบับที่จะกฏหมายลูกรองรับที่จะต้องดำเนินการแล้วเสร็จภายเดือนตุลาคม 2559 นี้” นายวีระศักดิ์กล่าว

สำหรับเงื่อนไขในร่างหลักเกณฑ์ในการเปิดประมูลจะเน้นให้ความสำคัญในเรื่องของปริมาณงานที่มีคะแนนสูงสุดถึง 80% ขณะที่เหลือ 20% จะเป็นปริมาณเงินและการเสนอสิทธิประโยชน์ให้รัฐเนื่องจากรัฐมีเป้าหมายที่ต้องการทรัพยากรมากกว่าด้วยเพราะแหล่งปิโตรเลียมไทยมีขนาดเล็กจำเป็นต้องเสนอปริมาณงานหรือปริมาณการเจาะหลุมสำรวจ หากใครเสนอมากโอกาสชนะก็จะสูง เพราะจะทำให้โอกาสที่ไทยได้ปริมาณปิโตรเลียมเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การลงทุนเจาะหลุมต้องใช้เงินลงทุนสูงหากเป็นในทะเลปัจจุบันเฉลี่ยหลุมละ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การเปิดประมูลนั้นจะใช้รูปแบบใดก็ขึ้นอยู่กับว่า พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมทั้ง 2 ฉบับจะผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามกรอบเวลาใน ต.ค.นี้หรือไม่เพราะหากผ่านก็อาจจะใช้วิธีสัมปทานเหมือนเดิมแต่หากผ่านก็จะมีรูปแบบของระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบรับจ้างผลิตเข้ามาเพิ่มซึ่งที่ผ่านมารัฐเองมองว่ารับจ้างผลิตคงเป็นไปได้ยากแต่ที่สุดจะใช้รูปแบบสัมปทาน หรือ PSC ก็อยู่ที่คณะกรรมการปิโตรเลียมที่มีปลัดกระทรวงพลังงานจะพิจารณา

“การผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะขาดความต่อเนื่องเพราะผู้ผลิตรายเดิมจะไม่ขุดเจาะหลุมเพิ่มเพราะไม่แน่ใจว่าจะชนะประมูลหรือไม่ จึงคาดว่าปริมาณก๊าซจะหายไปจากระบบรวม 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ระหว่างปี 2561-2568 จึงต้องดำเนินการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี เข้ามาเสริม” นายวีระศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีการลดการลงทุนเพื่อเจาะหลุมสำรวจในการรักษาระดับสำรองก๊าซที่ 2 แหล่งผลิตอยู่ในขณะนี้ 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งแหล่งบงกช ผู้รับสัมปทาน คือ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) นั้นหากจะให้มีการลงทุนให้ต่อเนื่องก็มีแนวคิดให้นำมาตรา 44 มาบังคับใช้กรณีที่ไม่สามารถจัดหาเอกชนมาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ตามกรอบเวลาที่กำหนด แต่กรณีเชฟรอนที่เป็นผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณคงจะใช้ไม่ได้ โดยคาดว่าหลังทั้ง 2 แหล่งปิโตรเลียมสิ้นสุดสัญญาสัมปทานจะยังมีปริมาณก๊าซที่เหลืออยู่และรอการขุดเจาะรวม 5.71 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต
กำลังโหลดความคิดเห็น