อดีต ส.ว. กทม. ย้ำ ปิโตรเลียมเป็นของประชาชน ร่างกฎหมายฉบับใหม่ต้องฟังเสียงประชาชน แต่รัฐบาลกำลังใช้อำนาจเผด็จการผ่านร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมที่มีเนื้อหาลับลวงพราง 2 ฉบับ เปิดประตูเมืองให้เอกชนเขมือบทรัพยากร เมินข้อเสนอของภาคประชาชน ท้าทำประชามติให้ประชาชนตัดสินใจเรื่องสำคัญของประเทศ
เมื่อเวลา 23.50 น. วันที่ 23 ที่ผ่านมา น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒสภากรุงเทพมหานคร และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล แสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียม และร่าง พ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ของกระทรวงพลังงาน เข้าวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาในวาระรับหลักการ ในวันที่ 24 มิ.ย. ว่า “ปิโตรเลียมในแผ่นดินนี้เป็นของประชาชน ร่างกฎหมายใหม่ต้องฟังเสียงประชาชน หรือเสียงประชามติ”
“พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประกาศสละราชสมบัติ” ความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้น โดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร.....” ข้อความนี้จารึกติดอยู่หน้าห้องประชุมรัฐสภา เพื่อเตือนใจว่า สมาชิกรัฐสภาว่าต้องฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ดังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแสดงพระราชประสงค์ครั้งสุดท้ายไว้ พรุ่งนี้ วันที่ 24 มิถุนายน 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะนำร่าง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมและร่างพ.ร.บ. ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมของกระทรวงพลังงานเข้าวาระเร่งด่วนเพื่อพิจารณาในวาระรับหลักการ อันเป็นไฟต์บังคับจากรัฐบาล ทั้งที่ประชาชนคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว
พ.ร.บ. ปิโตรเลียม 2514 ใช้ระบบสัมปทานเพราะในยุคนั้นประเทศยังขาดคนมีความรู้เทคโนโลยีด้านนี้ แต่ผู้ยกร่างกฎหมายปิโตรเลียมในอดีตได้กำหนดให้สัมปทานมีอายุไม่เกิน 50 ปี และต้องยุติการต่อสัมปทานในแปลงดังกล่าว น่าจะเป็นเพราะผู้ยกร่างกฎหมายในสมัยนั้น เชื่อมั่นว่า ภายใน 50 ปี เป็นเวลาเพียงพอที่คนไทยจะเรียนรู้เทคโนโลยี่ จนคนไทยสามารถนำแหล่งปิโตรเลียมที่ครบอายุสัมปทานกลับมาบริหารได้เองอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ต่อประเทศชาติ และประชาชน จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมเพื่อให้มีระบบอื่นมาแทนระบบสัมปทาน ดังที่ประชาชนเสนอระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิต เพื่อนำมารองรับแปลงสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ และที่จะเปิดให้เอกชนมาสำรวจและผลิตในแปลงใหม่
สัมปทาน 2 แหล่งใหญ่ของประเทศ คือ แหล่งเอราวัณ และ แหล่งบงกช กำลังจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565, 2566 ซึ่งตามกฎหมายปิโตรเลียมฉบับปัจจุบัน รัฐบาลไม่สามารถต่ออายุสัมปทานได้อีก โดย “กรรมสิทธิในปิโตรเลียม” และอุปกรณ์ในการผลิตต้องกลับมาเป็นของประเทศ เพื่อนำมาบริหารเอง ภาคประชาชนจึงเสนอร่างกฎหมายใหม่ให้ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต หรือระบบจ้างผลิตเข้าแทนระบบสัมปทานแบบเก่า และให้มีบรรษัทพลังงานแห่งชาติเป็นกลไกบริหารที่รองรับระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิต แต่ร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่กำลังเข้าสภาได้ออกแบบที่หมกเม็ด “รูปแบบสัมปทานจำแลง” ในนามของ “ระบบแบ่งปันผลประโยชน์” ที่ไม่ใช่ระบบแบ่งปันผลผลิตที่แท้จริง ดังที่เขียนไว้แบบลับลวงพราง
ที่ว่าลับลวงพรางเพราะการไม่มีหน่วยงานของรัฐที่ใช้อำนาจมหาชนเป็นผู้ดูแลและบริหารกรรมสิทธิในปิโตรเลียมอย่างที่มีการเสนอให้มี บรรษัทพลังงานแห่งชาตินั้น ก็เท่ากับว่า ระบบแบ่งปันผลผลิตและระบบจ้างผลิตที่บรรจุไว้ในร่างของกระทรวงพลังงาน จะไม่สามารถปฏิบัติตามระบบแบ่งปันผลผลิตอย่างสากลได้เป็นเพียงเขียนไว้เพื่อหลอกประชาชนว่าได้ทำตามคำเรียกร้องไว้แล้วใช่หรือไม่?
ร่างกฎหมายฉบับใหม่นอกจากไม่แก้ไขจุดบกพร่องในกฎหมายปัจจุบันแล้ว ยังมีความเลวร้ายกว่าฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอีกด้วย อย่างเช่น มีการเปลี่ยนแปลงหลักการให้สัมปทานเเก่เอกชนที่ในกฎหมายปัจจุบันกำหนดไว้ 3 ช่วง คือ ช่วงสำรวจ 9 ปี ช่วงผลิต 20 ปี และต่อได้อีกครั้งเป็นเวลา 10 ปี แต่ในร่างใหม่เขียนแบบประเคนให้เอกชนที่ได้สัมปทานรวดเดียว 39 ปี และหากรัฐบาลในอนาคตต้องการเปลี่ยนแปลงระบบสัมปทานเป็นระบบอื่น ก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะร่างกฎหมายยังเขียนล็อกเอาไว้ไม่ให้มีการยกเลิกสัมปทานหากจะยกเลิกสัมปทานกับเอกชนต้องไปใช้ระบบอนุญาโตตุลาการที่รัฐบาลไม่เคยชนะ มีแต่ต้องเสียค่าโง่มาตลอด
ทั้งที่ปัจจุบันมีงานศึกษาทางวิชาการว่าสัญญาทางปกครองไม่ควรใช้ระบบอนุญาโตตุลาการ ที่เป็นการสละสิทธิ์ของรัฐที่มีเหนือกว่าเอกชน เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินของแผ่นดิน และคุ้มครองประชาชน อีกทั้งยังเป็นการสละสิทธิ์ในการใช้ระบบศาลไทยของเราเองอีกด้วย
ร่างกฎหมายฉบับนี้ควรเรียกว่า “กฎหมายฉบับเปิดประตูเมือง” ให้เอกชนมาเขมือบทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยต่อไปอีก 39 ปี ซึ่งเป็นการสละอธิปไตยด้านพลังงานของประเทศให้เอกชน รัฐบาลไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาว่าข้อเสนอในร่างกฎหมายปิโตรเลียมของประชาชนมีข้อเสียตรงไหน อย่างไร แต่กลับใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจะผ่านกฎหมายที่มีความสำคัญต่ออนาคตของลูกหลาน โดยไม่ฟังเสียงทักท้วงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง
หากเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า รัฐบาลคณะนี้มีเจตจำนงมาเพื่อมุ่งรักษาผลประโยชน์ของบ้านเมืองอย่างแท้จริง มาเพื่อจะคืนความสุขให้ประชาชนดังที่พร่ำบอก หรือว่าแท้ที่จริงแล้วมาเพื่อปลดล็อกให้กับกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่มกันแน่?
ประชาชนจะยอมสละอธิปไตยด้านพลังงานให้กับกฎหมายฉบับเปิดประตูเมืองให้เอกชนมากินรวบทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยต่อไปหรือไม่ ?
“หากรัฐบาลและกลุ่มผลประโยชน์ด้านพลังงานปรามาสว่าเสียงคัดค้านเหล่านี้เป็นเพียงเสียงนกเสียงกา ไม่ใช่เสียงของประชาชนที่แท้จริง ก็ขอให้ทำประชามติในเรื่องนี้ดังอารยประเทศที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจในประเด็นที่เป็นเรื่องสำคัญของประเทศ”