ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ปีที่ 1 ในแผ่นดินใต้ร่มพระบารมีของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “คณะที่ปรึกษา” หรือที่ปวงชนชาวไทยรู้จักกันดีในชื่อ “คณะองคมนตรี” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ หลังจากที่ทรงตอบรับการกราบบังคมทูลเชิญเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2559 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ขึ้นเป็น “ประธานองคมนตรี” ในวันที่ 2 ธันวาคม 2559
จากนั้นในวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง “องคมนตรี” จำนวน 10 คน ประกอบด้วย 1.พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ 2. นายเกษม วัฒนชัย 3. นายพลากร สุวรรณรัฐ 4. นายอรรถนิติ ดิษฐอํานาจ 5. นายศุภชัย ภู่งาม 6. นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ 7. พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข 8. พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ 9. พลเอก ธีรชัย นาควานิช 10. พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา
ต่อมา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ.เปรมนำคณะองคมนตรีซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจำนวน 10 คนเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่
ในการนี้ พล.อ.เปรมได้นำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณว่า “ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน ทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”
โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชดำรัสกับคณะองคมนตรีที่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณว่า
“ขอบใจ และแสดงความยินดี ขอบใจที่มีน้ำใจช่วยงาน ที่ว่าคณะองคมนตรีในยุคนี้ ปัจจุบันนี้ก็จะได้รับการมอบภารกิจ ตลอดจนได้รับโอกาส หรือหน้าที่ ที่จะให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยกันดำรงความมั่นคงสถาบันของประเทศชาติ ตลอดจนแบ่งงานกันให้ละเอียดอีกครั้งว่าใคร ทำอะไร เรื่องทำงานก็จะให้ขอคำแนะนำ ตลอดจนปรับความสำคัญในการทำงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับสถาบันและประเทศชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดินมีเรื่องต่างๆ ที่จะมอบให้ก็มาก ดังที่ได้คุยกันนอกรอบแล้ว ขอขอบคุณและได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน มีความสุข ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ”
กล่าวสำหรับคณะองคมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า “เป็นคณะบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้ง ผู้ทรงคุณวุฒิเป็น ประธานองคมนตรี คนหนึ่งและ องคมนตรี อื่นอีกไม่เกิน 18 คน ความเห็นที่ถวายต่อพระมหากษัตริย์ ต้องเป็นพระราชกรณียกิจ ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษาเท่านั้น การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย โดย ประธานองคมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง องคมนตรี หรือให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง
“องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใด ๆ ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ และพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง”
ทั้งนี้ หากสืบค้นข้อมูลในประวัติศาสตร์ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีประธานองคมนตรีทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย 1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร 3.พลโท พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอดิศรอุดมศักดิ์ 4. เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) (ดำรงตำแหน่งเป็นการชั่วคราว) 5. หม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ 6.นายสัญญา ธรรมศักดิ์ และ 7.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งเป็นประธานองคมนตรีคนสุดท้ายในรัชสมัย
พล.อ.เปรม ดำรงตำแหน่งเป็นประธานองคมนตรีในแผ่นดินรัชกาลที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2541 กระทั่งสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 9 สำนักราชเลขาธิการทำเนียบองคมนตรีแจ้งประกาศให้พลเอกเปรมเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม-1 ธันวาคม พ.ศ.2559 กระทั่งวันที่ 1 ธันวาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงตอบรับขึ้นทรงราชย์ พล.อ.เปรม ในฐานะประธานองคมนตรีในรัชกาลที่ 9 ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานองคมนตรีคนแรกในรัชสมัยของพระองค์
ดังนั้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงถือเป็นประธานองคมนตรี 2 แผ่นดินใน 2 รัชกาลด้วยกันคือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10
พล.อ.เปรมเกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2463 จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า พ.ศ.2490 จากนั้นเข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญๆ ของบ้านเมืองมากมาย อาทิ แม่ทัพภาคที่ 2 ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย เป็นต้น
ส่วนองคมนตรีชุดสุดท้ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2531 ประกอบด้วย 1.พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ 2..นายเชาวน์ ณ ศีลวันต์ 3.นายธานินทร์ กรัยวิเชียร 4.พล.ร.ต.ม.ล.อัศนี ปราโมช 5.นายจุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 6.พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ 7.ม.ร.ว.เทพ เทวกุล 8.นายพลากร สุวรรณรัฐ 9.นายอำพล เสนาณรงค์ 10.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ 11.นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ 12.นายเกษม วัฒนชัย 13.นายศุภชัย ภู่งาม 14.นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ และ 15.พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข
ขณะที่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีองคมนตรีที่มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ เพิ่มเข้ามาใหม่ 3 คน ประกอบด้วย 1.พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ 2.พล.อ.ธีรชัย นาควานิช และ 3.พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา
เปิดปูมประวัติ 3 องคมนตรีใหม่
กล่าวสำหรับองคนมนตรีใหม่จำนวน 3 คนที่ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนั้น แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีเกียรติประวัติและเส้นทางการรับราชการทหารที่น่าสนใจและโดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง
เริ่มต้นจาก “บิ๊กหนุ่ย” พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ
ก่อนได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี พล.อ.ดาว์พงษ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ดาว์พงษ์เป็นบุตรของ พ.อ.(พิเศษ) ศิริ รัตนสุวรรณ และนางชม้อย รัตนสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2496 สมรสกับ พล.ท.หญิงสุพัตรา รัตนสุวรรณ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23(จปร.23) และโรงเรียนเสนาธิการทหารบก
ด้านชีวิตการรับราชการ พล.อ.ดาว์พงษ์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในกองทัพบก อาทิ ผบ.พล.1 รอ. รองแม่ทัพภาค 1 ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ รองเสนาธิการทหารบก เสนาธิการทหารบกและเกษียณราชการในเก้าอี้รองผู้บัญชาการทหารบก ถือเป็นนายทหารระดับมันสมองที่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ และทำงานคู่กันมาโดยตลอด
ที่สำคัญคือเป็นนายทหารสาย “วงศ์เทวัญ” เพียงคนเดียวที่ได้เลื่อนเข้าสู่ตำแหน่งหลักในกองทัพบกหรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “5 เสือ ทบ.” ท่ามกลางนายทหารสาย “บูรพาพยัคฆ์”
และภายหลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ดาว์พงษ์ ก้าวขึ้นเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
คนที่สอง “บิ๊กต๊อก” พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา
ก่อนได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรี พล.อ.ไพบูลย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการยุติธรรมในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่สำคัญคือประธานอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติหรือ ศอตช. ซึ่งมีผลงานมากมาย
พล.อ.ไพบูลย์ เป็นบุตรของนายลออ คุ้มฉายา และนางจันทร์ คุ้มฉายา เกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2498 ที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนอู่ทอง ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ จากนั้นจบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 15 (ตท.15) รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) และ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 26 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์
พล.อ.ไพบูลย์ถือเป็นนายทหารสาย “วงศ์เทวัญ” อีกคนหนึ่งที่เคยได้รับตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกมากมาย อาทิ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ แม่ทัพภาคที่ 1 ก่อนเข้าสู่ไลน์ 5 เสือ ทบ. ในเก้าอี้ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และเกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
คนที่สาม “บิ๊กหมู” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช
พล.อ.ธีรชัย เป็นบุตรของ พล.ต.ธวัชชัย นาควานิช และ ม.ร.ว.พิศวาส ดิศกุล นาควานิช เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2498 สมรสกับ พล.ต.หญิง บุญรักษา นาควานิช
จบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน รุ่นที่ 15 จากนั้นจบการศึกษาจาก โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 14 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25(จปร.25) รุ่นเดียวกับบิ๊กโด่ง - พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
พล.อ.ธีรชัยถือเป็นสนายทหารสาย “บูรพาพยัคฆ์” ที่ผ่านตำแหน่งสำคัญๆ มาแล้วมากมาย เช่น เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 1 รองแม่ทัพน้อยที่ 1 รองแม่ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพน้อยที่ 1 ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายส่งกำลังบำรุง รองเสนาธิการทหารบก แม่ทัพภาคที่ 1 จากนั้นเข้าสู่ไลน์ 5 เสือ ทบ.ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ก่อนที่ก้าวขึ้นไปเป็นผู้บัญชาการทหารบกในท้ายที่สุด
เปิดปูม 7 องคมนตรีเดิม
คนแรก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
พล.อ.สุรยุทธ์เกิดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2486 จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 12 เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ในบ้านเมืองมากมาย เช่น ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกรัฐมนตรีคนที่ 24
คนที่สอง นายเกษม วัฒนชัย
นายเกษมเกิดเมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2484 สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก วุฒิบัติผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคหัวใจและหลอดเลือด มหาวิทยาลัยชิกคาโก เคยดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กรรมการบริหารและเลขาธิการมูลนิธิอานันทมหิดล กรรมการโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ และดำรงตำแหน่งองคมนตรีตั้งแต่ปี 2544-ปัจจุบัน
คนที่สาม นายพลากร สุวรรณรัฐ
นายพลากรเกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2491 จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย M.A.I.A. Ohio University ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งสำคัญมากมาย ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายกิจการพิเศษ กรรมการธนาคารออมสิน ประธานกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และดำรงตำแหน่งองคมนตรีตั้งแต่ปี 2544-ปัจจุบัน
คนที่สี่ นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ
นายอรรถนิติเกิดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2487 สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(เกียรตินิยม) เนติบัณฑิตไทย ปริญญาโททางกฎหมาย มหาวิทยาลัยฮาร์วาด สหรัฐอเมริกา เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มากมาย ได้แก่ เลขานุการศาลฎีกา เลขาธิการส่งเสริมงานตุลาการ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลฎีกา กรรมการกฤษฎีกา และดำรงตำแหน่งองคมนตรีตั้งแต่ปี 2550-ปัจจุบัน
คนที่ห้า นายศุภชัย ภู่งาม
นายศุภชัยเกิดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2488 สำเร็จการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย ก่อนหน้านี้เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มากมาย ได้แก่ ผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลจังหวัดอุดรธานี หัวหน้าศาลประจำกระทรวง หัวหน้าศาลจังหวัดหนองคาย หัวหน้าศาลชลบุรี ผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ผู้พิพากษาศาลแพ่ง หัวหน้าคณะในศาลแพ่ง ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 3 รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ฝ่ายวิชาการ รองอธิบดีศาลแพ่ง ผู้พิพากษาศาลฎีกา รองอธิบดีศาลอุทธรณ์ภาค 3 หัวหน้าคณะในศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 และดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในปี 2547 ดำรงตำแหน่งองคมนตรีตั้งแต่ปี 2551-ปัจจุบัน
คนที่หก นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ
นายชาญชัยเกิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2489 จบการศึกษา ป.กศ.วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จ นิติศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ มากมาย เช่น ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแพ่งธนบุรี ประธานศาลฎีกาในปี 2548 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ และดำรงตำแหน่งองคมนตรีตั้งแต่ปี 2551-ปัจจุบัน
คนที่เจ็ด พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข
พล.อ.อ.ชลิตเกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2491 จบโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 6 โรงเรียนนายเรืออากาศรุ่น 13 ชีวิตการรับราชการเคยดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการกรมนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์โรงเรียนนายเรืออากาศ เจ้ากรมกำลังพลทหารอากาศ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศ รองเสนาธิการทหารอากาศฝ่ายกำลังพล ผู้บัญชาการกองบัญชาการยุทธทางการอากาศ และผู้บัญชาการทหารอากาศ และดำรงตำแหน่งองคมนตรีตั้งแต่ปี 2554-ปัจจุบัน
…...............