xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองยกฟ้องขอเพิกถอนประกาศสำรวจปิโตรฯ ชี้ผู้รับสัมปทานทำผิดฟ้องอีกได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองยกฟ้องคดีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนขอเพิกถอนประกาศสำรวจปิโตรเลียมรอบ 21 เหตุ ก.พลังงานยกเลิกประกาศยื่นคำขอสิทธิสำรวจฯ ไปก่อนแล้ว แต่ระบุในขั้นสำรวจ ผลิต ผู้รับสัปทาน ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ชี้ปมข้อกำหนดส่วนแบ่งรายได้ เป็นการใช้อำนาจตามนโบายรัฐ ไมใช่การใช้อำนาจทางปกครอง ที่ศาลมีสิทธิจะพิจารณา ชี้ผู้ได้รับสัมปทาน ไม่ทำตาม กม.ฟ้องอีกได้

วันนี้ (8 มี.ค.) ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และประชาชนผู้ใช้พลังงานรวม 26 รายยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-3 กรณีขอให้เพิกถอนประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เรื่องเขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมบนบกและในทะเลอ่าวไทยที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมลงวันที่ 30 ก.ย. 57 และให้สั่งระงับการให้ความเห็นชอบ การให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 21 ตามประกาศกรมเชื้อเพลิงฯ

โดยศาลระบุเหตุผลว่า ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงการประกาศกำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจเพื่อให้เอกชนผู้สนใจลงทุนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้ทราบว่ารัฐจะเปิดให้มีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแนวเขตพื้นที่ใดเท่านั้น ขั้นตอนนี้จึงยังไม่ได้มีการดำเนนิการตามมาตรฐานในการค้นหาปิโตรเลียมโดยวิธีการทางธรณีวิทยา ธรณีฟิสิกส์ และการเจาะเพื่อทดสอบชั้นหินตามความหมายของคำว่า “สำรวจ” หรือเป็นการดำเนินการใดๆ เพื่อนำปิโตรเลียมจากแหล่งสะสมตามความหมายของคำว่า “ผลิต” ตาม พ.ร.บ.ปิโตรเลียมแต่อย่างใด อีกทั้งประกาศดังกล่าวก็เป็นเพียงการคาดว่า แนวเขตพื้นที่ที่ประกาศน่าจะมีศักยภาพปิโตรเลียมเท่านั้น จึงยังไม่อาจถือได้ว่าประกาศดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต วิถีชีวิต หรือส่วนได้เสียของชุมชนท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับสัมปทานย่อมต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ผู้ได้สัมปทานต้องเริ่มตั้งแต่การสำรวจปิโตรเลียมที่จะต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม การเก็บรักษา การขนส่งจนถึงขั้นตอนการจำหน่ายปิโตรเลียม

ทั้งนี้ ในการดำเนินการออกประกาศดังกล่าวของกรมเชื้อเพลิงฯ ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมอันหมายถึงกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด ดังนั้นการการออกประกาศดังกล่าวของกรมเชื้อเพลิงจึงเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ไม่มีกรณีต้องยกเลิกประกาศแต่อย่างใด

ส่วนการออกประกาศกระทรวงพลังงานเรื่อง การยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกและในทะเลอ่าวไทยลงวันที่ 21 ต.ค. 57 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าโครงการขุดเจาะ สำรวจและผลิตปิโตรเลียม เป็นโครงการผู้ได้รับสัมปทานต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งในขั้นตอนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เรื่องกำหนดประเภท และขาดของโครงการ หรือกิจการที่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฎิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเหคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 24 เม.ย. 55 แต่หลังผู้ถูกฟ้องที่ 3 ออกประกาศเรื่องเขตพื้นที่แปลงสำรวจฯ แล้ว ต่อมา ผู้ถูกฟ้องที่2 ได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่องยกเลิกประกาศการยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกและในทะเลยอ่าวไทย ลงวันที่ 21 ต.ค. 57 มีผลทำให้ประกาศการยื่นคำขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมสำหรับแปลงสำรวจบนบกและในทะเลอ่าวไทยครั้งที่ 21 สิ้นผลไป ประกอบกับผู้ถูกฟ้องที่ 1 ยืนยันว่ายังไม่ผู้ยื่นขอสิทธิสำรวจจึงยังไม่มีผู้ใดได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ที่จะต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม จึงไม่มีกรณีที่ศาลต้องวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากผู้ถูกฟ้องคดีได้ผู้รับสัมปทาน ครั้งที่ 21 แล้ว และผู้ฟ้องคดีพบว่า ผู้ถูกฟ้องคดี หรือผู้รับสัมปทาน ไม่ได้ดำเนินการให้ไปตามข้อกำหนด หลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมาย ก็สามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองได้อีก สำหรับที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ระบบแบ่งปันผลผลิตเป็นระบบที่ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าการใช้ระบบสัมปทาน นั้น การจะกำหนดว่าประเทศไทยจะใช้ระบบสัมปทาน หรือระบบแบ่งปันผลผลิตในการดำเนินการเกี่ยวกับปิโตรเลียมนั้น เป็นการกำหนดข้อตกลงส่วนแบ่งรายได้ระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการ รวมถึงการกำหนดสิทธิ และหน้าที่ของผู้รับสัมปทาน อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริหารจัดการปิโตรเลียม ซึ่งเป็นการใช้อำนาจทางการบริหารของหน่วยงานรัฐในทางนโยบาย ไม่ใช่การใช้อำนาจทางปกครองที่ศาลปกครองจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษามีคำสั่งได้

ทั้งนี้ ศาลยังได้ระบุถึงคำให้การของผู้ถูกฟ้องที่ 1 เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านพลังงานไทยที่จำเป็นต้องนำเข้าพลังงานโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ โดยศาลเห็นว่าการใช้พลังงานของประเทศเพื่อการพัฒนาประเทศไปในทางเศรษฐกิจและสังคม โดยการจัดหาพลังงานให้มีความพร้อมใช้อย่างเพียงพอทั่วถึงอย่างต่อเนื่อง ในราคาที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในภายภาคหน้าหากมีผู้ได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแล้ว การจะดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ได้รับสัมปทานจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบ กฎเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งจะสมบูรณ์ได้จะต้องให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการยอมรับโครงการหรือกิจการนั้นๆ ด้วย เพราะประชาชนในท้องถิ่นจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางบวก ทางลกจากโครงการหรือกิจการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้โครงการหรือกิจการเป็นไปอย่างสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะกับสิทธิบุคคล อันหมายถึงการตระหนักถึงผลประโยชน์ของรัฐอย่างสูงสุด ควบคู่กับการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในการดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งที่แวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพหรือคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น