xs
xsm
sm
md
lg

“อนันตพร” ชง สนช.ปรับ “ร่างปิโตรเลียม” หลัง ครม.ให้เพิ่มระบบสัญญา PSC-SC ด้านกรมเชื้อเพลิงฯ ดันต่อ “ผลิตปิโตรเลียมรอบ 21” ปีหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อนันตพร” แจงรัฐบาลเตรียมเสนอ “ร่าง กม.ปิโตรเลียมฉบับใหม่” ให้ สนช.ปรับแก้ หลัง ครม.ให้เพิ่มระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต-ระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต ด้านอธิบดีกรมเชื้อเพลิงดันต่อ “เปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21” กลางปีหน้า คาด สนช.ปรับแก้ 3 เดือน เล็งถกกฤษฎีกา ออกกฎหมายลูก-กฎกระทรวงควบคู่ ใน 9 เดือน ส่วน “บิ๊กตู่” ยันอย่ากังวลกฎหมายฉบับนี้มากนัก ยังไงก็ต้องปรับแก้ชั้น สนช. ย้ำจะช่วยเหลือคนจน และให้ความเป็นธรรม เผย ครม.ตีกลับ “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” เหตุรายละเอียดไม่ชัดเจน

วันนี้ (7 มิ.ย.) มีรายงานว่า ภายหลัง รับทราบหลักการและเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่... ) พ.ศ. ... คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง ไปหารือเรื่องการจัดตั้ง “บรรษัทพลังงานแห่งชาติ” มาใหม่ เพราะรายละเอียดไม่ชัดเจน แต่ให้เพิ่มระบบแบ่งปันผลิตในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...

ด้าน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.วันนี้มีมติรับทราบหลักการและเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่... ) พ.ศ. ... ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาต่อไป หลังจากเพิ่มทางเลือกให้รัฐบาลสามารถนำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract : PSC) มาใช้นอกเหนือจากระบบสัมปทาน

ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปด้านพลังงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และเพิ่มเติมหมวด 3/1 และ 3/2 เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐสามารถนำระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต (SC) มาใช้ โดยระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ได้นำหลักการของระบบ PSC ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Malaysia-Thailand Joint Development Area : MTJDA) มาปรับใช้

ดังนั้นจะทำให้ระบบบริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม มี 3 ระบบ คือ (1) ระบบสัมปทานปิโตรเลียม (2) ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และ (3) ระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต และเห็นควรให้การกำกับดูแลยังคงอยู่ภายใต้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียม ในส่วนของ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับระบบบริหารจัดการที่เพิ่มเติม

ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า คาดว่าจะสามารถเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 ได้ภายในกลางปีหน้า โดยขั้นตอนหลังจาก ครม.รับทราบร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งเพิ่มเติมระบบ PSC และระบบ SC แล้ว จะเสนอ สนช.ต่อไป คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 3 เดือน ขณะเดียวกัน จะหารือกับทางคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อทำกฎหมายลูกและกฎกระทรวงควบคู่ไปด้วย คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 9 เดือน

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ครม. ได้มีการพิจารณารับหลักการ และแต่กระทรวงและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตั้งข้อสังเกตไป เพราะในร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีความเห็นต่าง ครม. จึงส่งกลับกับไปยังสำนักงานกฤษฎีกาพิจารณา ก่อนส่งเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้งเพื่อที่จะส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาต่อไปใน 3 วาระ

“อย่าไปวิตกกังวลกับกฎหมายฉบับนี้มากนัก เนื่องจากกฎหมายมันเป็นแบบนี้ และเดี๋ยวก็ต้องมีการปรับแก้ที่ สนช. แต่ถ้ามามัวคิดและถามกันตรงนี้ ว่ามันไปไม่ได้ แล้วมันจะไปกันได้อย่างไร อย่างไรก็ตาม วันเดียวกันนี้ได้มีการสรุปว่ากฎหมายในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา ทำไปได้ 120 ฉบับ แต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา 2 ปี ทำไป 172 ฉบับ และขอให้ไปดูว่ากฎหมายที่ออกมานั้นมีความสำคัญอย่างไร เป็นการช่วยเหลือคนจน ให้ความเป็นธรรม” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่า ได้มีการสรุปหรือไม่ว่ารูปแบบจะเป็นลักษณะของการให้สัมปทาน หรือแบ่งผลประโยชน์ หรือจ้างสำรวจผลิต นายกฯ กล่าวว่า ก็มีทั้งหมดเพิ่มเติมอย่างที่บางกลุ่มต้องการ ก็อยู่ระหว่างพิจารณา และในฐานะที่เป็นสื่อมวลชนก็ต้องไปถามภาคประชาชน จากนั้นก็มาดูและวิเคราะห์ว่าทั้งหมดนั้นประเทศไทยมีความพร้อมแล้วหรือยัง ถ้าอยากให้ทำก็เสนอต่อ สนช.ต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น