xs
xsm
sm
md
lg

ตร.กรีซยิงแก๊สน้ำตาสลายเหตุวิวาทผู้อพยพค่ายอิโดเมนี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / MGR online - เจ้าหน้าที่ตำรวจของกรีซเปิดฉากยิงแก๊สน้ำตาในวันอังคาร (10 พ.ค.) เพื่อยุติเหตุทะเลาะวิวาทกันของเหล่าผู้อพยพที่อาศัยภายในค่ายพักชั่วคราวใกล้หมู่บ้านอิโดเมนี ทางภาคเหนือของประเทศ ซึ่งอยู่ประชิดติดกับพรมแดนของชาติเพื่อนบ้านอย่างมาเซโดเนีย

จนถึงขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดการทะเลาะวิวาทกันเองของเหล่าผู้อพยพ โดยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกรีซเปิดเผยว่ามีผู้อพยพราว 300 รายจากปากีสถานและอัฟกานิสถานเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ทางตำรวจของกรีซยังมิได้จับกุม หรือควบคุมตัวผู้อพยพไปสอบสวนแม้แต่รายเดียว

ค่ายอิโดเมนีซึ่งอยู่ติดพรมแดนมาเซโดเนียและขึ้นชื่อในเรื่องปัญหาสุขอนามัยที่ย่ำแย่เลวร้ายแห่งนี้ถือเป็นบ้านของผู้อพยพราว 10,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากซีเรีย อิรัก และอัฟกานิสถาน และเกือบทั้งหมดยืนกรานจะไม่ยอมย้ายไปยังค่ายผู้อพยพแห่งอื่นๆ ที่อยู่ลึกเข้าไปในเขตแดนของกรีซ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยานนิส มูซาลาส รัฐมนตรีกระทรวงผู้อพยพของกรีซ ออกมาให้สัมภาษณ์โดยระบุถึงความพยายามของรัฐบาลเอเธนส์ในการแก้ปัญหาที่หมักหมมภายในค่ายอิโดเมนีแห่งนี้ และว่า “ถึงเวลาแล้วที่ทุกอย่างต้องสิ้นสุดลง”

ที่ผ่านมารัฐบาลของหลายประเทศในยุโรปเริ่มแสดงความกังวลเพิ่มมากขึ้นต่อการเปิดประตูรับผู้อพยพเข้าประเทศ หลังเกิดเหตุก่อวินาศกรรม 6 จุดกลางกรุงปารีสของฝรั่งเศส รวมถึงเหตุโจมตีในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม ซึ่งมีการตรวจสอบพบหลักฐานว่าผู้ลงมือก่อเหตุโจมตีหลายรายเป็นสมาชิกกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) จากซีเรียที่แฝงตัวปะปนมากับคลื่นผู้อพยพซีเรียที่มุ่งหน้าเข้าสู่ยุโรป

ก่อนหน้านี้รัฐบาลเดนมาร์กประกาศงัดมาตรการเด็ดเรียกเก็บเงินจากบรรดาผู้อพยพลี้ภัยเพื่อแลกกับการพักอาศัยในประเทศระหว่างการยื่นเรื่องขอลี้ภัย

รายงานข่าวซึ่งอ้างมาร์คุส คนุธ โฆษกรัฐบาลเดนมาร์กระบุ รัฐสภาเดนมาร์กได้ผ่านร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยกฎหมายฉบับใหม่ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆ นี้ระบุว่า ผู้อพยพลี้ภัยทุกรายที่เดินทางเข้าสู่เดนมาร์ก โดยมีเงินสดติดตัวมากกว่า 10,000 โครเนอร์ (หรือราว 51,100 บาท) จะต้องนำเงินติดตัวส่วนที่เกิน 10,000 โครเนอร์มาจ่ายให้ทางการเดนมาร์ก เพื่อเป็นค่าที่พักและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ระหว่างรอกระบวนการขอลี้ภัยในประเทศ

นอกเหนือจากการออกกฎหมายใหม่เพื่อเรียกเก็บเงินจากบรรดาผู้ลี้ภัยที่ส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียแล้ว รัฐบาลโคเปนเฮเกนยังเตรียมผลักดันมาตรการอื่นๆ ที่ถูกกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนโจมตีว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้อพยพเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงการไม่อนุญาตให้ผู้อพยพชาวซีเรียอาศัยอยู่ในเดนมาร์กนานเกิน 1 ปี หากผู้อพยพรายนั้นๆ ไม่สามารถหาหลักฐานมายืนยันได้ว่าชีวิตของพวกตนตกอยู่ในอันตรายหากยังคงอาศัยอยู่ในแผ่นดินเกิดที่ซีเรีย ขณะที่ผู้อพยพที่เป็นคู่สมรสที่ยังไม่มีบุตรอาจจะต้องรอนานอย่างน้อย 3-5 ปีกว่าทางการเดนมาร์กจะพิจารณารับเข้ามาลี้ภัยในประเทศอย่างเป็นทางการ

ก่อนหน้านี้ ทางการเดนมาร์กประกาศบังคับใช้มาตรการควบคุมการผ่านเข้า-ออกตลอดแนวพรมแดนของตนด้านที่ติดต่อกับเยอรมนี หวังจำกัดการไหลบ่าของคลื่นผู้อพยพจากตะวันออกกลางโดยเฉพาะผู้อพยพจากซีเรียเข้าสู่ประเทศของตน ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยของลาร์ส ล็อกเก รัสมุสเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐบาลโคเปนเฮเกนมีขึ้นหลังจากที่รัฐบาลของชาติเพื่อนบ้านอย่างสวีเดนประกาศมาตรการควบคุมการใช้สะพานและอุโมงค์ทุกแห่งที่เชื่อมต่อกับเดนมาร์ก เพื่อจำกัดจำนวนผู้อพยพที่เดินทางเข้าสู่ประเทศของตนโดยใช้เดนมาร์กเป็นทางผ่าน

นอกเหนือจากการควบคุมการใช้สะพานและอุโมงค์อย่างเข้มงวดแล้ว ทางการสวีเดนยังประกาศให้บรรดาบริษัทผู้ให้บริการรถไฟ รถบัสโดยสาร และเรือเฟอร์รีทุกแห่งต้องทำการตรวจสอบภาพถ่ายของผู้โดยสารทุกรายที่เดินทางมาจากเดนมาร์ก ซึ่งถือเป็นความพยายามจำกัดการไหลทะลักเข้าสู่สวีเดนของเหล่าผู้อพยพหนีภัยสงครามจากตะวันออกกลาง ที่รัฐบาลสตอกโฮล์มออกมายอมรับก่อนหน้านี้ว่าตนเอง “รับมือไม่ไหว”

ลาร์ส ล็อกเก รัสมุสเซน นายกรัฐมนตรีของเดนมาร์ก ระบุว่า ความเคลื่อนไหวของชาติเพื่อนบ้านของตนในกลุ่ม “นอร์ดิก” ได้สร้างผลกระทบไม่ต่างจากการล้มของ “โดมิโน” ที่บีบให้เดนมาร์ก “ไม่มีทางเลือกอื่น” นอกเหนือจากต้องบังคับใช้มาตรการจำกัดการเข้าประเทศของบรรดาผู้อพยพอย่างเข้มงวดด้วยเช่นกัน

ที่ผ่านมาเดนมาร์กได้รับคำร้องขอลี้ภัยจากผู้อพยพแล้วกว่า 21,000 รายในปี 2015 แต่ยังน้อยกว่าชาติเพื่อนบ้านอย่างสวีเดนที่ได้รับคำร้องขอลี้ภัยจากผู้อพยพเกือบ 163,000 รายจากตะวันออกกลางในปีที่ผ่านมา

ด้านมาร์ติน เชเฟอร์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ออกมาแถลงยอมรับว่า เขตปลอดวีซ่า “เชงเกน” กำลังตกอยู่ในอันตรายอย่างยิ่งยวด และถูกทดสอบจากวิกฤตการไหลบ่าของผู้อพยพจากตะวันออกกลางเข้าสู่ยุโรป ตลอดจนถือเป็นความท้าทายที่สำคัญยิ่งต่อเสรีภาพในการอพยพ เคลื่อนย้ายของผู้คน และแรงงานในยุโรป




กำลังโหลดความคิดเห็น