xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานถก 25-26 พ.ย.จัดทัพภารกิจรับแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงพลังงานถก 25-26 พ.ย.นี้จัดทัพภารกิจรองรับแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติปี 2558-79 หวังกำหนดแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนในปี 2559 รับภารกิจสำคัญที่ต้องเพิ่มขึ้นคือการดูแลการบริหารจัดการถ่านหินอย่างครบวงจร




นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 25-26 พ.ย.นี้กระทรวงพลังงานจะจัดสัมมนาแผนปฏิบัติงาน (Action Plan) ปี 2559 ในการขับเคลื่อนแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติปี 2558-2579 ซึ่งตามแผนดังกล่าวจะต้องพิจารณาถึงการจัดโครงสร้างภารกิจการบริหารราชการบางส่วนให้สอดรับกับแผนดังกล่าว โดยคำนึงถึง 2 มิติ ได้แก่ ความชัดเจนของงานของแต่ละหน่วยงานและงานใหม่ที่จะต้องเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะถ่านหินที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะต้องดูแลให้ครบวงจร

“วันนั้นจะมีหน่วยงานภายใต้กระทรวงพลังงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาคคงจะต้องมาสรุปภารกิจว่าส่วนใดจะต้องเพิ่มเติมอย่างไรและให้เหมาะสมกับกำลังคนที่มีอยู่ ซึ่งขณะนี้เรามีข้อมูลในการปรับภารกิจพร้อมแล้วรอหารือเพื่อให้ตกผลึกอีกครั้งเท่านั้น ภายในสิ้นปีนี้เราก็คงจะชัดเจนเพื่อที่จะขับเคลื่อนกันในปี 2559” นายอารีพงศ์กล่าว

ทั้งนี้ แผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติประกอบด้วย 5 แผน ได้แก่ 1. แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP2015) 2. แผนอนุรักษ์พลังงาน (EE) มีสำนักงานนโยบายพลังงาน (สนพ.) ดูแล 3. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) มีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติดูแล 4. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) มีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ดูแล และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมัน (Oil Plan) มีกรมธุรกิจพลังงานดูแล

นายอารีพงศยังกล่าวถึงแผนอนุรักษ์พลังงานกระทรวงให้ความสำคัญต่อการประหยัดและพลังงานทดแทน โดยสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งปี 2554-2557 สนับสนุนงานวิจัย รวม 65 โครงการ โดยมี 6 โครงการได้รับรางวัลผลงานดีเด่น โดยเฉลี่ยจะใช้งบกองทุนอนุรักษ์พลังงานประมาณ 500 ล้านบาทต่อปีในการส่งเสริม และตั้งแต่ปี 2550 จนถึงขณะนี้สนับสนุนแล้วประมาณ 3,000 ล้านบาท ทำให้เกิดงานวิจัยและเชื่อมโยงไปยังภาคเอกชนในการต่อยอดนำไปใช้หลายรูปแบบ ช่วยประหยัดพลังงาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะเป็นหน่วยงานที่ต้องปรับภารกิจมากสุด เนื่องจากจะต้องเข้ามาดูแลทั้งในส่วนของการจัดการก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และการนำเข้าถ่านหิน ซึ่งจำเป็นจะต้องเพิ่มอัตรากำลังคนที่จะต้องขอกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) ที่ขณะนี้ยอมรับว่าไม่ง่ายนัก ขณะที่ สนพ.นั้นกำลังคนมีน้อยเมื่อเทียบกับภารกิจแต่ก็สามารถใช้แนวทางการจ้างที่ปรึกษาได้

โดย สนพ.มี 2 ส่วนที่จะมีการพิจารณากำหนดภารกิจให้ชัดเจน คือ การยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งหากดำเนินการก็จะต้องยุบสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) ลงเพื่อที่จะปรับเป็นโครงสร้างการบริหารใหม่ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปถึงแนวทางดังกล่าวในขณะนี้ รวมถึงการปรับแนวทางการบริหารกองทุนส่งเสริมและการอนุรักษ์พลังงานที่ให้แยกออกจาก สนพ.อย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น