xs
xsm
sm
md
lg

สนพ.ผวา ปตท.สผ.-เชฟรอนแพ้ประมูลทำ 2 แหล่งก๊าซขาดช่วงปี 64 วิกฤตสุดกระทบไฟฟ้า-ปิโตรฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ(ขวามือ)
“สนพ.” ศึกษาแผนรับมือกรณีขั้นเลวร้าย 2 แหล่งก๊าซใหญ่อ่าวไทยเอราวัณ-บงกชได้ผู้ชนะประมูลเป็นรายใหม่ที่ไม่ใช่เชฟรอน-ปตท.สผ.จะทำให้ก๊าซขาดช่วงหายไป 1,500 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน กระทบช่วงปี 2561-2564 ต้องนำเข้า LNG เพิ่มถึง 18.5-20 ล้านตัน โดยเฉพาะผวาปี 64 ส่อวิกฤตนำเข้าพุ่ง 9 ล้านตัน ส่อกระทบไฟ 6.3 หมื่นเมกะวัตต์ กระทบอุตฯ ปิโตรเคมี “ปตท.” เร่งวางแผนรับมือ


นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยในงานสัมมนาเรื่อง “ผลกระทบและทางออกสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ” จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ว่า สนพ.ได้เตรียมแผนรองรับมือแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ และบงกช ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-2566 ไว้แล้ว โดยได้ทำกรณีศึกษาแบบเลวร้ายสุด (Worst Case) ที่รัฐเปิดประมูลการแข่งขันเพื่อหาผู้มาบริหารจัดการและได้เป็นรายใหม่ที่ไม่ใช่ผู้รับสัมปทานเดิม คือ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ซึ่งจะทำให้ปริมาณก๊าซฯ จากเดิมที่ 2 แหล่งผลิตได้ 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันจะทยอยหายไปเฉลี่ยรวม 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันช่วงปี 2561-2564 ซึ่งจะทำให้ต้องนำเข้า LNG เพิ่มอีกถึง 18.5-20 ล้านตัน

“กรณีได้ผู้รับสัมปทานรายเดิมทุกอย่างก็จะไม่กระทบแต่หากเปิดประมูลซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลา 1 ปีหรือเสร็จราว พ.ค. 2560 ผู้รับสัมปทานรายเดิมก็จะไม่เจาะหลุมเพื่อรักษาระดับก๊าซฯเพิ่มขึ้นเพราะการลงทุนอาจไม่คุ้มกับความเสี่ยงก่อนสิ้นอายุสัมปทานปี 2565-2566 ก่อนที่รายใหม่จะมาก็จะทำให้ช่วงรอยต่อก๊าซฯ ทยอยลดและหายไป 1,500 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ส่วนนี้เราต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มาแทนเพิ่มขึ้นราว 18.5-20 ล้านตันในช่วงปี 2561-2564 ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานรองรับการนำเข้า LNG จะเสร็จไม่ทันเพราะเฟสแรกกำหนดรองรับไว้เพียง 11.5 ล้านตันในปี 2562 และเฟส 2 อีก 7.5 ล้านตันในปี 2565 รวมทำให้ไทยต้องนำเข้า LNG 30 ล้านตันซึ่งกรณีนี้ได้รวมโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพไม่เกิดขึ้นด้วยแล้ว” นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ ปี 2564 เป็นปีที่กังวลมากที่สุดเพราะต้องนำเข้า LNG ถึง 9 ล้านตัน เมื่อแปรเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 6,300 เมกะวัตต์ รัฐต้องหาวิธีในการป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าขาดแคลนหรือดับ เช่น หามาตรการประหยัดให้มากสุด และอาจถึงขั้นบังคับใช้เชื้อเพลิงอื่นกรณีน้ำมันเตา ดีเซล หากช่วงดังกล่าวราคาแพงก็ย่อมจะกระทบค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นซึ่งถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินสร้างเสร็จทันตามแผนกำหนดทั้งที่กระบี่ และเทพาก็จะช่วยได้อีกระดับหนึ่ง

ปตท.เร่งหาแผนรับมืออุตฯ ปิโตร

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บมจ.ปตท.กล่าวว่า บมจ.ปตท.สผ.เองก็เตรียมแผนที่เตรียมความพร้อมในการประมูลแหล่งก๊าซฯ ที่จะหมดอายุสัมปทานเพราะเป็นแหล่งในประเทศไทย และหน้าที่หลักดูแลแหล่งพลังงานในประเทศ ส่วนกรณีปริมาณก๊าซฯ เลวร้ายสุดที่จะหายไปช่วงรอยต่อ ปตท.ก็ได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้วเพราะจะกระทบอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและต้องนำเข้าแอลพีจี (LPG) เพิ่มขึ้น

“ก๊าซฯ ที่หายไปจะกระทบต่อโรงแยกก๊าซฯ ทำให้แอลพีจีจะหายไปช่วงปี 2561-2565 เฉลี่ยปีละเกือบ 1 ล้านตัน โดยเฉพาะในปี 2564 นั้นจะขาดถึง 1.3 ล้านตัน โดยเรื่องนี้ทาง บมจ.พีทีที โกลบอลเคมิคอล หรือ PTTGC ได้วางแผนรองรับด้วยการศึกษา Naphtha Cracker ที่จะนำแนพทามาเป็นวัตถุดิบผลิตปิโตรเคมีแทนก๊าซฯ กำลังผลิตประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเสร็จปี 2563 ซึ่งจะนำมาทดแทนแอลพีจีได้ส่วนหนึ่งแต่ปี 2561-2562 ก็จะต้องนำเข้าแอลพีจีเฉลี่ยปีละ 8-9 แสนตัน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานรองรับนำเข้าไม่มีปัญหาแต่ราคานำเข้าอาจแพงได้ในช่วงเวลาดังกล่าว” นายอรรถพลกล่าว

นายฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐจะเดินหน้ารูปแบบใดแต่ขอให้ปริมาณก๊าซฯ ที่ผลิตออกมานั้นมีความต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานเพราะจะกระทบหลายด้านโดยเฉพาะอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของประเทศทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และโครงสร้างราคาหรือสัญญาขายก๊าซฯ ไม่ว่าจะเป็นรายใหม่หรือเก่าก็จะต้องทำให้ราคามีความเป็นธรรมได้ประโยชน์ทุกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น